ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ปราสาทตาเมือนธม ตั้งอยู่ใน ต. ตาเมียง อ. พนมดงรัก จ. สุรินทร์ เป็นปราสาทที่โดดเด่นอีกแห่งหนึ่งในอีสานใต้ เพราะถ้าดูทำเลแล้วอยู่บริเวณ “ช่องตาเมือน” ซึ่งเป็นช่องเขาสำคัญของเทือกเขาพนมดงรัก ผู้คนในอดีตใช้เป็นช่องทางไปมาหาสู่กัน เชื่อมศูนย์กลางการเมืองการปกครองระหว่าง “เมืองพระนคร” ในพื้นที่กัมพูชา กับชุมชนใหญ่ๆ หลายแห่งที่ปัจจุบันอยู่ในประเทศไทย เช่น ชุมชนบริเวณเขาพนมรุ้ง อ. เฉลิมพระเกียรติ จ. บุรีรัมย์ ชุมชนเมืองพิมาย อ. พิมาย จ. นครราชสีมา เป็นต้น ที่สำคัญ ปราสาทนี้ยังเป็นแหล่งที่พบจารึกหลายหลัก ที่บ่งบอกถึงความเชื่อของผู้คนในแถบนี้ได้เป็นอย่างดี
“ปราสาทตาเมือนธม” ศาสนสถานฮินดู
ปราสาทนี้เป็นศาสนสถานฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 หรือเกือบ 1,000 ปีมาแล้ว
รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่ารายละเอียดของปราสาทนี้ว่า
ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศใต้ องค์ประกอบที่พบในปัจจุบันประกอบด้วย “ปราสาทประธาน” ซึ่งมีมณฑปต่อยื่นออกมาทางด้านหน้า
“ปราสาทบริวาร” 2 องค์ ตั้งอยู่ทางมุมด้านหลังของปราสาทประธาน มีอาคารรูปสี่เหลี่ยม ร่องรองหลุมเสา และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ กระจายตัวอยู่โดยรอบ ทั้งหมดปิดล้อมด้วยแนวระเบียงคด
นอกแนวระเบียงคดทางด้านทิศใต้ มีบันไดทางขึ้นสู่ศาสนสถาน แม้ว่าโครงสร้างจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ลวดลายสลักมีสมบูรณ์แต่เพียงบริเวณห้องประดิษฐานรูปเคารพประธานเท่านั้น ส่วนอื่นๆ ของปราสาทยังสลักไม่แล้วเสร็จ อาจเป็นไปได้ว่าช่างสลักมีจำนวนน้อย และมีความจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งจึงต้องละทิ้งงานไป
ที่นี่ยังมี “สวยัมภูลึงค์” หรือหินธรรมชาติที่มีรูปลักษณ์คล้ายอวัยวะเพศชาย ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ถือว่าเกิดขึ้นจากพระประสงค์ของพระศิวะ ทำให้ลึงค์ประเภทนี้มีความศักดิ์สิทธิ์และได้รับการนับถือบูชาเป็นอย่างยิ่ง
อ. รุ่งโรจน์ เล่าว่า สวยัมภูลึงค์ของปราสาทแห่งนี้ ประดิษฐานอยู่ภายในห้องครรภคฤหะของปราสาทประธาน มีลักษณะเป็นแท่งหินธรรมชาติที่ถูกขัดแต่งให้อยู่ในผังกลม เจตนาให้เป็นรูปลักษณ์ของปลายลึงค์ เชื่อมต่อเป็นชิ้นเดียวกันกับพื้นห้อง (หรือโยนี) ซึ่งพื้นห้องดังกล่าวก็คือพื้นหินธรรมชาติที่รองรับตัวปราสาทนั่นเอง
จารึกที่พบจากปราสาทแห่งนี้ เอ่ยถึงการถวายที่ดินและสิ่งของแก่พระกัมรเตงชคัตศิวบาท อาจเป็นไปได้ว่า พระนามดังกล่าวเป็นพระนามของสวยัมภูลึงค์องค์นี้
“แหล่งจารึก” อีสานใต้
ที่นี่เป็นแหล่งค้นพบศิลาจารึกจำนวนมาก ซึ่ง อ. รุ่งโรจน์ เล่าถึงเรื่องนี้ไว้ว่า จารึกที่พบในบริเวณดังกล่าว มีเช่น จารึกปราสาทตาเมือนธม 1 เขียนอยู่บนพื้นหินธรรมชาติภายในลานปราสาทด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต กำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 เนื้อความเกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์และการบูชาพระศิวะ ทำให้เชื่อได้ว่า ตั้งแต่ระยะเวลานั้นพื้นที่แห่งนี้คงถูกใช้เป็นเทวสถานของพระศิวะแล้ว
จารึกปราสาทตาเมือนธม 9 ระบุมหาศักราชตรงกับ พ.ศ. 1421 จารึกขึ้นเพื่อชี้แจงเรื่องที่ดินของศาสนสถานตามทิศต่างๆ ที่มีอยู่ในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 3 (พ.ศ. 1393-1420) และภายหลังจากที่พระองค์สวรรคตไปแล้ว ซึ่งที่ดินเหล่านี้คงมีทั้งที่อยู่ในไทยและกัมพูชาในปัจจุบัน
จารึกปราสาทตาเมือนธม 4 ระบุมหาศักราชตรงกับ พ.ศ. 1556 รัชกาลพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1553-93) เนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวถึงการถวายที่ดินและปักหลักเขตที่ดินของศาสนสถานแห่งนี้ รวมทั้งการถวายสิ่งของเพื่อสักการบูชาเทพเจ้า
จารึกปราสาทตาเมือนธม 5 ระบุมหาศักราชตรงกับ พ.ศ. 1563 รัชกาลพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 เนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงการถวายสิ่งของและข้าทาสให้เทพเจ้า
“ข้อมูลที่ได้จากจารึกตามที่กล่าวถึงไปข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของปราสาทตาเมือนธมในฐานะศูนย์กลางของความเชื่อถือศรัทธาของผู้คนได้เป็นอย่างดี ซึ่งนอกเหนือไปจากความสำคัญต่อชุมชนโดยรอบแล้ว น่าจะมีความสำคัญต่อส่วนกลางของอาณาจักรด้วย เพราะจารึกข้างต้นกล่าวถึงกษัตริย์พระองค์ต่างๆ ถวายสิ่งของหรือที่ดินแก่ศาสนสถานอยู่เนืองๆ” อ. รุ่งโรจน์ บอก
อ่านเพิ่มเติม :
- อาลัย “ปิแอร์ ปิชาร์ด์” นักบูรณะปราสาทหินสำคัญในไทย จากไปด้วยวัย 88 ปี
- เหตุใด อ็องรี มูโอต์ จึงกลายเป็นผู้ค้นพบปราสาทนครวัด
- แกะรอยประติมากรรมรูปสตรี “พระศรีชัยราชเทวี” มเหสีพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พบที่ปราสาทพิมาย
- ประติมากรรมสำริด “ปราสาทสระกำแพงใหญ่” จังหวัดศรีสะเกษ คู่แฝด Golden Boy?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. “ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ปราสาทตาเมือนธมและปราสาทตาควาย”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือนมิถุนายน 2554.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2567