ทำไมสงครามเวียดนาม ใช้เงิน MPC เป็นเบี้ยเลี้ยงทหาร? ใครใช้? ใครผลิต?  

ทหารไทยที่ไปร่วมในสงครามเวียดนาม

สงครามเวียดนาม (พ.ศ. 2508-2518) เป็นการต่อสู้ระหว่างเวียดนามใต้-ฝ่ายโลกเสรี มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ กับเวียดนามเหนือ-ฝ่ายสังคมนิยม ที่มีจีน และรัสเซียคอยสนับสนุน ครั้งนั้นไทยได้ส่งทหารอาสาไปช่วยรบด้วย จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับสงครามจากบันทึกทางการและไม่เป็นทางการของทหารที่ไปเวียดนาม 

แต่นอกจากเรื่องการรบ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ หนึ่งในทหารที่ไปร่วมสงครามเวียดนาม ยังบันทึกถึง วิถีชีวิตของทหารไทย, สภาพบ้านเมืองที่ได้พบเห็น รวมถึง “เงิน MPC” เงินรูปแบบพิเศษของสหรัฐ ดังนี้

เบี้ยเลี้ยงรายเดือนระหว่างรบอยู่ในเวียดนามนั้น ทหารไทยทุกคนจะได้รับจ่ายเป็นเงินเหรียญสหรัฐทั้งสิ้นแต่ไม่ได้จ่ายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐเหมือนที่ใช้กันทั่วโลก โดยมีการกำหนดวิธีการพิเศษขึ้นมาด้วยการจ่ายเป็น เงิน MPC [Military Payment Certificate]

เงิน PMC ชนิด 1 ดอลลาร์ ที่ใช้ในสงครามเวียดนาม

เงิน MPC ที่ว่านี้สหรัฐจัดพิมพ์ขึ้นเป็นพิเศษ ขนาดหน้าตาสีสันก็คล้ายๆ กับเงินดอลลาร์สหรัฐทั่วๆ ไป มีตั้งแต่ใบละ 1 ดอลลาร์ 5 ดอลลาร์ 10 ดอลลาร์ ฯลฯ แต่มีรายละเอียดแตกต่างอย่างชัดเจน และกำหนดให้ใช้ได้เฉพาะในเวียดนามเท่านั้น

แถมวันดีคืนดีก็จะมีประกาศแจ้งล่วงหน้าอย่างกะทันหันแบบไม่ได้ตั้งตัวว่าจะยกเลิกเงิน MPC นี้แล้ว ใครมีก็ให้มาแลกกับเงิน MPC ที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ตามกำหนดเวลา พ้นจากนี้ เงิน MPC เก่าก็จะไม่มีค่าใดๆ ทั้งสิ้น

ที่มีการพิมพ์ดอลลาร์พิเศษใช้เฉพาะในเวียดกงนี้ก็คงสืบเนื่องมาจากเหตุผลทางด้านการคลังของรัฐบาลสหรัฐเอง แต่ได้ก่อให้เกิดเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องเงินชนิดนี้ โดยมีเรื่องของ “ตลาดมืด” เข้ามาเกี่ยวข้อง

อย่างที่ทราบกันดีว่า ประเทศที่ล้าหลังมักมีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงิน คืออัตราที่รัฐบาลประกาศไว้นั้นมูลค่ามักจะสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงของตลาดเงิน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนในตลาดมืดขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนาม ในสงครามยุคนั้นที่มีทั้งเงิน MPC ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นมาเพื่อให้ทหารไว้ใช้จ่าย แต่ขณะเดียวกันเงินดอลลาร์ปกติที่ใช้กันทั่วโลก ซึ่งพวกเราเรียกกันว่า “เงินกรีน” นั้นก็ยังมีอยู่ในมือทหารและบุคคลทั่วไป ซึ่งแน่นอนว่าสามารถนำไปใช้ได้กว้างขวางมากกว่าเงิน MPC จึงทำให้เกิดอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดเป็น 2 ราคาด้วยกัน

สมมุติว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่รัฐบาลเวียดนามประกาศใช้ว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ (เงินกรีน) มีค่าเท่ากับ 50 โด่ง (ชื่อเงินเวียดนามที่พวกเราเรียก) ซึ่งเป็นอัตราที่แพงกว่าความเป็นจริงของตลาดเงินนั้น ในตลาดมืด 1 ดอลลาร์สหรัฐอาจแลกได้ถึง 500 โด่ง ขณะที่เงิน MPC ซึ่งสามารถใช้ได้จำกัดกว่านั้นอาจมีค่าถึง 250 โด่ง เป็นต้น

ดังนั้น จึงเกิดปรากฏการณ์หากำไรกันขึ้นมาอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะทหารชาติใด

กล่าวคือใช้เงินกรีนหรือเงิน MPC ไปซื้อเงินโด่งในตลาดมืดมากักตุนไว้ พอได้จังหวะก็ซื้อกลับเป็นเงินกรีน หรือ MPC เท่านี้ก็ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ทหารไทยมีศัพท์เฉพาะเรียกปฏิบัติการชนิดนี้ว่า “โยก”

ทหารสหรัฐและพันธมิตรในเวียดนามจะมีโอกาสได้ลาพักเดินทางกลับประเทศหรือไปพักผ่อนที่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะไทยแลนด์ ซึ่งหลายท่านคงยังจำได้ถึงยุคทหารสหรัฐเต็มบ้านเต็มเมือง และว่ากันว่าที่พัทยาเกิดและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของคนต่างชาติทุกวันนี้ก็สืบเนื่องมาจากครั้งสงครามเวียดนาม

ก่อนเดินทางออกจากเวียดนามก็จะเปิดโอกาสให้มีการนำเอาเงิน MPC มาแลกเปลี่ยนเป็นเงินกรีนไปใช้ กำไรหลายเท่าจากการโยกก็เกิดขึ้นทันที อย่างไรก็ตาม กองทัพสหรัฐจะกำหนดเป็นโควตาไว้ให้ตามชั้นยศของทหาร ทำให้เกิดมีการ “โยก” หรือยืมโควตากันขึ้นตามมา เพราะบางคนมีโควตาแต่ไม่มีเงิน

อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงิน MPC จะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีการติดตามความเคลื่อนไหวนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อหาจังหวะที่จะได้กำไรสูงสุด เหมือนตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราทุกวันนี้ โดยเฉพาะในช่วงสำคัญที่ทหารในเวียดนามไม่ว่าจะฝรั่ง เวียดนาม ไทย ฯลฯ รวมทั้งพวกเวียดกงด้วยแทบจะไม่เป็นอันกินอันนอน การสู้รบจะเบาบางอย่างเห็นได้ชัด ก็คือช่วงที่มีข่าวว่าจะมีการยกเลิกเงิน MPC เดิม อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินโด่งจะตกลงทันที โดยเฉพาะเมื่อใกล้กำหนดวันเส้นตายเมื่อไหร่ก็จะยิ่งตกลงมากเท่านั้น เพราะเมื่อพ้นกำหนดการยกเลิกเม่ื่อใด เงิน MPC ไม่ว่าจะมีค่าสักเท่าใดก็จะกลายเป็นเศษกระดาษไร้ค่าทันที

ช่วงนี้เองที่ทั้งทหารชาติพันธมิตรและเวียดกงจะหยุดรบกันชั่วขณะ โดยไม่ต้องมีการเจรจาหยุดยิงให้มากเรื่อง

การเล่นกับเงินเช่นนี้นอกจากจะมีอัตราเสี่ยงอยู่บ้างในอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งความเสี่ยงสูงสุดหากมีการประกาศยกเลิกเงิน MPC ซึ่งมักไม่บอกล่วงหน้านานนัก เพื่อดัดหลังพวกค้าเงินเหล่านี้ แต่ไม่เพียงเท่านั้น เพราะยังมีความเสี่ยงจากพวกคนเวียดนามที่เราไปแลกเปลี่ยนเงินด้วย เนื่องจากการซื้อเงินในตลาดมืดเช่นนี้เป็นความผิดตามกฎหมาย ดังนั้น สถานที่ซื้อขายจึงมิได้เป็นที่เป็นทางการเปิดเผยเหมือนสถานที่แลกเงินถูกกฎหมาย โดยทั่วไปก็เป็นที่ลับตาตามตรอกซอกซอย ซึ่งยังเสี่ยงต่อพวกเวียดกงอีกต่างหาก

การแลกเปลี่ยนก็จะกระทำกันแบบยื่นหมูยื่นแมว หลังตกลงราคากันเป็นที่พอใจแล้ว พอเราส่งเงินกรีนหรือเงิน MPC ให้ มันก็จะนับ เมื่อถูกต้องมันก็จะยื่นเงินโด่งให้ และเนื่องจากเงินโด่งมีราคาถูก จึงทำให้ได้รับมาเป็นฟ่อน และมักจะม้วนมากลมๆ มัดด้วยยางรัดของ

ช่วงเวลาสำคัญจึงอยู่ตอนนี้ ระหว่างที่เรากำลังแกะม้วนออกเพื่อตรวจสอบจำนวน ที่ถูกต้องซึ่งใช้เวลาพอสมควรนั้น ก็มักเกิดเหตุฉุกเฉินในลักษณะต่างๆ แล้วคู่ค้าชาวเวียดนามก็จะหายลับไปในบัดดล ซึ่งผลที่ตามมานั้นก็มักจะมีการ “ยัดไส้” คือมีแต่ใบนอกเท่านั้นที่เป็นเงินโด่งจริงๆ ข้างในล้วนเป็นกระดาษที่ตัดไว้ในขนาดเดียวกับธนบัตรเงินโด่งทั้งสิ้น การซื้อขายแบบนี้มีอัตราเสี่ยงสูง แต่ก็จะมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ล่อใจ

สำหรับใครที่ไม่ต้องการเสี่ยงแบบนั้นก็ไม่ต้องหนักใจ เพราะในค่ายแบร์แคท [ชื่อทางการ คือ ค่ายมาร์ตินคอกซ์ อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงไซง่อนประมาณ 100 กิโลเมตร] มีบริการเช่นนี้อยู่มากมายทั้งจากทหารด้วยกันเอง หรือจากคนงานเวียดนามที่หาลำไพ่ โอกาสจะเบี้ยวกันจึงไม่มี แต่ก็แน่นอนว่า อัตราแลกเปลี่ยนนั้นไม่ทำกำไรให้เหมือนไปเสี่ยงเอาในตรอก

เคยได้ยินว่ามีทหารบางคนแก้เผ็ดการโกงด้วยการโกงกลับ

ทหารสามารถซื้อสินค้าใน PX [Post Exchange] ซึ่งมีราคาถูกกว่าท้องตลาดมาก โดยเฉพาะบุหรี่ที่ซื้อขายกันเป็นคัตตัน ซึ่งมีบุหรี่อยู่ 10 ซองบรรจุในกล่องเรียบร้อย บุหรี่ฝรั่งเป็นที่ต้องการในตลาดมืดเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงมีทหารนำบุหรี่ราคาถูกนี้ไปขายเอากำไร

แต่ที่เจ็บแสบก็คือ บ่อยครั้งเมื่อการซื้อขายเสร็จสิ้นลง ต่างคนต่างแยกย้ายไปตามทางของตนแล้ว พอฝ่ายเวียดนามแกะกล่องออกมาก็แทบลมจับ เพราะข้างในนั้นไม่มีบุหรี่แม้แต่ซองเดียว มีแต่ขี้เลื่อยอัดแน่น ซึ่งน้ำหนักใกล้เคียงกับบุหรี่สิบซองพอดิบพอดี ว่ากันว่าหลายเหตุการณ์ซุ่มโจมตีมีเบื้องหลังมาจากความแค้นนี้

เหล่านี้เป็นเรื่องการหักเหลี่ยมเฉือนคมที่เราได้ยินอยู่บ่อยๆ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “กว่าจะเป็นนายพล (ก้าวแรก)” เขียนโดย พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ (สำนักพิมพ์มติชน, 2550)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มีนาคม 2565