“ลูกบุญธรรม” สมเด็จพระพันวัสสา ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 5 มีพระองค์ใดบ้าง?

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระภรรยาเจ้า รัชกาลที่ 5 ลูกบุญธรรมสมเด็จพระพันวัสสา คำฝากฝังของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์
สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปี่ยมด้วยน้ำพระทัยและพระเมตตาอย่างยิ่ง หนึ่งในสิ่งที่พิสูจน์เรื่องนี้ได้ คือ การที่พระองค์ทรงอุ้มชูเลี้ยงดูพระราชโอรสและพระราชธิดา ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างดี และทรงรับเป็นลูกบุญธรรม แล้ว “ลูกบุญธรรมสมเด็จพระพันวัสสา” มีพระองค์ใดบ้าง?

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ลูกบุญธรรมสมเด็จพระพันวัสสา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท (ซ้าย) และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (ขวา)

ลูกบุญธรรมสมเด็จพระพันวัสสา

พระราชโอรสและพระราชธิดาบุญธรรมในสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีด้วยกัน 4 พระองค์

เมื่อเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่องในรัชกาลที่ 5 ถึงแก่อนิจกรรมในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2428 รัชกาลที่ 5 ทรงนำ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท (ต่อมาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท) และ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ (ต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร) มาพระราชทานให้สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่ขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงช่วยเลี้ยงดู

วันที่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่องถึงแก่อนิจกรรม รัชกาลที่ 5 ทรงอุ้มพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ที่เจริญพระชันษาได้ 12 วัน มาพระราชทานสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าด้วยพระองค์เอง พร้อมกับตรัสว่า “ให้มาเป็นลูกแม่กลาง”

ภาพถ่าย พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย กับ พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลา พระราชธิดา ฝาแฝด พี่สาว พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ลูกบุญธรรมสมเด็จพระพันวัสสา
พระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย กับ พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาส พระราชธิดาแฝดในรัชกาลที่ 5

ต่อมา เมื่อเจ้าจอมมารดาพร้อมในรัชกาลที่ 5 ถึงแก่อนิจกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2442 รัชกาลที่ 5 ก็โปรดให้ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย (ต่อมาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย) และ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร (ต่อมาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร) อยู่ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าด้วยอีก 2 พระองค์

อ่านเพิ่มเติม : “ประภาพรรณพิไลย-ประไพพรรณพิลาส” พระราชธิดา “ฝาแฝด” คู่เดียวในรัชกาลที่ 5

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเลี้ยงดูพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์ ในรัชกาลที่ 5 ด้วยความรักและความเอาพระทัยใส่ เช่นเดียวกับที่ทรงดูแลพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระองค์ตลอดพระชนมชีพ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ลูกบุญธรรมสมเด็จพระพันวัสสา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร (ภาพ : เฟซบุ๊ก วังวาริชเวสม์ https://www.facebook.com/varichaves/photos/a.577539408963380/578504615533526/?type=3)

เหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความรักของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่ทรงมีต่อ “ลูก” ของพระองค์ คือ เมื่อครั้งที่พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ทรงถูกจับกุมด้วยข้อหาเป็นกบฏ ในเหตุการณ์ “กบฏพระยาทรงสุรเดช” เมื่อ พ.ศ. 2481 ทรงถูกนำพระองค์ไปกักขัง และทรงถูกถอดออกจากฐานันดรศักดิ์

เมื่อสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ 76 พรรษา ทรงทราบเรื่อง ก็ได้ตรัสกับเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการ ว่า

“เธอกับฉันก็เห็นกันมาตั้งแต่ไหนๆ ครั้งนี้ทุกข์ของฉันเป็นที่สุด ขอให้เธอช่วยไปบอกจอมพลทีว่า อย่าจับกรมชัยนาทฯ เข้าห้องขัง มีผิดอะไรส่งมาให้ฉัน ฉันจะขังไว้ให้เอง ให้มาอยู่ที่บ้านนี้ ข้างห้องฉันนี่ เพราะฉันเลี้ยงของฉันมาตั้งแต่ ๑๒ วัน พระพุทธเจ้าหลวงอุ้มมาพระราชทานเอง ถ้ากรมชัยนาทฯ หนีหาย ฉันขอประกันด้วยทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่ฉันมีอยู่ ถ้าหนีหายฉันก็จะยอมเป็นคนขอทาน”

“ลูกบุญธรรมสมเด็จพระพันวัสสา” ทั้ง 4 พระองค์ มีเพียงพระองค์เดียวคือ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ที่ทรงมีพระชันษายืนยาวมาจนกระทั่งสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าสวรรคต เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 สิริพระชนมายุ 93 พรรษา

ส่วนพระองค์เจ้าวาปีบุษบากรสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2525 พระชันษา 91 ปี ยืนนานที่สุดในบรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์. “การเมืองในราชสำนักฝ่ายใน ในสมัยรัชกาลที่ 5”. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการจัดการปกครอง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ตุลาคม 2567