ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
“เรือพระที่นั่งมหาจักรี” เรือลาดตระเวนที่ถูกใช้เป็นเรือพระที่นั่งในรัชกาลที่ 5 และทรงใช้เสด็จประพาสยุโรปกับพระราชกรณียกิจสำคัญอีกมากมาย
เรือพระที่นั่งมหาจักรี (Mahachakkri) ขึ้นระวางประจำการในกองทัพเรือสยามเมื่อ พ.ศ. 2435 เป็นเรือลาดตระเวน แต่ตกแต่งภายในอย่างเรือพระที่นั่ง คือเป็นเรือยอชต์ (Yacht) หรือเรือสำราญขนาดใหญ่สำหรับเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ต่าง ๆ
การสร้างเรือพระที่นั่งมหาจักรีนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งเป็นกรมหมื่น กับพระยาชลยุทธโยธินทร์ ไปติดต่อการสร้างกับ บริษัท Ramage and Ferguson ให้ต่อเรือ ที่อู่ต่อเรือเมืองลีท สกอตแลนด์ (Leit, Scotland) เมื่อ พ.ศ. 2434 ใช้เวลา 10 เดือนจึงแล้วเสร็จ และเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2435
ข้อมูลจากเว็บไซต์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พาณิชย์นาวี ระบุว่า เรือพระที่นั่งมหาจักรีมีมูลค่า 960,000 บาท ตัวเรือยาว 89.7 เมตร กว้าง 12 เมตร ทำด้วยเหล็กกล้า ส่วนไม้ที่ใช้ในตัวเรือล้วนเป็นไม้สักจากสยาม มีระวางขับน้ำเต็มที่ 120 ตัน และกินน้ำลึก 4.2 เมตร ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 16 นอต
อาวุธประจำเรือ ได้แก่ ปืนบรรจุท้ายยิงเร็ว 120 มิลลิเมตร (ปืนใหญ่ชนิดอาร์มสตรอง) จำนวน 4 กระบอก และปืนกลฮอตกิช 57 มิลลิเมตร จำนวน 8 กระบอก
เรือแบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นล่างสุดเป็นห้องเก็บรักษาดินปืนและห้องพักพนักงานนายเรือ ชั้นกลางตอนท้ายเรือเป็นห้องสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ด้านหัวเรือเป็นห้องเล็ก ๆ หลายห้อง ใช้เป็นห้องเลี้ยงอาหารสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารตามเสด็จฯ
ส่วนชั้นบนเป็นดาดฟ้าเรือ ด้านท้ายเรือเป็นห้องขนาดใหญ่มีที่กำบังร่มสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ตอนกลางเป็นห้องบรรทมและห้องประทับสำหรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และด้านหัวเรือเป็นห้องแผนที่และห้องสำหรับการเดินเรือ
การรับใช้สยามของเรือพระที่นั่งมหาจักรี
ภารกิจรับใช้ชาติครั้งสำคัญของเรือพระที่นั่งมหาจักรีคือเมื่อ พ.ศ. 2440 ซึ่งเป็นปีที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปด้วย โดยเสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งมหาจักรี พร้อมลูกเรือ-ข้าราชบริพารกว่า 300 ชีวิต การเสด็จประพาสครั้งนั้นได้ไปเยือน 14 ประเทศในยุโรป รวมถึงพระราชภารกิจสำคัญคือการไปพบ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
นอกจากนี้ รัชกาลที่ 5 ยังใช้เรือลำนี้เสด็จเยือนยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450 และทรงใช้ปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ อีกมากมาย อาทิ เป็นเรือพระที่นั่งในการเสด็จประพาสเกาะสีชังและปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเรือรับส่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชและพระบรมวงศานุวงศ์ เวลาเสด็จไป-กลับจากทรงศึกษาในต่างประเทศ และใช้เป็นเรือสำหรับรับรองเจ้านายหรือบุคคลสำคัญจากต่างประเทศด้วย
ในช่วงหลัง ๆ เรือถูกใช้เป็นโรงเรียนนายเรือเมื่อเว้นว่างจากการใช้งานในพระราชกรณียกิจของพระเจ้าแผ่นดิน ทว่าเนื่องจากความล้าสมัย เรือจึงถูกปลดระวางประจำการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
รัฐบาลสยามได้ขายเรือ (ยกเว้นเครื่องจักร) ให้ บริษัทอู่ คาวาซากิ โกเบ (Kawasaki Dockyard Co., Ltd. Kobe) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดคนมารับเรือถึงกรุงเทพฯ เมื่อ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2459 พวกเขายังว่าจ้างสร้างเรือพระที่นั่งมหาจักรี ลำที่ 2 ที่มีความทันสมัยกว่า โดยใช้เครื่องจักรของเรือลำแรกด้วย
ดูภาพจำลอง 3 มิติของเรือพระที่นั่งมหาจักรี (ลำที่ 1) แบบ 360 องศา คลิก แบบขยาย คลิก
ติดตามเรือพระที่นั่งมหาจักรีหลังปลดระวาง
เมื่อไปถึงญี่ปุ่น เรือพระที่นั่งมหาจักรีเป็นอย่างไรต่อ? สิ่งที่คนไทย (ส่วนใหญ่) รับรู้คือเรือลำใหม่ในชื่อเดียวกันมาประจำการในกองทัพเรือไทย โดยใช้เครื่องจักรของเรือลำแรก
แล้วส่วนอื่น ๆ ที่เหลือ หรือตัวเรือล่ะ?
ภาพของเรือพระที่นั่งมหาจักรี (ลำแรก) ที่จอดลอยลำอยู่ที่ญี่ปุ่น เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ The Sunday Oregonian (พอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน) แห่งสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน ปี 1916 (พ.ศ. 2459) มีคำบรรยายว่า
“กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสยามมีกองทัพเรือที่ประกอบด้วยเรือลาดตระเวนหนึ่งลำ แต่พระองค์ไม่ค่อยได้ใช้งาน จึงส่งมันไปญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้และดัดแปลงให้เป็นเรือพระที่นั่ง พระองค์น่าจะเสด็จเยือนอเมริกาด้วยเรือลำนี้”
และหนังสือพิมพ์ Otago Daily Times ของญี่ปุ่น รายงานเมื่อวันที่ 10 มกราคม ปี 1918 (พ.ศ. 2461) ว่า
“เรือพระที่นั่งของสยาม (ประเทศไทย) ‘MAHA CHAKRKRI’ ลอยลำทอดสมออยู่ที่โกเบมาเป็นเวลาปีกว่า ถูกจัดซื้อในราคา 1,300,000 เยน และอยู่ระหว่างการซ่อมแซมที่โกเบ เรือลำนี้มีน้ำหนักบรรทุก 4,201 ตัน และถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘TAIKO MARU’ เรือถูกเช่าเหมาลำโดย Messrs Suzuki and Co. Kobe และใช้สำหรับธุรกิจกับออสเตรเลีย”
กล่าวคือ ขณะที่ “เครื่องจักร” ของเรือลำเดิมถูกนำไปใช้กับเรือพระที่นั่งมหาจักรีลำใหม่ให้สยาม “ตัวเรือ” ได้ถูกดัดแปลงให้เป็นเรือบรรทุกสินค้า และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Taiko Maru โดยบริษัท Nansho Yoko Goshi Kaisha แห่งเมืองอามากาซากิ จังหวัดเฮียวโกะ ประเทศญี่ปุ่น
ข้อมูลจากเว็บไซต์ shipstamps.co.uk ระบุว่า ต่อมาเรือลำดังกล่าวถูกขายให้บริษัท Naviera Layetana แห่งเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน และเปลี่ยนชื่อเป็น LAYETANA เมื่อปี 1921 (พ.ศ. 2464) และในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันนั้น ระหว่างบรรทุกแร่เหล็กจากเฮลวาไปยังบอร์กโดซ์ เรือได้อับปางลงสู่ก้นสมุทรที่เมืองฟาโร ประเทศโปรตุเกส
ขณะที่เครื่องจักรซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรือพระที่นั่งมหาจักรีลำที่ 2 ได้ขึ้นระวางประจำการในรัชกาลที่ 7 และถูกระเบิดทำลายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ปิดตำนาน (อดีต) เรือพระที่นั่งพระเจ้าแผ่นดินสยาม ทั้งส่วนที่เป็นตัวเรือและเครื่องจักรโดยสมบูรณ์
อ่านเพิ่มเติม :
- อาหารโปรด? และไม่โปรด? ของรัชกาลที่ 5 ระหว่างเสด็จประพาสยุโรป
- “เรือหลวงพระร่วง” เรือรบลำแรกของไทย ร.6 พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบทุน
- พระราชวิจารณ์ ร.5 ถึงความสัมพันธ์ “กษัตริย์ยุโรป” กับพสกนิกร คราวเสด็จประพาสยุโรป ปี 2440
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พาณิชย์นาวี. เรือพระที่นั่งมหาจักรี. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2567. (ออนไลน์)
The Library of Congress, Flickr. Siamese royal yacht (LOC). Sep 19, 2014. (Online)
Aukepalmhof, shipstamps.co.uk. MAHA CHAKRKRI royal yacht. Aug 29, 2013. From https://shipstamps.co.uk/forum/viewtopic.php?f=2&t=13230
University of Oregon Libraries. The Sunday Oregonian., November 05, 1916, SECTION FIVE, Page 2, Image 66. Retrieved Sep 18, 2024. From https://oregonnews.uoregon.edu/lccn/sn83045782/1916-11-05/ed-1/seq-66/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กันยายน 2567