จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดที่มีอำเภอมากที่สุดในประเทศไทย

กำแพงเมือง และ ประตูชุมพล นครราชสีมา
กำแพงเมืองและประตูชุมพล เมืองนครราชสีมา เมื่อคราวสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจเมืองนครราชสีมา 22 มกราคม 2472 (ภาพเก่าจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“นครราชสีมา” จังหวัดที่มี “อำเภอ” มากที่สุดในประเทศไทย

เติม วิภาคย์พจนกิจ เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์อีสาน” ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2513 บันทึกเกี่ยวกับ จ. นครราชสีมา หรือ โคราช ว่า “ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามี 18 อำเภอ คือ 1. อำเภอเมืองนครราชสีมา 2. พิมาย 3. คง 4. ปักธงไชย 5. โชคชัย 6. สีคิ้ว 7. โนนสูง 8. สูงเนิน 9. บัวใหญ่ 10. ด่านขุนทด 11. โนนไทย 12. ครบุรี 13. จักรราช 14. ห้วยแถลง 15. ปากช่อง 16. ชุมพวง 17. ประทาย 18. ขามทะเลสอ มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 19,590 ตารางกิโลเมตร มีพลเมือง 1,241,310 คน”[1]

ไม่ทราบเวลานั้น โคราชจะเป็นจังหวัดที่มีอำเภอมากที่สุดของไทยหรือไม่ แต่ดูจากจำนวน 18 อำเภอที่มี อย่างน้อยคงติด 1 ใน10 จังหวัดที่มีอำเภอมากที่สุด

เกือบ 30 ปีต่อมา ใน พ.ศ. 2542 ที่รัฐบาลจัดทำหนังสือสารานุกรมจังหวัดต่างๆ ของประเทศ ในส่วนจังหวัดนครราชสีมาระบุว่า นอกจากจะมีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ ด้วยขนาดพื้นที่ 20,493.96 ตารางกิโลเมตร ยังเป็นจังหวัดที่มี “อำเภอ” มากที่สุดของประเทศคือ 32 อำเภอ อีกด้วย [2]

ตรงกับเว็บไซต์ของจังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน ที่ให้ข้อมูลว่า จ. นครราชสีมา มี 32 อำเภอ โดยเนื้อหาของแต่ละอำเภอ พอสรุปได้สังเขป คือ [3]

1. อำเภอเมืองนครราชสีมา เป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่ง ที่ตั้งเดิมของเมืองอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในท้องที่อำเภอสูงเนิน ห่างจากตัวเมืองปัจจุบันประมาณ 31 กม. มี 23 ตำบล ได้แก่ โคกกรวด, โคกสูง, จอหอ, ไชยมงคล, ตลาด, บ้านเกาะ, บ้านโพธิ์, ปรุใหญ่, พลกรัง, พะเนา, พุดซา, โพธิ์กลาง, มะเริง, สี่มุม, สุรนารี, หนองกระทุ่ม, หนองไข่น้ำ, หนองจะบก, หนองบัวศาลา, หนองไผ่ล้อม, หนองระเวียง, หมื่นไวย และหัวทะเล

2. อำเภอเสิงสาง ตำนานพื้นบ้านของชาวอีสานว่าท้าวปาจิตเจ้าเมืองกัมพูชา ออกตามหานางอรพิมที่่เมืองพิมาย เมื่อได้พบกันที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งตอนใกล้สว่าง ดวงอาทิตย์กำลังจะขึ้น จึงเรียกที่นั่นว่า “บ้านเสิงสาง” และเป็นชื่ออำเภอในปัจจุบัน มี 6 ตำบล ได้แก่ กุดโบสถ์, โนนสมบูรณ์, บ้านราษฎร์, เสิงสาง, สระตะเคียน และสุขไพบูลย์

3. อำเภอบ้านเหลื่อม คำบอกเล่าจากผู้สูงอายุว่า เดิมมีต้นมะเหลื่อมอายุกว่า 100 ปี อยู่กลางหมู่บ้าน จึงเรียก “บ้านมะเหลื่อม” ต่อมากร่อนเสียงเป็น “บ้านเหลื่อม” มี 4 ตำบล ได้แก่ โคกกระเบื้อง, ช่อระกา, บ้านเหลื่อม และวังโพธิ์

4. อำเภอโชคชัย เดิมเป็นด่านเรียกว่า “ด่านกระโทก” ส่วนชื่อ “โชคชัย” ทางการเปลี่ยนเพื่อระลึกถึงครั้งหนึ่งพระเจ้าตากสินมหาราชนำทัพต่อสู้กับหมื่นเทพพิพิธ มี 10 ตำบล ได้แก่ กระโทก, โชคชัย, ด่านเกวียน, ท่าจะหลุง, ท่าลาดขาว, ทุ่งอรุณ, ท่าอ่าง, ท่าเยี่่ยม, พลับพลา และละลมใหม่พัฒนา

5. อำเภอโนนไทย เดิมมีฐานะเป็นแขวงชื่่อ “แขวงสันเทียะ” เป็นภาษาเขมร แปลว่า ที่่เติมเกลือสินเธาว์ ในอดีตชาวเขมรที่อยู่บริเวณนี้ต้มเกลือสินเธาว์ขาย ต่อมาเมื่อจัดตั้งอำเภอแล้วได้ตั้งชื่อเป็น “อำเภอโนนลาว” แต่เมื่ออิงตามแนวคิดรัฐนิยม จึงเปลี่ยนชื่อป็นอำเภอโนนไทยมาจนถึงปัจจุบัน มี 10 ตำบล ได้แก่ กำปัง, ค้างพลู, ด่านจาก, ถนนโพธิ์, โนนไทย, บัลลังก์, บ้านวัง, มะค่า, สายออ และสำโรง

6. อำเภอขามสะแกแสง แต่เดิมตำบลขามสะแกแสงอยู่ในเขตอำเภอโนนสูง ต่อมาจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อ พ.ศ. 2511 และยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2516 มี 7 ตำบล ได้แก่ ขามสะแกแสง, ชีวึก, โนนเมือง, พะงาด, เมืองเกษตร, เมืองนาท และหนองหัวฟาน

7. อำเภอประทาย เดิมชื่อ “อำเภอดงเค็ง” ด้วยมีต้นเค็งขึ้นอยู่มาก ส่วนชื่อประทายนั้นเป็นภาษาเขมร หมายถึง ป้อม ค่ายที่พักแรม เล่ากันว่า กองทัพของพระเจ้าชัยวรรมันที่ 2 เคยมาตั้งค่ายพักแรมที่นี่ มี 13 ตำบล ได้แก่ กระทุ่มราย, โคกกลาง, ดอนมัน, ตลาดไทร, ทุ่งสว่าง, นางรำ, โนนเพ็ด, ประทาย, เมืองโดน, วังไม้แดง, หันห้วยทราย, หนองค่าย และหนองพลวง

8. อำเภอพิมาย ศิลาจารึกสมัยพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 1 เรียกบริเวณนี้ว่า “ภีระปุระ-นครแห่งความเข้มแข็ง” ส่วนชื่่อ “พิมาย” มาจากคำว่า “วิมาย” หรือ “วิมายปุระ” ภายหลังขอมเสื่่อมอำนาจ ได้เปลี่่ยนกลับมาชื่อเมืองพิมาน เพราะมีต้นพิมานขึ้นอยู่มาก เมื่อมีหมู่บ้านตั้งขึ้นจึงเรียกชื่อว่า “บ้านพิมาน” ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น “พิมาย” มี 12 ตำบล กระชอน, กระเบื้องใหญ่, ชีวาน, ดงใหญ่, ท่าหลวง, ธารละหลอด, นิคมสร้างตนเอง, ในเมือง, โบสถ์, รังกาใหญ่, สัมฤทธิ์ และหนองระเวียง

โบสถ์ เจ้าพิมาย ที่ นครราชสีมา
โบสถ์ “เจ้าพิมาย” กรมหมื่นเทพพิพิธ เมืองพิมาย สมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

9. อำเภอชุุมพวง ชื่อนี้ได้มาจากพื้นที่เดิมมีต้น “พลวง” ขึ้นอยู่มาก เดิมขึ้นกับอำเภอพิมาย ก่อนจะแยกเป็นกิิ่งอำเภอชุุมพวง และอำเภอชุมพวง ตามลำดับ เป็นอำเภอที่มีลำน้ำมูลไหลผ่าน นับว่าเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งในจังหวัด มี 9 ตำบล ได้แก่ ชุุมพวง, ตลาดไทร, ท่าลาด, โนนตูม, โนนยอ, โนนรัง, ประสุข, สาหร่าย และหนองหลัก

10. อำเภอขามทะเลสอ ชื่อนี้มาจากบึงน้ำทางตะวันออกของหมู่บ้าน ที่ในบึงแห้งสนิทจนหมดก็จะแลเห็นสีขาวทั่วทั้งบึง คล้ายดินสอพอง จึงเรียกว่า “ดินสอ”หรือ “สอ” เมื่อมองดูกว้างไกลคล้ายทะเล มี 5 ตำบล ได้แก่ ขามทะเลสอ, บึงอ้อ, โป่งแดง, พันดุง และหนองสรวง

11. อำเภอปากช่อง เดิมเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในตำบลขนงพระ อำเภอจันทึก สมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างทางรถไฟสายแรก กรุงเทพฯ-โคราช ผ่านกลางหมู่บ้าน และระเบิดภูเขาเป็นช่อง จึงเรียกว่า “บ้านปากช่อง” พ.ศ. 2499 รัฐบาลไทย-สหรัฐอเมริกา สร้างถนนมิตรภาพ ตั้งแต่สระบุรี-โคราช ทำให้เจริญอย่างรวดเร็ว ทางการจึงจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ และเป็นอำเภอในปัจจุบัน มี 12 ตำบล ได้แก่ กลางดง, ขนงพระ, คลองม่วง, จันทึก, ปากช่อง, โป่งตาลอง, พญาเย็น, วังกระทะ, วังไทรสาหร่าย, หนองน้ำแดง, หนองสาหร่าย และหมูสี

จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ตัดริบบิ้นเปิดทางหลวงสายโคราช-หนองคาย

12. อำเภอแก้งสนามนาง ภาษาอีสาน “แก้ง-แก่งหินกลางลำน้ำ” ในอดีตบริเวณนี้มีแก่งหินขนาดใหญ่กลางลำน้ำชี ฤดูแล้งน้ำลดเป็นที่เล่นน้ำของคนหนุ่มสาว แต่ปัจจุบันลำน้ำมีการเปลี่ยนแปลงจึงไม่เห็นเกาะแก่งอีก มี 5 ตำบล ได้แก่ แก้งสนามนาง, โนนสำราญ, บึงพะไล, บึงสำโรง และสีสุก

13. อำเภอวังน้ำเขียว ที่มาของชื่อได้มาจากสภาพภูมิประเทศที่มีวังน้ำที่่ใสงดงามเป็นธรรมชาติ น้ำใสจนมองเห็นเงาสะท้อนสีเขียวของต้นไม้ จึงเรียก “วังน้ำเขียว” แต่เดิมขึ้นกับอำเภอปักธงชัย มี 5 ตำบล ได้แก่ ไทยสามัคคี, ระเริง, วังน้ำเขียว, วังหมี และอุดมทรัพย์

14. อำเภอเมืองยาง เป็นแหล่งที่่ตั้งถิ่นฐานชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดี เช่นการพบเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบในใจกลางเมืองบ้านเมืองยาง และบ้านกระเบื้องนอก พบเศษกระเบื้องเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากในเขตชั้นดินลึกเพียงแค่ 1 เมตร เดิมขึ้นกับอำเภอชุุมพวง ก่อนจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ และอำเภอตามลำดับ มี 4 ตำบล ได้แก่ กระเบื้องนอก, โนนอุดม, เมืองยาง และละหานปลาค้าว

15. อำเภอลำทะเมนชัย “ลำทะเมนชัย” เป็นชื่อลำน้ำลำที่ไหลผ่านกลางพื้นที่นี้ เดิมขึ้นกับอำเภอชุมพวง ก่อนจะแยกเป็นกิ่งอำเภอ และอำเภอ มี 4 ตำบล ได้แก่ ขุย, ช่องแมว, บ้านยาง และไพล

16. อำเภอสีดา เป็นหมู่บ้านที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และมีพระปรางค์ที่สร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16-17 ตั้งอยู่ เป็นปรางค์สมัยขอม เรียกว่า “พระปรางค์สีดา” จึงนำมาใช้เป็นชื่ออำเภอ แต่เดิมเป็นตำบลขึ้นอำเภอบัวใหญ่ ต่อมาจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ และอำเภอ มี 5 ตำบล ได้แก่ โพนทอง, โนนประดู่, สามเมือง, สีดา และหนองตาดใหญ่

17. อำเภอครบุรี ชื่่อ “คอนบุุรี” แปลว่า ต้นน้ำหรือแควน้ำ เพราะตำบลครบุรี  มีแควน้ำแยกมาจากแม่น้ำมูล มี 12 ตำบล ได้แก่ ครบุรี, ครบุรีใต้, โคกกระชาย, จระเข้หิน, เฉลียง, แชะ, ตะแบกบาน, บ้านใหม่, มาบตะโกเอน, ลำเพียก, สระว่านพระยา และอรพิมพ์

18. อำเภอคง มีเรื่องเล่าว่าเกี่ยวกับที่มาของชื่อว่า เดิมเรียก “บ้านยายเมืองตาคง” ตามชื่อนายพรานคง และภรรยานางเมือง ที่ชักชวนเพื่อนฝูงมาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินสร้างครอบครัว ภายหลังกร่อนเสียงเป็น “บ้านเมืองคง” ต่อมาทางราชการเกรงจะซ้ำกับอำเภอเมือง จึงเปลี่่ยนชื่่อเป็น “อำเภอคง” มี 10 ตำบล ได้แก่ ขามสมบูรณ์, คูขาด, ดอนใหญ่, ตาจั่น, เทพาลัย, โนนเต็ง, บ้านปรางค์, เมืองคง, หนองบัว และหนองมะนาว

19. อำเภอจักราช (อ่านว่า จัก-กะ-หฺราด) เป็นหนึ่่งในหลายอำเภอของจังหวัด ที่่มีทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือพาดผ่าน สาเหตุที่่ชื่่อ “จักราช” มาจากลำน้ำจักราชไหลผ่าน มี 8 ตำบล ได้แก่ คลองเมือง, จักราช, ทองหลาง, ศรีละกอ, สีสุก, หนองขาม, หนองพลวง และหินโคน

20. อำเภอด่านขุนทด ชื่อ “ด่านขุนทด” เพราะบริเวณนี้เป็นด่านมีเขตติดต่อระหว่างอาณาจักร มีผู้ดูแลปกครองด่านสันนิษฐานว่าชื่่อ ขุนศิริทศ ชื่อด่านขุนทดปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในพงศาวดารกล่าวถึง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตอนปราบชุมนุมเจ้าพิมายว่า เจ้าพิมายตั้งค่ายรับอยู่ ณ ด่านขุนทด มี 16 ตำบล ได้แก่ กุดพิมาน, ด่านขุนทด, ด่านนอก, ด่านใน, ตะเคียน, โนนเมืองพัฒนา, บ้านเก่า, บ้านแปรง, พันชนะ, สระจระเข้, หนองกราด, หนองบัวตะเกียด, หนองบัวละคร, หนองไทร, หินดาด และห้วยบง

21. อำเภอโนนสูง เดิมมีชื่อ “อำเภอกลาง” เนื่องจากอยู่ตรงกลางระหว่างอำเภอในและนอก ต่อมาได้พิจารณาว่าสถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอทับที่วัดร้างอยู่ จึงมีการเสนอขอเปลี่ยนเป็น “อำเภอโนนวัด” พ.ศ. 2487 นายชม วัลลิภากร นายอำเภอโนนวัด เปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอโนนสูง” ด้วยสภาพภูมิศาสตร์อำเภอตั้งอยู่บริเวณที่เป็นที่ราบสูง มี 16 ตำบล ได้แก่ ขามเฒ่า, จันอัด, ดอนชมพู, ดอนหวาย, ด่านคล้า, โตนด, ธารปราสาท, โนนสูง, บิง, มะค่า, เมืองปราสาท, พลสงคราม, ลำคอหงส์, ลำมูล, หลุมข้าว และใหม่

22. อำเภอบัวใหญ่ ก่อนหน้านั้นมีฐานะเป็นด่านชื่อว่า “ด่านนอก” ส่วนชื่อ “บัวใหญ่” มาจากหนองน้ำในหมู่บ้านที่มีบัวพันธุ์ใหญ่เกิดขึ้นเต็ม มีผู้ตั้งชื่อว่า “บึงบัวใหญ่” มี 10 ตำบล ได้แก่ กุดจอก, ขุนทอง, ด่านช้าง, ดอนตะหนิน, โนนทองหลาง, บัวใหญ่, เสมาใหญ่, หนองแจ้งใหญ่, หนองบัวสะอาด และห้วยยาง

23. อำเภอปักธงชัย เดิมชื่อ “เมืองปัก” ต่อมาเมื่อเมืองนครราชสีมาได้เป็นเมืองหน้าด่าน จึงตั้งเมืองปักให้เป็นเมืองหน้าด่านคอยป้องกันเมือง นครราชสีมา โดยใช้ชื่่อว่า “ด่านจะโปะ” ต่อมาในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชเปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองปักธงชัย” และแต่งตั้งให้อุปราชาแห่งกรุงเวียงจันทน์เป็นเจ้าเมืองปักธงไชยคนแรกมี 16 ตำบล ได้แก่ เกษมทรัพย์, โคกไทย, งิ้ว, ดอน, ตะขบ, ตะคุ, ตูม, ธงชัยเหนือ, นกออก, บ่อปลาทอง, เมืองปัก, ลำนางแก้ว, สะแกราช, สุขเกษม, สำโรง และหลวง

24. อำเภอห้วยแถลง มาจากชื่อของลำห้วยที่มีต้นกำเนิดอยู่สันเขาอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ตั้งอำเภอมีลำห้วย 4 สาย (ลำห้วยสระมะค่า, เหวห้า, หยะหยาย และกะเพรา) ไหลมารวมกัน ซึ่งสมัยโบราณเรียกว่า “ลำห้วยกะเพรา” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ลำห้วยแถลง” คำว่า “แถลง” สันนิษฐานมาจากคำว่า “แถล” ซึ่งเป็นภาษาถิ่นอิสาน แปลว่า ลาดเอียง มี 10 ตำบล ได้แก่ กงรถ, งิ้ว, ตะโก, ทับสวาย, เมืองพลับพลา, ห้วยแถลง, หลุ่งตะเคียน, หินดาด, หลุ่งประดู่, และห้วยแคน

ชาวโคราช นครราชสีมา เกวียน ค้าขาย บรรทุก สินค้า
ชาวโคราช พ่อค้าเกวียนบรรทุกสินค้าไปขายในอยุธยา ภาพนี้เป็นกองเรือทางบกกับกองเรือทางน้ำ ขนสินค้ากระจายสู่ท้องถิ่นบ้านเมืองต่างๆ ในสมัยก่อน (ภาพจาก “ ‘พลังลาว’ ชาวอีสาน มาจากไหน”)

25. อำเภอสูงเนิน เรียกตามลักษณะภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นที่สูงและเป็นเนิน เดิมเรียกว่า “บ้านสองเนิน” เพราะมีเนินติดอยู่สองฟากบึง และมีผู้คนไปตั้งบ้านอยู่เป็นหมู่บ้านเดียวกัน ภายหลังเรียกเพี้ยนมาเป็น “สูงเนิน” บริเวณอำเภอสูงเนิน เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองเก่าของโคราช 2 เมืองคือ เมืองเสมา และเมืองโคราฆะปุระ (โคราช)

ต่อมามีฐานะเป็นเขตที่ตั้งอยู่ในการปกครองของอำเภอสันเทียะ (อำเภอโนนไทย) ถึงรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้สร้างทางรถไฟผ่านบ้านสูงเนิน จึงกลายเป็นชุมชนใหญ่ และมีฐานะเป็นอำเภอ มี 11 ตำบล ได้แก่ กุดจิก, โคราช, โค้งยาง, นากลาง, โนนค่า, บุ่งขี้เหล็ก, มะเกลือเก่า, มะเกลือใหม่, สูงเนินเสมา และหนองตะไก้

26. อำเภอสีคิ้ว เป็นเมืองหน้าด่านในดินแดนแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไทยที่อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือของประเทศไทย เดิมอำเภอสีคิ้ว ชื่อว่า “เมืองนครจันทึก” เป็นเมืองอิสระเมืองหนึ่งขึ้นตรงต่อเมืองหลวง มีเจ้าเมืองปกครอง ตั้งขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน

ส่วนชื่อ “สีคิ้ว” ตามความเชื่อของชาวบ้าน เพี้ยนมาจากชื่อ พญาสีเขียว และบางกระแสเชื่อว่ามาจาก “สี่เขี้ยว” ซึ่งปัจจุบันมีศาลเจ้าพ่อพญาสี่เขี้ยว ทั้งศาลของจีนและศาลไทยที่คนสีคิ้วเคารพบูชา มี 12 ตำบล ได้แก่ กฤษณา, กุดน้อย, คลองไผ่, ดอนเมือง, บ้านหัน, มิตรภาพ, ลาดบัวขาว, วังโรงใหญ่, สีคิ้ว, หนองน้ำใส, หนองบัวน้อย และหนองหญ้าขาว

27. อำเภอหนองบุญมาก หรือ อำเภอหนองบุนนาก แต่เดิมเป็นตำบลสารภี ในอำเภอโชคชัย ก่อนจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ และอำเภอ มี 9 ตำบล ได้แก่ ไทยเจริญ, บ้านใหม่, ลุงเขว้า, สารภี, หนองบุนนาก, หนองหัวแรต, แหลมทอง, หนองตะไก้, และหนองไม้ไผ่

28. อำเภอโนนแดง เดิมเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กในพื้นที่่เป็นเนินสูงที่่มีต้นไม้แดงขึ้นอยู่ทั่วบริเวณหมู่บ้านจนได้้ชื่อว่า “บ้านโนนแดง” ก่อนจะยกฐานะเป็นอำเภอโนนแดง มี 5 ตำบล ได้แก่ ดอนยาวใหญ่, โนนตาเถร, โนนแดง, สำพะเนียง และวังหิน

29. อำเภอเทพารักษ์ เดิมชื่อ “สำนักตะคร้อ” เป็นสำนักที่พักแรมของผู้ที่สัญจรผ่านไปมา ต่อมาหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อำเภอด่านขุนทด เชื่อว่าบริเวณที่ตั้งสำนักตะคร้อมีเทพารักษ์ปกปักษ์รักษาอยู่ จึงควรจะมีการขอเปลี่ยนชื่อเป็น “เทพารักษ์” จนกลายมาเป็นอำเภอเทพารักษ์ มี 4 ตำบล ได้แก่ บึงปรือ, วังยายทอง, สำนักตะคร้อ และหนองแวง

30. อำเภอพระทองคำ ที่มาของชื่่อนั้นบ้างว่าที่ตั้งอำเภออยู่ที่บ้านปะคำ ตำบลสระพระ จึงนำชื่อดังกล่าวมารวมเป็น “พระคำ” และเพิ่ม “ทอง” ให้ความหมายชัดเจนยิ่งขึ้นจึงเพิ่มเป็น “พระทองคำ” บ้างว่าเพื่่อเป็นอนุสรณ์แด่บุคคลสำคัญของจังหวัดนครราชสีมา คือ “พระยาปลัดทองคำ” สามีของท่านท้าวสุรนารี อำเภอพระทองคำ มี 5 ตำบล ได้แก่ ทัพรั้ง, พังเทียม, มาบกราด, สระพระ และหนองหอย

31. อำเภอบัวลาย เดิมชื่อ “หนองบัวลาย” เพราะในบริเวณหมู่บ้านมีหนองน้ำที่่มีบัวมากมาย ซึ่งภาษาอีสาน “หลาย-มากมาย” ต่อมาเพี้ยนเสียงเป็น “บัวลาย” มี 4 ตำบล ได้แก่ โนนจาน, บัวลาย, เมืองพะไล และหนองหว้า

32. อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เดิมชื่่อ “ท่าช้าง” เป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ริมแม่น้ำมูล ที่ช้างป่ามักลงมาหากินยังบริเวณชุมทางน้ำและความสมบูรณ์ ต่อมาเมื่่อจัดตั้งเป็นอำเภอแล้ว รัชกาลที่ 9 พระราชทานนาม “อำเภอเฉลิมพระเกียรติ” เนื่่องในมหามงคลวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อในวันที่่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2539 มี 5 ตำบล ได้แก่ ช้างทอง, ท่าช้าง, พระพุทธ, หนองงูเหลือม และหนองยาง

ส่วนที่ทำไมไม่แยกบางอำเภอออกเป็นจังหวัดใหม่ สันนิษฐานว่า เพราะประชาชนในพื้นที่ก็ยังอยากเป็น “คนโคราช หลานย่าโม” หรือท่านผู้อ่านคิดเห็นเช่นไร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

[1] เติม วิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 4, เมษายน 2546

[2] วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครราชสีมา, คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542

[3] https://www.nakhonratchasima.go.th สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2564


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กันยายน 2564