ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“ปราสาทเปือยน้อย” ปราสาทหินแห่งเมืองหมอแคน ร่องรอยวัฒนธรรมขอมบริเวณตอนกลางของภาคอีสาน
ปราสาทเปือยน้อย เรียกตามชื่อที่ตั้ง คือ อำเภอเปือยน้อย อำเภอเล็ก ๆ ของจังหวัดขอนแก่น พื้นที่ปราสาทอยู่ติดกับวัดธาตุกู่ทอง ด้านหน้าปราสาทหันไปทิศตะวันออก มีสระน้ำโบราณสระหนึ่งมีชื่อว่า “สระวงษ์” เป็นกลุ่มโบราณสถานสร้างด้วยศิลาแลง ศิลาทราย และอิฐ จำนวน 4 หลัง
มีกำแพงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าประกอบด้วยศิลาทรายและศิลาแลงขนาดกว้าง 28 เมตร ยาว 31.8 เมตร ล้อมรอบ มีสระน้ำขุดล้อมรอบชั้นนอกของกำแพงอีกชั้น แต่เว้นที่ว่างทิศตะวันออกและทิศตะวันตก สำหรับเป็นทางเข้าไปยังตัวปราสาท
อาคารทั้ง 4 หลังแบ่งเป็นปรางค์ประธาน 3 หลัง เรียงเป็นแถวหน้ากระดานอยู่บนฐานศิลาแลง หันหน้าไปทิศตะวันออก มีประตูเข้าเพียง 1 ประตู ส่วนอีก 3 ทิศก่อเป็นประตูหลอก ปรางค์องค์กลางใหญ่กว่าปรางค์บริวารด้านทิศเหนือ-ใต้เล็กน้อย

ปรางค์ประธานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมทั้ง 4 ด้าน มีขนาดกว้างและยาว 7.5 เมตร ผนังทั้งสี่ด้านก่อด้วยอิฐโดยใช้ยางไม้สอมีความหนาประมาณ 1 เมตร กรอบประตู เสาประดับผนัง เสาแปดเหลี่ยมประดับกรอบประตู ทับหลังและหน้าบันสลักด้วยศิลาทราย
ปรางค์บริวารที่ขนาบข้างปรางค์ประธานทั้งสองหลังนั้น มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมเช่นเดียวกัน แต่มีขนาดย่อมกว่า กว้าง-ยาว ด้านละ 6 เมตร ผนังทั้งสี่ด้านก่อด้วยอิฐไม่สอปูน กรอบประตูเสาประดับผนัง เสาแปดเหลี่ยมประดับกรอบประตู ทับหลัง หน้าบันสลักด้วยศิลาทรายเช่นกัน
ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปรางค์ทั้งสามองค์ มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งมักเรียกกันว่า “หอสมุด” หรือบรรณาลัย อยู่หนึ่งหลัง ก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก (หันเข้าหาปรางค์ทั้งสามองค์)บรรณาลัยนี้กว้าง 5 เมตร ยาว 11 เมตร ด้านหน้าทิศตะวันตกมีมุขยื่นยาวออกมา 2.5 เมตร
กรมศิลปากรเห็นความสำคัญของปราสาท จึงทำการบูรณะตั้งแต่ พ.ศ. 2535-2537 ด้วยวิธี“Anastylosis” คือขุดค้นหาหินเก่าแล้วรื้อปราสาทลง ก่อนประกอบขึ้นใหม่ดังเดิม ใช้งบประมาณเป็นจำนวนทั้งสิ้น 14,467,000 บาท
โบราณวัตถุแห่ง “ปราสาทเปือยน้อย”
มีการค้นพบโบราณวัตถุและศิลปวัตถุสำคัญคือ “ทับหลัง” และ “หน้าบัน” ซึ่งมีภาพสลักจำนวนหนึ่ง ทั้งมีส่วนช่วยกำหนดอายุได้ว่าปราสาทเปือยน้อยสร้างขึ้นในยุคสมัยใด ดังนี้
1) ทับหลังรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ อยู่เหนือกรอบประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกของปรางค์ประธาน ทำด้วยศิลาทรายสีแดง พระนารายณ์ประทับบนพระยาอนันตนาคราช มีดอกบัวผุดขึ้นมาจากพระนาภี (สะดือ) บนดอกบัวมีพระพรหมประทับนั่ง ปลายพระบาททั้งสองข้างของพระนารายณ์มีพระลักษมีชายานั่งคุกเข่า เหนือพระลักษมีสลักเป็นรูปเทวดากำลังเหาะ
ทับหลังชิ้นนี้เป็นข้อสังเกตสำคัญ เพราะโบราณสถานขอมในไทยส่วนใหญ่สร้างในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย (นับถือพระอิศวรเป็นใหญ่) ทั้งสิ้น ทับหลังของปรางค์องค์ประธานมักสลักเป็นเทวรูป “พระศิวนาฏราช” หรือพระอิศวรกำลังฟ้อนรำ ในกรณีของปราสาทเปือยน้อยจึงเป็นไปได้ว่าสร้างขึ้นใน ลัทธิไวษณพนิกาย ซึ่งนับถือพระนารายณ์เป็นใหญ่
ลัทธิไวษณพนิกายนั้นเริ่มแพร่หลายเป็นศาสนาสำคัญที่สุดของอาณาจักรขอมอยู่ระยะหนึ่ง ในสมัย “ศิลปะขอมแบบบาปวน” ลงมาตั้งแต่ พ.ศ. 1550 ดังจะเห็นว่า ปราสาทนครวัด ปราสาทขนาดใหญ่และสำคัญที่สุดในกัมพูชาก็สร้างขึ้นในลัทธิไวษณพนิกาย โดยศิลปะขอมแบบนครวัดมีอายุระหว่าง พ.ศ. 1650-1700

2) ทับหลังรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ อยู่เหนือกรอบประตูด้านทิศตะวันออกของปรางค์บริวารองค์ด้านเหนือ มี “หน้ากาล” สลักอยู่ติดขอบด้านล่างของทับหลัง หน้ากาลหรือเกียรติมุข (หน้าราหู) เป็นรูปหน้าสัตว์แต่ไม่มีริมฝีปากล่าง ถือกันว่าเป็นผู้เฝ้าเทวาลัย เพราะ “กาล” คือเวลา และเวลากลืนกินทุกสิ่ง หน้ากาลจึงมีแต่หน้าเพราะกลืนกินตัวเองไปด้วย
3) ทับหลังภาพเทวดา (หรือบุคคล) นั่งชันเข่าเหนือหน้ากาล รูปแบบนี้จัดเป็นศิลปะขอมแบบบาปวน (พ.ศ. 1550-1650) และพบทับหลังลักษณะดังกล่าวหลายแผ่นที่นี่ เช่น เหนือกรอบประตูปลอมทิศเหนือของปรางค์บริวารองค์ด้านเหนือ ทิศตะวันตกและทิศเหนือของปรางค์บริวารองค์ด้านใต้ ด้านทิศตะวันออกของซุ้มโคปุระด้านหลังของปราสาท ด้านทิศตะวันตกของซุ้มโคปุระด้านหน้าของตัวปราสาท และบนผนังด้านหลังบรรณาลัย
4) ทับหลังรูปคชลักษมีเหนือหน้ากาล อยู่เหนือกรอบประตูปลอมด้านทิศตะวันตกของปรางค์บริวารองค์ด้านเหนือ “คชลักษมี” คือพระลักษมีชายาพระนารายณ์ประทับนั่ง หัตถ์ 2 ข้างถือดอกบัวตูม มีช้าง 2 เชือกยืนชูงวงเข้าหากันอยู่แต่ละข้าง ความหมายคือผู้ใดเดินลอดเข้าไปก็จะประสบแต่ความสุข ความอุดมสมบูรณ์ แต่น่าประหลาดที่มาอยู่เหนือประตูหลอก
5) ทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ 3 เศียรเหนือหน้ากาล อยู่เหนือกรอบประตูทางเข้าทิศตะวันออกของปราสาท หรือปรางค์บริวารองค์ด้านใต้ โดยพระอินทร์ทรงเป็นผู้รักษาทิศตะวันออก
6) ทับหลังรูปพระกฤษณะประลองกำลังกับม้าเหนือหน้ากาล ตั้งอยู่เหนือกรอบประตูปลอมด้านตะวันออกของมุขด้านทิศเหนือของซุมโคปุระด้านหน้า พระกฤษณะเป็นปางอวตารปางลำดับที่ 8 ของพระนารายณ์ ซึ่งทับหลังที่สลักภาพเกี่ยวกับพระกฤษณะมักพบในเทวาลัยที่สร้างในลัทธิไวษณพนิกาย
7) ทับหลังรูปพญาครุฑนั่งชันเข่ากางปีกอยู่เหนือหน้ากาล ตั้งอยู่เหนือกรอบประตูทางเข้าหอสมุดหรือบรรณาลัยคือทางทิศตะวันตก จุดสังเกตคือเป็นพญาครุฑแบบมีปีกแต่ไม่มีแขน ซึ่งเป็นลักษณะของศิลปะขอมแบบบาปวนอีกเช่นกัน
8) ทับหลังรูปพญาหงส์ 2 ตัวกางปีกชูคอเข้าหากันอยู่เหนือหน้ากาล ตั้งอยู่เหนือกรอบประตูทางเข้าชั้นในของบรรณาลัย หงส์เป็นพาหนะของพระหรหมและพระวรุณ เทพเจ้าแห่งทิศตะวันตก ตามตำแหน่งทับหลังที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก
9) หน้าบันหรือหน้าจั่วศิลาสลักลวดลาย 17 แผ่น ส่วนใหญ่สลักเป็นภาพหน้ากาล มีรูปเทวดาภายในซุ้มเหนือหน้ากาล แต่เป็นหน้ากาลมีริมฝีปากล่าง (ปกติไม่มี) อยู่ปลายกรอบของหน้าบันและคายนาค 5 เศียรออกมา ทั้งมีแขนมาประกอบ ลักษณะดังกล่าวคือ “ศิลปะขอมแบบคลัง” (ราว พ.ศ. 1500-1550)
เราจึงอาจกล่าวได้ว่า ปราสาทเปือยน้อยสร้างขึ้นในศิลปะขอมแบบบาปวนตอนต้น ราว พ.ศ. 1550-1600 ในรัชกาลของ “พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1” แห่งอาณาจักรขอม ผู้ทรงแผ่อำนาจเข้ามายังพื้นที่ที่ปัจจุบันคือภาคกลางรวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
10) หน้าบันรูปพระอิศวรทรงโคนนทิเหนือกรอบประตูปลอม อยู่ทิศตะวันตกด้านหลังบรรณาลัย เป็นรูปพระอิศวรและนางบริวาร ด้านซ้ายเป็นรูปนางบริวารอีกคนถวายของแด่พระอุมาชายาพระอิศวร
น่าประหลาดที่รูปพระอิศวรทรงโคควรเป็นหน้าบันที่สำคัญของปราสาท แต่กลับมาอยู่ด้านหลังคือทิศตะวันออกของบรรณาลัยเสียอย่างนั้น และเคยเป็นข้อกังขาเกี่ยวกับการบูรณะปราสาทด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อพิสูจน์จากรอยต่อของหินที่ประกอบเป็นหน้าบันก็จะพบว่าเข้ากันได้พอดีจริง ๆ

11) แท่งหินสลักรูปเทวดา 9 องค์ เชื่อว่าเป็นเทพนพเคราะห์ 4 องค์ เทพผู้รักษาทิศ 5 องค์ เทพนพเคราะห์ ได้แก่ พระอาทิตย์ทรงรถม้า พระจันทร์ประทับบนแท่น พระราหูครึ่งองค์ และพระเกตุทรงสิงห์ ส่วนเทพผู้รักษาทิศ 5 องค์ มีพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ตรงกลาง ส่วนอีก 4 องค์อาจเปลี่ยนแปลงได้ ต้องสังเกตจากพาหนะเป็นสำคัญ
จารึกบนกรอบประตูของปราสาทประธานองค์กลางของปราสาทยังพบการสลักเป็นอักษรขอม ภาษาสันสกฤต มีอยู่ 4 บรรทัด กล่าวถึงชื่อ พระมุนีสุวันตยะ และ พระฤษีไวศัมปายนะ
กล่าวโดยสรุป ปราสาทเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น เป็นเทวาลัยที่รับอิทธิพลจากศิลปะขอมหรือเขมรโบราณแบบบาปวน ก่อสร้าวขึ้นราวระหว่าง พ.ศ.1550-1650 และสร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไวษณพนิกาย (หากการบูรณะถูกต้อง)
อ่านเพิ่มเติม :
- อดีตของอีสาน ยุคก่อนประวัติศาสตร์ แห้งแล้ง รกร้าง หรือชุมชนหนาแน่น ?
- พิมาย เมืองพุทธ-มหายาน เก่าแก่สุดในลุ่มน้ำโขง ต้นแบบ “ปราสาทนครวัด”
- ปราสาทตาเมือนธม จ. สุรินทร์ อายุเกือบ 1,000 ปี แหล่งอุดมจารึกแห่งอีสานใต้
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : เนื้อหานี้เก็บความจาก “ของดีในจังหวัดขอนแก่น” เขียนโดย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2540
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กันยายน 2567