“ตาคลี” ถิ่นจีไอ การเข้ามาของทหารอเมริกันและผลพวงจากสงครามเวียดนาม

สนามบินตาคลี นครสวรรค์ ฐานบินสหรัฐอเมริกา สงครามเวียดนาม
ภาพถ่ายสนามบินตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ฐานบินหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในไทยช่วงสงครามเวียดนาม (พ.ศ. 2498-2518) (ภาพจาก Smithsonian’s National Air and Space Museum)

“ตาคลี” อำเภอเล็ก ๆ ห่างจากตัวเมืองนครสวรรค์ราว 70 กิโลเมตร เป็นอำเภอที่เงียบสงบ แต่มีอดีตที่เต็มไปด้วยสีสัน และมีความรุ่มรวยทางเศรษฐกิจมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ทั้งหมดเป็นผลมาจากการเข้ามาของทหารอเมริกัน หรือ “ทหารจีไอ” ในยุคสงครามเวียดนาม

ในห้วงสงครามเวียดนาม ส่วนหนึ่งของยุคสงครามเย็นระหว่าง 2 ขั้วอำนาจของโลก ได้แก่ ฝ่ายโลกเสรีนิยมที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ และโลกคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำ รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนสหรัฐฯ ในการทำสงครามเวียดนาม เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ พ.ศ. 2507

Advertisement

เป็นที่มาของการเข้ามาตั้งฐานทัพ โดยกองทัพสหรัฐอเมริกาในดินแดนไทยหลายแห่ง พร้อม ๆ กับการมาประจำการในฐานทัพเหล่านั้นของทหารที่เรียกว่า “ทหารจีไอ” (G.I. ย่อมาจาก Galvanized Iron) ซึ่งเป็นคำเรียกทหารอเมริกันที่ถูกส่งไปรบในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก

สหรัฐอเมริกาใช้แผ่นดินไทยเป็นฐานทัพอากาศขนาดใหญ่ เพื่อรบในสงครามเวียดนามจำนวน 7 แห่ง คือที่ดอนเมือง นครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี นครพนม อู่ตะเภา และตาคลี ก่อนจะขยับขยายเป็นอีกหลายแห่งในเวลาต่อมา

ในช่วงเวลาดังกล่าว ไทยถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “เรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีวันจม” ของกองทัพสหรัฐอเมริกา

ท่าอากาศยานตาคลี
ท่าอากาศยานตาคลีเมื่อ พ.ศ. 2508 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ทหารจีไอในตาคลี

ทำไมอำเภอในชนบทอันห่างไกลอย่าง “ตาคลี” จึงถูกใช้เป็นฐานทัพได้?

เหตุผลสำคัญ คือ ที่นี่เคยเป็นสนามบินของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก่อน จึงเป็นหมุดหมายในการตั้งฐานทัพอากาศของทหารอเมริกัน

เหล่าทหารจีไอเริ่มเข้ามาในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2504 ก่อนที่ไทยจะสนับสนุนสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนามอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ 

จากนั้น ตาคลีจึงถูกสร้างให้เป็นฐานทัพทางอากาศในชื่อ “กองบิน 4 ทหารจีไอ” และใช้งานตั้งแต่ปี 2507 ถึง 2516

การมีอยู่ของกองบิน 4 ทหารจีไอ และพลทหารอเมริกันในพื้นที่ ทำให้ตาคลีเกิดความเปลี่ยนแปลงหลายด้านมาก ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม จากชนบทห่างไกลอันเงียบสงบ กลายเป็นย่านที่เต็มไปด้วยสีสัน มีร้านอาหาร โรงแรม บ้านเช่า ที่พักสำหรับคนอเมริกันผุดขึ้นมามากมาย รวมถึงโรงภาพยนตร์ก็เกิดในยุคนี้ เด็ก ๆ และพ่อค้าแม่ขายในพื้นที่พยายามใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกับพวกทหาร

ที่สำคัญคือ ตาคลีคลาคล่ำไปด้วยแสงสีเสียงจากผับบาร์ สถานบันเทิงเริงรมย์ยามค่ำคืน ว่ากันว่า ในยุครุ่งเรือง ตาคลีมีสถานเริงรมย์มากกว่าจำนวนวัดเสียอีก โดยเฉพาะ “ซ่อง” หรือสถานบริการสำหรับสนองความต้องการทหารจีไอที่โด่งดัง จนตาคลีเคยถูกเรียกว่าเป็น “เมืองคนบาป”

บันทึกของ รงค์ วงศ์สวรรค์ ในหนังสือ “ตาคลี น้ำตาไม่มีเสียงร้องไห้” ระบุว่า ปี 2515 ตาคลีมีสถิติหญิงค้าบริการจำนวนถึง 2,271 คน และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จากตัวเลขหญิงบริการที่มาลงทะเบียนในแผนกกามโรคของสถานีอนามัยตาคลี

การเติบโตของภาคธุรกิจต่าง ๆ ยังดึงดูดคนภายนอกหรือพื้นที่ใกล้เคียงมาทำงานที่ตาคลีด้วย แน่นอนว่ารวมถึงโสเภณีต่างถิ่น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อกอบโกยความมั่งคั่งจากเงินดอลลาร์ของทหารจีไอที่มีกำลังจ่ายสูงมาก

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเข้ามาของทหารจีไอได้สร้างอาชีพและรายได้มหาศาลให้แก่ผู้คนในอำเภอตาคลีและพื้นที่ใกล้เคียง จนที่นี่เคยเป็นเมืองที่รุ่งเรืองและมีสีสันที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย พร้อม ๆ กับเศรษฐกิจไทยที่ก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่

แต่… ทั้งหมดต้องแลกด้วยปัญหามากมายตามมา ทั้งการค้ายาเสพติด ปัญหาโสเภณี และเด็กลูกครึ่งที่ถูกทอดทิ้งให้เติบโตโดยปราศจากความอบอุ่น กลายเป็นปัญหาเรื้อรังมาหลายทศวรรษหลังการถอนตัวไปจากแผ่นดินไทยของกองทัพสหรัฐฯ

ทหารจีไอถอนตัวออกจากตาคลีจนหมดเมื่อปี 2517 ก่อนกรุงไซง่อน (นครโฮจิมินห์) จะถูกยึดโดยกองทัพเวียดนามเหนือ (คอมมิวนิสต์) ในปีถัดมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในสงครามเวียดนาม รวมถึงผู้คนในตาคลี ที่จำนวนมากต้องกลายเป็นคนตกงาน

ตาคลี นครสวรรค์
อำเภอตาคลี พ.ศ. 25016 (ภาพโดย Allan Erickson จาก www.flickr.com สิทธิการใช้งาน CC BY-SA 2.0)

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมอเมริกันยังคงแทรกซึมในทุกมิติของสังคมไม่เพียงแค่ที่ตาคลีเท่านั้น แต่รวมถึงทุกที่ที่ทหารอเมริกันเข้าไปตั้งฐานทัพ ซึ่งนั่นส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางวิถีชีวิตของผู้คน ตั้งแต่การแต่งกาย อาหารการกิน วัฒนธรรมบันเทิง รวมถึงโลกทัศน์ของคนไทย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ความจริงไม่ตาย, Thai PBS. ตาคลี ร่องรอยของจีไอ. 12 พฤษภาคม 2564. จาก https://www.thaipbs.or.th/program/TruthNeverDies/episodes/78321

TNN. ‘ฐานทัพสหรัฐในตาคลี’ ร่องรอยที่มากกว่าสงคราม คือ มรดกที่ G.I. ทิ้งไว้. 28 เมษายน 2567. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กันยายน 2567