
ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
สงครามเวียดนาม (พ.ศ. 2498-2518/ ค.ศ.1955-1975) เกิดขึ้นในช่วงของการแข่งขันอำนาจระหว่างสองแนวคิดต่างขั้ว สหรัฐอเมริกาพยายามสกัดกั้น “คอมมิวนิสต์” ทุกวิถีทาง โดยมีเวียดนามเหนือมีจีน สหภาพโซเวียตและพันธมิตรคอมมิวนิสต์สนับสนุน ส่วนเวียดนามใต้มีสหรัฐและประเทศประชาธิปไตยสนับสนุน สหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเวียดนามตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามนโยบายสกัดกั้นการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในเอเชีย เพราะเห็นว่าถ้าไม่รบในเวียดนาม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดจะตกอยู่ใต้อิทธิพลของประเทศฝ่ายคอมมิวนิสต์
สำหรับไทยรัฐบาลไทยที่เชื่อด้วยว่า เวียดนามเหนือต้องการขยายอิทธิพลคอมมิวนิสต์เข้ามาไทยโดยได้รับการสนับสนุนจากจีน ด้วยรุกเข้าไปในดินแดนลาวของกองกำลังคอมมิวนิสต์เวียดนามและการเผยแพร่อิทธิพลคอมมิวนิสต์ในหมู่ชาวเวียดนามในภาคอีสานของไทย ขณะเดียวกันก็คาดหวังความช่วยเหลือด้านการทหารและอื่นๆ จากสหรัฐ
การรบระหว่างเวียดนามเหนือ-ใต้ ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญหลังเหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ยในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2507/ค.ศ.1964 สหรัฐกล่าวหาว่าเรือตอร์ปิโดของเวียดนามเหนือยิงเรือรบอเมริกัน สหรัฐตอบโต้ด้วยการทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือ พร้อมกับการส่งทหารสหรัฐมาทำลายกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ โดยในเดือนมกราคม พ.ศ. 2512/ ค.ศ.1969 ประเมินว่ามีทหารอเมริกันกว่า 500,000 นายในสมรภูมิ
แล้วสหรัฐก็เห็นคุณค่าทางยุทธศาสตร์ของไทย
ประโยชน์ของไทยที่ตั้งอยู่ใกล้สมรภูมิสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการทหาร ทำให้ได้รับบทบาทการเป็นผู้ให้บริการสหรัฐใน 3 ด้าน คือ การให้ที่ตั้งฐานทัพ, ที่ตั้งอุปกรณ์สืบราชการลับ และศูนย์พักผ่อนและพักฟื้นของทหารอเมริกัน สหรัฐได้สิทธิใช้ฐานทัพในไทย 7 แห่ง คือ ดอนเมือง โคราช นครพนม ตาคลี อุบลราชธานี และอุดรธานี ทั้งคาดว่าการทิ้งระเบิดของสหรัฐในเวียดนามประมาณ 80% มาจากฐานทัพในไทย, มีทหารอเมริกันหลายหมื่นนายอยู่ในไทย
แต่ประชาชนอเมริกันเริ่มไม่พอใจกับความเสียหายที่เขาได้รับในสงครามเวียดนาม
เดือนตุลาคม พ.ศ.2510/ค.ศ. 1967 มีผู้คนกว่า 100,000 คนได้ร่วมชุมนุมประท้วงที่วอชิงตัน ดี.ซี. คัดค้านการร่วมสงครามเวียดนามของสหรัฐ แต่รัฐบาลยังคงเพิกเฉยต่อการเรียกร้อง หากเสียงคัดค้านสงครามเวียดนามของคนอเมริกันเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อจำนวนทหารอเมริกันที่ได้รับบาดเจ็บ, สูญเสียอวัยวะ และเสียชีวิต มีเพิ่มขึ้นเรื่อย รวมถึงงบประมาณจำนวนมากจากภาษีของพวกเขาที่ใช้ในสงคราม
วันเสาร์ที่15 พฤศจิกายนพ.ศ. 2512/พ.ศ.1969 ผู้คนกว่า 500,000 คน ได้มาชุมนุมประท้วงอย่างสันติที่วอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อคัดค้านการส่งทหารอเมริกันไปร่วมสงครามเวียดนาม ประชาชนได้ออกมารวมตัวกันตั้งแต่ช่วงเย็นวันพฤหัส (13 พฤศจิกายน) จำนวนผู้ชุมนุมเพื่อขึ้นเรื่อยๆ ตลอดทั้งคืนและวันถัดไป ผู้คนกว่า 40,000 คนมารวมตัวกันเพื่อเดินขบวนไปตามถนนเพนซิลเวเนียเพื่อไปยังทำเนียบขาว พร้อมกับการประกาศชื่อทหารที่เสียชีวิตในสงคราม ถึงวันศุกร์ (14 พฤศจิกายน)การประท้วงยังคงเป็นไปอย่างสงบแม้เจ้าหน้าที่จะใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายผู้ชุมนุม ขณะที่โรงเรียนและพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนเปิดให้พวกเขาได้เขาไปพักผ่อน สุดท้ายประธานาธิบดีริราช์ด นิกสัน ก็เริ่มฟังเสียงประชาชน เกิดการผ่อนคลายความตึงเครียดในช่วงสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต และประเทศจีน จนนำไปสู่การถอนตัวออกจากสงครามเวียดนามในที่สุด
และนี้เป็นประวัติศาสตร์สำคัญของอเมริกาและของโลก
ภาพยนตร์เรื่อง Forrest Gump (ปี พ.ศ.2537/ค.ศ.1994) ที่วางบทให้ฟอร์เรสท์ กัมพ์ พระเอกของเรื่องที่แสดงโดย ทอม แฮงค์ส อยู่ในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์สำคัญร่วมสมัยกับคนอเมริกันยุคนี้ ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 จนถึงปลายทศวรรษ 1980 มีฉากดังกล่าวเช่นกัน
เมื่อกัมพ์เรียนจบได้ไปเกณฑ์ทหารและถูกส่งไปรบที่เวียดนาม ซึ่งภาพยนตร์ก็ได้ฉายให้เห็นว่าในขณะที่สงครามเวียดนามดำเนินไปนั้น วัยรุ่นอเมริกันจำนวนมากตั้งคำถามต่อการใช้จ่ายงบประมาณนอกประเทศ จนเกิดเป็นกระแสที่วัยรุ่นทั่วสหรัฐ ออกมาชุมนุมกันเรียกร้องหาสันติภาพและให้หยุดสงคราม, ให้กัมพ์ได้เหรียญกล้าหาญ และได้กลับมาเข้าพบประธานาธิบดี และได้หลงไปขึ้นเวทีประท้วงของฮิปปี้ ท่ามกลางผู้คนที่รอฟังว่าทหารผ่านศึกนายนี้จะกล่าวอะไร หากเป็นความตั้งใจของภาพยนตร์ให้ลำโพงในฉากนั้นเสีย ผู้ชุมนุมเรือนแสนจึงไม่ได้ยินว่า ทหารผ่านศึก(ในภาพยนตร์) จะกล่าวอะไร
หากในงานรำลึกการครบรอบ 50 ปีสงครามเวียดนาม (27 เมษายน พ.ศ.2559/ ค.ศ.2016) จอห์น เคอร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในฐานะทหารผ่านศึกสงครามเวียดนาม และผู้นำประท้วงต่อต้านการส่งทหารร่วมรบในสมัยประธานาธิบดีนิกสัน กล่าวสุนทรพจน์ที่กินใจว่า
ยังมีคนจำนวนมากที่ยึดติดกับอดีต และยังไม่สามารถปรับตัวได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง นอกจากนี้สังคมยังควรระวังอันตรายจากการแบ่งแยกระหว่างผู้ที่เคยรบในสงคราม และผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ดังกล่าวหรือไม่มีคนในครอบครัวเกี่ยวข้องกับกองทัพ คนอเมริกันสามารถทำเพื่อประเทศชาติได้โดยไม่ต้องเป็นทหาร และบทเรียนของสหรัฐที่สำคัญที่สุดจากสงครามเวียดนาม คือความจำเป็นต้องมองความเป็นไปของโลกจากประสบการณ์ของคนในประเทศอื่น หากทำเช่นนั้นได้ อเมริกาจะอยู่ในสถานะที่ดีกว่านี้มาก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
จุฬาพร เอื้อรักสกุล . สงครามเวียดนาม สถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.
ปริชญา เชื้อสิงห์โต.บันเทิงแบบมีกึ๋น ความทรงจำร่วมสมัยของชาวอเมริกันผ่านหนังอมตะ ฟอร์เรสท์กัมพ์ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศhttp://uswatch.mfa.go.th
งานครบรอบ 50 ปีสงครามเวียดนาม… เปิดแผลเก่าเรื่องการต่อต้านสงคราม(รายงานโดย Joseph Mok เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)https://www.voathai.com
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2562