“ชาญวิทย์” เล่าประวัติศาสตร์ผ่านถ้วยสาเก ในการแสดงสุดพิเศษ “An Imperial Sake Cup and I”

An Imperial Sake Cup and I ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

 ในงาน “Talks for Thailand 2024 เสียง-สามัญชน” จัดโดยเครือมติชน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ที่ Lido Connect Hall 2 สยามสแควร์

นอกจากจะมีนักสื่อสารมวลชนและนักวิชาการชั้นนำ ทั้ง สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการ กองบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์, กษิดิศ อนันทนาธร อาจารย์ภาควิชากฎหมายทั่วไป คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ผศ. ดร. ณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ มาร่วมถ่ายทอดพลังของสามัญชนที่มีบทบาทมาทุกยุคสมัย ท่ามกลางผู้ชมที่ล้วนเป็นสามัญชนหลากหลายแวดวงที่มาร่วมงานอย่างคับคั่งแล้ว

Advertisement
An Imperial Sake Cup and I ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ผู้บริหารเครือมติชน นำโดย ปานบัว บุนปาน ประธานกรรมการ, ปราปต์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการ ให้การต้อนรับวิทยากรและผู้ร่วมงาน “Talks For Thailand 2024 เสียง-สามัญชน”

ไฮไลต์ของงานนี้ ที่ทุกคนใจจดใจจ่อตั้งตารอคอย คือ การแสดง “An Imperial Sake Cup and I ถ้วยสาเกจักรพรรดิกับเรื่องเล่าสามัญของชาญวิทย์” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักประวัติศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านไทยและอุษาคเนย์ศึกษา ที่ยืนหยัดส่งมอบความรู้ให้สังคมไทยมาตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ

An Imperial Sake Cup and I ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
อ. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ใน “An Imperial Sake Cup and I”

“An Imperial Sake Cup and I ถ้วยสาเกจักรพรรดิกับเรื่องเล่าสามัญของชาญวิทย์”

“An Imperial Sake Cup and I” เป็นละครเวทีในรูปแบบการบรรยาย (lecture performance) ซึ่งที่ผ่านมาจัดการแสดงแล้ว 4 ครั้ง

ครั้งแรก เมื่อปี 2563 ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2565 ที่โตเกียว เมโทรโปลิแทน โรงละครใหญ่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 เมื่อปี 2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ตามด้วยครั้งที่ 4 ในปีเดียวกัน ที่โรงละคอนแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ส่วนครั้งที่ 5 ก็คือการแสดงในงาน “Talks for Thailand 2024 เสียง-สามัญชน” นี้นี่เอง

“An Imperial Sake Cup and I” ถ่ายทอดประวัติส่วนตัวของ อ. ชาญวิทย์ ที่ผูกพันกับญี่ปุ่นมาเกือบตลอดชีวิต สะท้อนจากของสำคัญ 2 สิ่งที่นำเสนอให้ได้ชมแต่ต้น

ของชิ้นแรก คือ “มีดพับเชลย” ที่คุณพ่อของอาจารย์ได้มาเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 และ “ถ้วยสาเกสีแดงชาด” กลางถ้วยเป็นลายดอกเบญจมาศสีทอง ตราประจำราชวงศ์ อันเป็นของขวัญพระราชทานที่อาจารย์ได้รับ เมื่อครั้งทำงานเป็นพนักงานวิเทศสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร ในโอกาสที่ มกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ และ พระชายามิชิโกะ เสด็จฯ เยือนเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. 2507 ก่อนที่ต่อมาจะเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี

An Imperial Sake Cup and I ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
การแสดงที่เล่นกับแสงเงา เล่าถึงทหารญี่ปุ่นช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

ของเปี่ยมคุณค่าทั้ง 2 ชิ้น พาทุกคนย้อนกลับไปสู่วัยเด็กของ อ. ชาญวิทย์ ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทหารญี่ปุ่นใช้สถานีรถไฟหนองปลาดุก ในพื้นที่บ้านโป่ง เป็นจุดเริ่มต้นการสร้างทางรถไฟสายมรณะ ที่เชลยชาวต่างชาติ รวมทั้งชาวอินเดียและชาวจีน ถูกเกณฑ์มาเป็นแรงงานสร้างทางรถไฟ ต้องสังเวยชีวิตไปร่วมแสนคน

An Imperial Sake Cup and I ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
การแสดง “An Imperial Sake Cup and I” ช่วงที่เล่าถึง “วิกฤตการณ์บ้านโป่ง”

บ้านโป่งยังเป็นที่เกิด “วิกฤตการณ์บ้านโป่ง” ซึ่งปะทุขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 2485 เมื่อพระไทยให้บุหรี่กับเชลยฝรั่ง ทหารญี่ปุ่นเห็นเข้าก็ไม่พอใจ จึงตบหน้าพระจนล้ม เหตุการณ์ลุกลามบานปลายกลายเป็นการปะทะ มีทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น จึงเข้ามาจัดการ

แม้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านโป่งกับทหารญี่ปุ่นจะไม่ค่อยราบรื่น แต่ความมีน้ำใจระหว่างกันก็ยังปรากฏให้เห็น “ตอนเด็กผมป่วย แต่มีหมอชาวญี่ปุ่นฉีดยาอะไรไม่รู้เข้าที่ต้นคอ ทำให้ผมรอดชีวิตมาได้” อ. ชาญวิทย์ เล่าถึงน้ำใจของชาวญี่ปุ่นช่วงนั้น

เมื่อเติบโตขึ้น อ. ชาญวิทย์ เข้ามาเรียนต่อชั้นมัธยมและมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ไปจบปริญญาโทและปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา กลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เป็นประจักษ์พยานในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคเดือนตุลา ทั้ง “14 ตุลา 2516” และ “6 ตุลา 2519” ก่อนถูกกล่าวหาจนต้องลี้ภัยทางการเมืองออกจากเมืองไทย และได้ทุนจากญี่ปุ่นไปทำงานวิจัยที่นั่นเป็นเวลา 1 ปีเต็ม

คราวนั้น อ. ชาญวิทย์ เผชิญความผิดหวังกับสิ่งที่พบ ถึงขั้นตั้งใจว่าชีวิตนี้จะไม่พูดภาษาไทยอีกแล้ว แต่ด้วยประสบการณ์และผู้คนที่ได้เจอ ทำให้อาจารย์มีความหวังและกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอีกครั้ง

An Imperial Sake Cup and I ชาญวิทย์
อ. ชาญวิทย์ ในวันซ้อมใหญ่ เมื่อ 11 กันยายน ด้านหลังเป็นถ้วยสาเกที่อาจารย์สะสม

จากถ้วยสาเกใบแรกที่ได้รับเมื่อ พ.ศ. 2507 หลังจากนั้นเมื่อมีโอกาสไปญี่ปุ่นคราวใด อาจารย์ก็มักหาถ้วยสาเกมาสะสมอยู่เสมอ กระทั่งพบว่าแต่ละใบบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกัน เป็นกระจกสะท้อนวัฒนธรรมญี่ปุ่นและวิถีชีวิตของมนุษย์

“ผมพบว่าถ้วยสาเกไม่ใช่เพียงภาชนะใส่เหล้า แต่มีเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับระบอบจักรพรรดิ ระบอบทหาร ไปจนถึงวงจรแห่งชีวิต ตั้งแต่จุดกำเนิด การแต่งงาน และความตาย บางครั้งยังเกี่ยวพันไปถึงความรัก ความใคร่ และเรื่องราวทั้งหลายของสามัญชน”

ตลอดการแสดง 1 ชั่วโมงเต็ม อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักประวัติศาสตร์ผู้เป็นที่เคารพรักของลูกศิษย์หลายวงการ นำเสนอประสบการณ์ชีวิตส่วนตัว ที่ผูกโยงและเรียงร้อยเข้ากับประวัติศาสตร์การเมืองของไทยและญี่ปุ่นได้อย่างกลมกล่อม ผ่านการแสดงประกอบภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และหุ่นเงา ที่ดึงดูดผู้ชมได้ตั้งแต่ต้นจนจบ

An Imperial Sake Cup and I ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ช่วงท้ายของการแสดง

แม้บางเรื่องราวจะขื่นขมและชวนสิ้นหวัง แต่ถึงที่สุดแล้วก็ไม่สามารถทำลาย “ความหวัง” ของสามัญชนนาม “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” ลงได้ ทั้งอาจารย์ยังส่งต่อความหวังให้สังคมต่ออย่างไม่สิ้นสุด ผ่านการมอบความรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง และเรื่องเล่าจากถ้วยสาเกสีแดงชาด

เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงประกาศสละราชสมบัติ สิ้นสุด “ยุคเฮเซ” ที่มีความหมายว่าสันติภาพทุกแห่งหน อ. ชาญวิทย์ ก็ได้พาถ้วยสาเกใบนี้ที่มีอายุกว่าครึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่ได้รับพระราชทานเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อร่วมในโอกาสนี้ด้วย

ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเริ่มยุคใหม่ คือ “ยุคเรวะ” อันมีความหมายว่าสมัครสมานสามัคคี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ภายใต้สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะต่อไป

ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2567