“เมืองราด” ของพ่อขุนผาเมือง อยู่ที่ไหน? จากทัศนะของ “จิตร ภูมิศักดิ์”

เมืองราด อนุสาวรีย์ พ่อขุนผาเมือง สี่แยกพ่อขุน อ. หล่มสัก
อนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง สี่แยกพ่อขุน อ. หล่มสัก (ภาพจาก Blogger ที่ว่าการอำเภอหล่มสัก)

“เมืองราด” ของพ่อขุนผาเมือง อยู่ที่ไหน? จากทัศนะของ “จิตร ภูมิศักดิ์”

จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักคิดด้านการเมือง นักประวัติศาสตร์ และนักภาษาศาสตร์-นิรุกติศาสตร์ นับเป็นนักปราชญ์/นักปฏิวัติทางความคิดและวิชาการคนสำคัญของประเทศไทย

จิตร ภูมิศักดิ์ มีงานเขียนทางประวัติศาสตร์มากมายที่เผยให้เห็นความเชี่ยวชาญด้านภาษาและนิรุกติศาสตร์ของเขา โดยเฉพาะความรู้ด้านภาษาเขมรปัจจุบันและภาษาเขมรโบราณ เขาสามารถเรียนรู้ระบบของภาษาและนำมาอธิบายได้อย่างน่าสนใจ หนึ่งในนั้น คือการแสดงความคิดเห็นเรื่อง “เมืองราด” ที่เรามักคุ้นเคยกันดีหากศึกษา ประวัติศาสตร์สุโขทัย และ การสถาปนาราชวงศ์ศรีนาวนำถุมหรือ ราชวงศ์พระร่วง ในดินแดนภาคกลางของไทย

ชื่อของเมืองราดเป็นส่วนหนึ่งอันเลือนลางในประวัติศาสตร์สุโขทัย แต่ถูกนำมาเป็นข้อสงสัยและการถกเถียงบ่อยครั้งว่าเมืองที่มีส่วนสำคัญในการร่วมขับไล่อิทธิพลขอม หรือเขมร ไปจากดินแดนไทยจนนำไปสู่การถือกำเนิดของอาณาจักรสุโขทัยนี้ แท้จริงแล้วอยู่ที่ไหน? และ สำคัญอย่างไร?

จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ถ่ายทอดทฤษฎีความรู้ว่าด้วยการค้นหาความจริงในตำแหน่งที่ตั้งของเมืองราดอย่างน่าสนใจ ใช้หลักฐานและความรู้ด้านภาษาศาสตร์-นิรุกติศาตร์บันทึกไว้ในงานเขียน “ประวัติศาสตร์วินิจฉัย ประวัติพ่อขุนผาเมือง พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมวีรบุรุษของไทยสยาม เมืองราด เมืองบางยาง และเรื่องแรกตั้งของอาณาจักรสุโขทัย” ซึ่งมีต้นฉบับที่กระจัดกระจาย บางส่วนไม่ปะติดปะต่อกัน เข้าใจว่ายังไม่เสร็จสมบูรณ์ ต่อมาคุณวิชัย นภารัศมี ได้ติดตามและรวบรวมต้นฉบับบางส่วนมาเผยแพร่ ทำให้เราได้ทราบถึงทัศนะของจิตร ภูมิศักดิ์ ต่อตัวตนเมืองราดมากยิ่งขึ้น

จาก จารึกวัดศรีชุม แรกเริ่มก่อตั้งกรุงสุโขทัย เมืองราดเป็นเมืองใหญ่ที่ “พ่อขุนผาเมือง” ปกครองอยู่ พ่อขุนผาเมืองมีส่วนสำคัญในการช่วย “พ่อขุนบางกลางหาว” เจ้าเมืองบางยางรบกับเขมร เพื่อกำจัดอิทธิพลของเขมรและสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นศูนย์กลางการปกครองแห่งใหม่ของ กลุ่มชนชาติไทย พ่อขุนบางกลางหาวได้ราชาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ พ่อขุนผาเมืองยังถวายพระนาม “กมรเตงอัญ ศรีอินทรบดินทราทิตย์” ซึ่งได้รับจากพระเจ้ากรุงเขมรมาแต่เดิมก่อนมอบแก่พ่อขุนบางกลางหาว จากนั้นกลับไปปกครองเมืองราดตามเดิม

สถานะของเมืองราดตามประวัติศาสตร์สุโขทัยจึงดูขาดความชัดเจน ไร้ที่ไปที่มา รู้แต่เพียงเป็นเมืองสำคัญ ต้องมีอิทธิพลและสรรพกำลังมากถึงขนาดช่วยสถาปนาอาณาจักรใหม่ขึ้นมาได้

นักศึกษาประวัติศาสตรจึงเกิดข้อสันนิษฐานว่าเมืองราดคือที่ไหน ผู้รู้คนสำคัญ ๆ เช่น ศาสตราจารย์ยอรช เซเดส์ บอกว่าอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ด้านตะวันออกของสุโขทัยหรืออาจเป็นทางเหนือของฝั่งแม่น้ำ ส่วนสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงลงความเห็นว่าอยู่ฝั่งตะวันออกของสุโขทัย ริมแม่น้ำป่าสักเช่นกัน โดยอาจเป็นเมืองเพชรบูรณ์หรือเมืองศรีเทพ

สำหรับจิตร ภูมิศักดิ์ ได้พยายามใช้หลักฐานเท่าที่จะนำมาประกอบการอ้างอิง ผสมกับหลักการทางภูมิศาสตร์ หลักทางยุทธศาสตร์การสงคราม และความเป็นไปได้ทางภาษาศาตร์ ทฤษฎีด้านนิรุกติศาสตร์ มาประกอบกันจนสามารถสรุปได้ว่า 1) เมืองราดต้องอยู่ทางทิศตะวันออกอย่างแน่นอน 2) แท้จริงแล้วเมืองราดคือ นครราชสีมา หรือเมืองโคราช นั่นเอง จากงานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ที่กล่าวไปข้างต้น เราจะพบหลักฐานที่สนับสรุปข้อสรุปที่เขาเสนอเอาไว้ ดังนี้

1. จารึกเขาสุมนกูฎ (เขาพระบาทใหญ่) ซึ่งจารึกในสมัยพญาฤาไทย กล่าวถึงชาวเมืองจากหัวเมืองต่าง ๆ ตามขบวนเสด็จขึ้นไปสมโภชบูชารอยพระพุทธบาท ปรากฏชื่อเมืองราดอยู่ขั้นกลางระหว่างกลุ่มหัวเมืองฝั่งตะวันตกกับตะวันออกของสุโขทัย เมื่อพิจารณาจะพบว่าในบรรดาหัวเมืองฟากตะวันตกไม่มีตำแหน่งใดพอจะเป็นที่ตั้งของเมืองราดได้เลย

2. เมืองราดถูกยกย่องใน จารึกวัดศรีชุม ว่าเป็น “เมืองกว้างช้างหลาย พืชผลอุดม” และ “มีเมืองออกหลวงหลายแก่กม” นั่นหมายความว่า เมืองราดต้องเป็นเมืองใหญ่ที่มีอำนาจมาก ขณะที่หัวเมืองฝั่งตะวันตกล้วนเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัยทั้งสิ้น เมืองราดจึงสมควรมีความเป็นอาณาจักรหนึ่งเดียวมากกว่าจะเป็นหัวเมืองขนาดเล็ก สอดคล้องความพึงพอใจของ พ่อขุนผาเมือง ที่จะกลับไปปกครองดังเดิม

3. จารึกวัดศรีชุมยังกล่าวถึงสงครามที่เมืองราดเผชิญท้าวอีจาน ซึ่งปกครองเมืองอีจาน เป็นเมืองบริเวณอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน แปลว่าว่าเมืองราดจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ท้าวอีจานยกทัพไปทำศึกได้โดยไม่ต้องผ่านสุโขทัย นั่นคือทิศตะวันออกนั่นเอง

4. การแบ่งเขตแคว้นของภาคอีสาน สมัยที่อยู่ภายใต้การปกครองของเขมร มีมณฑลอีสานฝ่ายใต้คือบริเวณจังหวัดนครราชสีมาซึ่งมี พิมาย เป็นศูนย์กลาง มีความเป็นไปได้ที่ พิมาย จะเป็นที่ตั้งของเมืองราด เพราะพ่อขุนผาเมืองรับตำแหน่ง “กมรเตงอัญ ศรีอินทรบดินทราทิตย์” เทียบเท่าชั้นเจ้าพระยามหานคร ทั้งรับพระราชทาน พระนางสิงขรมหาเทวี และ พระแสงขรรค์ชัยศรี จากพระกรุงเขมร แปลว่าพ่อขุนผาเมืองต้องเป็นเจ้าระดับผู้ปกครองมณฑลอย่างแน่นอน ซึ่งมณฑลนั้นมีราชธานีคือ เมืองราด

5. สิ่งที่ส่งเสริมให้นครราชสีมา คือ เมืองราด สามารถสืบสาวได้ตั้งแต่เรื่องชื่อเมือง มีบันทึกตำนานเมืองกล่าวว่า “นครราชสีมา” เกิดจากการรวมชื่อเมืองโบราณเข้าด้วยกันให้ยาวขึ้น คือ เมืองเสมา หรือ สีมา รวมกับ นครราช ส่วน โคราด ซึ่งพัฒนามาจาก เมืองราด ที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงตามการออกเสียงอย่างเขมร นั่นเพราะดั้งเดิมเมืองราดก็คือเมืองของเขมร ทั้งชื่อเมือง, ภูเขา, แม่น้ำล้วนเป็นภาษาเขมร เมื่ออิงจาก เมืองราด เป็นเมืองชั้นพระยามหานคร จึงถูกเรียกว่า “นครราด” คำว่า นคร เป็นคำเดียวกับ องโค (อังกอร์) ในภาษาเขมร ที่ใช้เรียก “นครวัด” หรือ องโควัด ตามที่ชาติตะวันตกรับรู้ และเรียกต่อกันมา เขมรเรียกเมืองราดว่า “องโคราด” พยางค์แรกคือคำว่า “อง” ออกเสียงในลำคอ จึงกลายเป็น โคราช ที่คนไทยรู้จักกัน

จิตร ภูมิศักดิ์ เชื่อว่านครราชสีมาก่อนยุคพ่อขุนผาเมือง มีศูนย์กลางเดิม คือ เมืองพิมาย ซึ่งอยู่ติดลำน้ำมูลและมีเมืองเสมาเป็นหน้าด่าน เมืองราดน่าจะถูกสร้างขึ้นภายหลัง ก่อนกลายเป็นรัฐอิสระ เราจึงเห็นว่าในยุคพ่อขุนผาเมืองนั้น เมืองราดไม่ขึ้นต่อฝ่ายสุโขทัยรวมถึง เขมร เมื่อเมืองเสมาเป็นเมืองหน้าด่าน จึงเกิดการนำชื่อเมืองมารวมกัน เป็น “โคราชเสมา” นี่คือวิธีการเดียวกับที่สุโขทัยยกเมืองศรีสัชนาลัยเป็นเมืองลูกหลวง และเรียกรวมว่า กรุงศรีสัชนาลัยสุโขทัย

เมื่อถึงยุคกรุงศรีอยุทธยา สมัยสมเด็จพระรายณ์มหาราช ทรงสั่งให้สร้างเมืองโคราชขึ้นใหม่ทับเมืองเดิม จึงระบุนาม “นครราชสีมา” ในขณะที่ผู้คนจำนวนมากยังพอใจที่จะเรียก “โคราชสีมา” หรือ “โคราช” กันอยู่จวบถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม จิตร ภูมิศักดิ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ตามที่ผู้เขียนได้สันนิษฐานมาทั้งหมดนี้อาจจะผิดก็ได้ ขอให้ถือเป็นเพียงความเห็นเรื่องเมืองราดอีกความเห็น 1 และช่วยกันค้นคว้าต่อไป อย่าเพิ่งเชื่อถือเอาเป็นจริงจัง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

จิตร ภูมิศักดิ์; วิชัย นภารัศมี เผยแพร่. ประวัติศาสตร์วินิจฉัยตอนที่ 1 “เมืองราด”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 26 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2547): 147-156.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 สิงหาคม 2565