ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระศรีชัยราชเทวี เป็นพระมเหสีองค์แรกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระนางเป็นบุตรีของพราหมณ์สำคัญในราชสำนัก มีพระนางศรีอินทรเทวีเป็นพระเชษฐภคินี ผู้สอนให้ทรงเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา
เมื่อพระนางศรีชัยราชเทวีสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงอภิเษกและสถาปนาพระนางศรีอินทรเทวีขึ้นเป็นพระมเหสี
ด้วยระลึกในพระขนิษฐา พระนางศรีอินทรเทวีจึงได้นิพนธ์จารึกปราสาทพิมานอากาศ เพื่อสรรเสริญ บอกเล่าพระราชกรณียกิจ และถ่ายทอดความงดงามของพระนางผู้เป็นพระขนิษฐา และยังได้กล่าวถึงรูปปั้นของพระนางศรีชัยราชเทวีพร้อมด้วยรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่มีจำนวนมากมายอีกด้วย
สำรวจปราสาทหินพิมาย
จากบันทึกและภาพถ่ายเก่า ปรากฏประติมากรรมรูปบุรุษและสตรี สันนิษฐานว่าเป็นรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และพระนางศรีชัยราชเทวี สอดคล้องกับที่ระบุในจารึกปราสาทพิมานอากาศ
หลักฐานดังกล่าวปรากฏมาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งชาวต่างชาติได้เริ่มเดินทางสำรวจทำแผนที่แผนผังในเมืองพิมายและปราสาทพิมาย โดย เอเตียน เอโมนิเยร์ (Étienne Aymonier) ใน พ.ศ. 2426 ที่เดินทางเข้ามาพร้อมคณะสำรวจชาวฝรั่งเศส เพื่อสำรวจโบราณสถานในที่ราบสูงโคราช
เขากล่าวถึงอาคารที่เรียกว่า “หอนางอรพิน” ที่ภายในพบประติมากรรมสตรีและพระพุทธรูปที่พระเศียรหักหาย
ถัดมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2427 เจมส์ ฟิตซรอย แมคคาร์ธี (James Fitzroy McCarthy) ผู้อำนวยการคณะสำรวจของรัฐบาลอังกฤษ ได้เดินทางไปยังปราสาทพิมาย และบันทึกไว้ว่า [1]
“มี ‘หอสูง’ โดดเดี่ยวอยู่มุมละ 1 หอ (ปรางค์พรหมทัตและปรางค์หินแดง) ข้าพเจ้าได้เข้าไปชมหอหนึ่งและพบว่าพื้นล่างถูกขุดขึ้นมา บางทีอาจจะขุดเพื่อค้นหาทรัพย์สมบัติมีค่า รูปเคารพหินล้มคว่ำแตกหักจนเสียรูปทรง รูปพระพรหมขนาดใหญ่ (รูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7) ในท่าประทับนั่งล้มคว่ำกระเด็นอยู่ทั่วไป
ส่วนพระเศียรซึ่งพระเมาลีถูกมัดเป็นมวยไว้ด้านหลังก็หล่นกระเด็นอยู่บนพื้น รูปเคารพมีลักษณะเรียบสมบูรณ์ แต่บนแท่นฐานมีร่องรอยการแกะสลักซึ่งแลดูยังใหม่ราวกับเพิ่งแกะเมื่อเร็ว ๆ นี้ ยังมีรูปปั้นอื่น ๆ อีก แต่ที่น่าสนใจมากที่สุดคือรูปปั้นหญิงสาวกำลังนั่งคุกเข่า” [2]
แกะรอยประติมากรรมสตรี “พระศรีชัยราชเทวี”
พ.ศ. 2462 อีริค ไซเดนฟาเดน (Erik Seidenfaden) นักชาติพันธุ์วิทยาชาวเดนมาร์ก เดินทางไปยังเมืองพิมาย และเขียนรายงานเผยแพร่ในวารสารสยามสมาคม ใน พ.ศ. 2463 เขาบรรยายถึงประติมากรรมรูปสตรีไว้ว่า
“…ทางขวามือของรูปบุรุษหินสลักนี้จะเห็นมีรูปสตรีหินสลักกำลังนั่งอยู่ในท่าคุกเข่าตั้งอยู่ การสลักรูปนี้ก็นับว่าสวยงามดีมากเหมือนกัน แต่ตอนบนศีรษะ คอได้หักเสียแล้ว ที่เอามาสวมแทนไว้นั้นไม่ใช่ของเดิมมันออกจะโตกว่าส่วนเป็นจริงไป ชาวพลเมืองในพิมายเชื่อว่ารูปบุรุษสตรีหินสลักคู่นี้คือรูปท้าวพรหมทัต เจ้าเมืองพิมาย และนางอรพิน”
ในภาพถ่ายจากบันทึกของอีริค ไซเดนฟาเดน ซึ่งถ่ายโดย อาร์ เบลฮ์อมม์ และ เจ. เจ. แมคเบซ์ ปรากฏภาพพระศรีชัยราชเทวีภายในปรางค์พรหมทัต ปราสาทพิมาย ประดิษฐานอยู่บนแท่นฐานซ้อนกัน 2 ชั้น ช่วงบั้นพระองค์มีรอยแตกหักและได้นำมาต่อไว้ ส่วนพระเศียรที่แตกหักและนำมาต่อไว้นั้น ตามบันทึกระบุไว้ว่า ไม่ใช่ของเดิม และมันออกจะโตกว่าส่วนเป็นจริงไป
นอกจากภาพชุดนี้แล้ว ยังปรากฏภาพถ่ายอีกภาพของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งเป็นภาพจากหอสมุดพระวชิรญาณ รหัสภาพ ภ 002 หวญ 56-9 [2] แสดงให้เห็นเศียรของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 วางอยู่คู่เศียรประติมากรรมหันข้างอีกรูปหนึ่ง แสดงว่าอาจเป็นช่วงเวลาก่อนที่จะต่อเศียรเข้ากับองค์ของประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ส่วนด้านข้างของทั้งสองเศียร เป็นประติมากรรมรูปสตรี ที่สันนิษฐานว่าเป็นรูปพระนางศรีชัยราชเทวี ในสภาพแสดงให้เห็นว่าส่วนเศียรและบริเวณบั้นพระองค์แตกหัก
จากรูปถ่ายนี้แสดงให้เห็นว่า เคยมีการเคลื่อนย้ายรูปของทั้งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และพระนางศรีชัยราชเทวี ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการขุดหาทรัพย์สมบัติมีค่า ตามที่เจมส์ ฟิตซรอย แมคคาร์ธี บันทึกไว้
อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา ได้พบส่วนเศียรของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่วังของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่พระองค์หนึ่ง ทรงจำได้และขอรับคืน
จากนั้นทรงมีรับสั่งให้นำรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มาต่อเศียรที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร รวมถึงให้ส่งท่อนองค์ของนางอรพิน หรือประติมากรรมรูปสนองพระนางศรีชัยราชเทวี ไปเก็บรักษาไว้พร้อมกันด้วย [3]
ภาพถ่ายของรูปสนองพระศรีชัยราชเทวีปรากฏอีกครั้งใน พ.ศ. 2496 บริเวณระเบียงของหมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งในภาพปรากฏเฉพาะท่อนองค์ด้านบนเท่านั้น
ในจดหมายเหตุการณ์เสด็จตรวจโบราณวัตถุสถาน มณฑลนครราชสีมา ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ. 2472 ไม่ปรากฏการกล่าวถึงรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และพระนางศรีชัยราชเทวี (ในบันทึกครั้งก่อนทรงเรียกว่า รูปท้าวพรหมทัตและนางอรพิน)
ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่า ส่วนท่อนล่างตั้งแต่บั้นพระองค์ลงมา ซึ่งอยู่ในท่าคุกพระชานุนั้นอาจสูญหายไปในช่วงหลัง พ.ศ. 2462
เรื่องและภาพประกอบ : นัยนา มั่นปาน ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย
อ่านเพิ่มเติม :
- ใครคือ “Golden Boy” ? รู้จักพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ต้นวงศ์มหิธรปุระแห่งพิมาย
- พิมาย เมืองพุทธ-มหายาน เก่าแก่สุดในลุ่มน้ำโขง ต้นแบบ “ปราสาทนครวัด”
- รู้ได้อย่างไร “Golden Boy” เป็นของไทย ไม่ใช่เขมร?
- จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดที่มีอำเภอมากที่สุดในประเทศไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เชิงอรรถ :
[1] เจมส์ แมคคาร์ธี, บันทึกการเดินทางสำรวจประเทศสยาม, แปลจาก Surveying and Exploring in Siam, แปลโดย พรพรรณ ทองตัน (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2562), 47-49.
[2] รูปปั้นหญิงสาวกำลังนั่งคุกเข่า ที่เจมส์ ฟิตซรอย แมคคาร์ธี กล่าวถึง คงเป็นประติมากรรมรูปสตรีที่พบในปรางค์พรหมทัต ปัจจุบันสันนิษฐานว่าเป็นประติมากรรมพระนางชัยราชเทวี
[3] กรมศิลปากร, นำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา (ม.ป.ท. : 2502), 60.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 สิงหาคม 2567