ขาดแคลนข้าว ปี 2462 ไทยวิกฤตผลผลิตเหลือแค่ 1 ใน 5 ต้องหุงข้าวปนกลอยปนมัน

ขาดแคลนข้าว
ทำนาที่สาธร

“ขาดแคลนข้าว” วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อปี 2462 ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดประเทศที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำอย่างไทย ซ้ำยังมีความรุนแรงจนทางการต้องมีคำสั่งห้ามส่งออกข้าว และห้ามเคลื่อนย้ายของออกจากบางพื้นที่ที่มีปริมาณข้าวน้อยมาก ด้วยเกรงจะเกิดความอดอยาก

สาเหตุของการขาดแคลน

ปัญหาการเกษตรของไทยที่พึ่งพิงธรรมชาติเป็นหลัก เมื่อธรรมชาติไม่อำนวย ความเสียหายก็เกิดขึ้น ปัญหาข้าวปี 2462 ก็เช่นกัน เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ปี 2460 เกิดอุทกภัยใหญ่ขึ้นในหลายมณฑลทางภาคเหนือและภาคกลาง เรียกกันทั่วไปว่า “น้ำท่วมปีมะเส็ง” บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรเสียหายแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก

Advertisement
น้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2460 บริเวณหน้าพระบรมรูปทรงม้า (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีน้ำท่วมขัง ในวันถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า ประชาชนต้องใช้เรือเป็นพาหนะ มีการประกวดและแข่งเรือ ณ พระลานพระบรมรูปทรงม้าด้วย ระดับน้ำสูงสุดเดือนพฤศจิกายน สูงถึง 1.87 เมตร ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร เพราะน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว ไม่มีผู้ใดสะสมเสบียงอาหารไว้ล่วงหน้า หลังจากนั้นปี 2461 ที่คาดว่าจะเพาะปลูกได้ตามปกติ แต่ก็กลับมาเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง

สถานการณ์ข้าวปี 2462 

การขาดแคลนข้าวนี้รุนแรงเพียงใด ต้องดูจากผลผลิตข้าวของมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศ ปกติมีประมาณ 24 ล้านหาบ แต่ในปี 2462 มีผลผลิตเหลือเพียง 4.5 ล้านหาบ ที่เพียงพอแค่การบริโภคในประเทศ

พื้นที่ปลูกข้าวสำคัญ เช่น มณฑลอยุธยา ที่เคยมีผลผลิตข้าวปีละประมาณ 11  ล้านหาบ ปี 2462 กลับมีผลผลิตเพียง 9 แสนหาบ, มณฑลนครชัยศรี มีผลผลิตข้าวปีละประมาณ 3.5 ล้านหาบ ปี 2462 เหลือเพียง 5 แสนหาบ ฯลฯ

ชาวนาในจังหวัดอุดรธานี ขณะกำลังนำข้าวมาสีในโรงสี ภาพถ่ายช่วงก่อน พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

เพื่อควบคุมและจัดการเรื่องนี้ ทางการได้จัดตั้ง “คณะกรรมการกับตรวจตราข้าว” มีกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นประธานกรรมการ และมีเจ้าพระยายมราช, พระยาอินทรมนตรีศรีจันทกุมาร, พระยามโนปกรณ์นิติธาดา, นายวิลเลียมสัน ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง และนายเกรแฮม ที่ปรึกษากระทรวงเกษตราธิการ เป็นกรรมการ

จากเดิมที่การส่งออกข้าวไปจำหน่ายต่างประเทศเป็นไปโดยเสรี เมื่อเกิดปัญหาข้าวขึ้นมา งานแรกของคณะกรรมการชุดนี้จึงได้แก่ การปิดและกักกันข้าวที่จะออกนอกประเทศ หรือ “การห้ามส่งออกข้าว” นั่นเอง เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม ปี 2462 โดยข้าวที่ทำสัญญาและขึ้นทะเบียนก่อนวันที่ 18 มิถุนายน ปี 2462 สามารถส่งออกได้ ซึ่งมีจำนวนถึง 16 ล้านหาบ

สาเหตุที่ต้องห้ามส่งออกข้าว ด้วยเกรงว่าปริมาณข้าวภายในประเทศจะไม่เพียงพอสำหรับประชาชน เนื่องจากผลผลิตปี 2562 มีปริมาณน้อยดังที่กล่าวไปแล้ว ขณะเดียวกันตลาดต่างประเทศเวลานั้นมีความต้องการข้าวในปริมาณมาก เพราะเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457-2461) เพิ่งยุติ ราคาข้าวจึงค่อนข้างสูง และอาจส่งผลต่อราคาในประเทศ ซึ่งก็เป็นดังคาด ราคาข้าวในประเทศปี 2461 หาบละ 9.6 บาท, ปี 2462 ขึ้นเป็นหาบละ 19.27 บาท

นอกจากนี้ เพื่อช่วยให้ข้าวในประเทศมีเพียงพอและราคาถูกลง คณะกรรมการฯ จึงห้ามมิให้นำข้าวออกจากพื้นที่ 6 มณฑล ที่มีผลผลิตข้าวในปริมาณต่ำ ได้แก่ มณฑลสุราษฎร์, มณฑลราชบุรี, มณฑลพิษณุโลก, มณฑลมหาราษฎร์, มณฑลนครราชสีมา และมณฑลนครสวรรค์

ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ถึงกับต้องใช้กลอย, มันเทศ, กล้วยดิบ, ลูกปลง ต้มปนกับข้าวที่กิน

ผลที่ตามมา

การห้ามส่งออกข้าวที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ขาดรายได้จำนวนมากทันที นอกจากนี้ยังทำให้ปีงบประมาณ 2463 รัฐต้องขาดดุลการค้าถึง 69.2 ล้านบาท จากที่ปีงบประมาณ 2461 เกินดุลอยู่ราว 59 ล้านบาท

มาตรการห้ามส่งออกข้าว ยังส่งผลให้ไทยสูญเสียตลาดค้าข้าวให้กับประเทศผู้ผลิตข้าวอื่น ทำให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจ และภาวะขาดแคลนเงินสำหรับใช้จ่ายของรัฐบาลช่วงปลายรัชกาลที่ 6

ทั้งหมดเป็นผลกระทบอันเกิดจากการขาดแคลนข้าว ปี 2462 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ. การผลิตและการค้าข้าวในภาคกลางตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2411-2475) วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521.

พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล. การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-68) วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517.

<www.facebook.com/NationalArchivesofThailand >


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กันยายน 2567