พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง อายุกว่า 600 ปี หลักฐาน “เจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์” ไม่ใช่คนสุโขทัย!?

พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง เจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์
พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง ที่พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ทรงให้สร้างขึ้น (ภาพโดย รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ใน https://seaarts.sac.or.th/artwork/256)

พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ หรือ “เจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์” เป็นสตรีที่มีบทบาทในประวัติศาสตร์สุโขทัย ดังปรากฏหลักฐานในจารึกยุคนั้น ทำให้เข้าใจกันมาตลอดว่า พระนางเป็นคนสุโขทัย แต่จากหลักฐานที่เป็นพระพุทธรูป ซึ่งสร้างขึ้นราวๆ กลางพุทธศตวรรษที่ 20 ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานใหม่ว่า พระนางไม่ใช่คนสุโขทัย แต่ไปจากราชวงศ์ “สุพรรณภูมิ” แห่งราชอาณาจักรอยุธยา

วัดมหาธาตุ สุโขทัย พบ พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง เจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์ สร้าง
โบราณวัตถุประเภทต่าง ๆ พบจากการขุดค้น ขุดแต่ง และบูรณะวัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย

เค้าเงื่อนพระพุทธรูปสำริด หลักฐานพลิกประวัติศาสตร์

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สุโขทัย เล่าเรื่องนี้ไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2554 ว่า เมื่อราว พ.ศ. 2510 มานิต วัลลิโภดม อดีตภัณฑารักษ์พิเศษ กรมศิลปากร ขณะนั้นเป็นกรรมการในคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดหางบประมาณค่าใช้จ่ายให้เดินทางไปถ่ายภาพโบราณวัตถุชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง ซึ่งเก็บอยู่ในห้องคลัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง สุโขทัย

Advertisement

โบราณวัตถุชิ้นดังกล่าวเป็นพระพุทธรูปในศิลปะอู่ทอง ที่ฐานมีจารึกตัวอักษรภาษาไทย ต่อมามีการนำพระพุทธรูปองค์นี้ไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสวรรควรนายก อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย

พิพิธภัณฑ์ให้เลขทะเบียนพระพุทธรูปองค์นี้เป็น อ.ท. 34 เป็นพระพุทธรูปหล่อสำริด หน้าตักกว้างประมาณ 35 เซนติเมตร สูงประมาณ 50 เซนติเมตร มีที่มาตามทะเบียนประวัติว่า ได้มาจากโบราณวัตถุที่ถูกคนร้ายลักลอบขุดกรุ และไม่สามารถขนย้ายไปได้หมด ภายในบริเวณวัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย

ลักษณะพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ลักษณะของฐานเป็นฐานบัวคว่ำหงายเรียบๆ ทรวดทรงที่ยึดตรงแข็งกระด้าง เค้าพระพักตร์เคร่งขรึม มีเส้นกรอบพระพักตร์ ทั้งหมดเป็นลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นของศิลปะอู่ทอง ทรวดทรงพระพักตร์ที่เป็นรูปไข่แล้ว และมีรัศมีเป็นรูปเปลวเพลิง แสดงอิทธิพลของศิลปกรรมศิลปะสุโขทัย จัดเป็นศิลปะอู่ทองรุ่นหลัง มีอายุอยู่ในช่วงเวลาสมัยอยุธยาตอนต้น

ประสาร บุญประคอง อดีตผู้เชี่ยวชาญอักษรโบราณ กรมศิลปากร ถอดความหมายจารึกที่ฐานพระพุทธรูป สรุปได้ว่า พระพุทธรูปองค์นี้เจ้าแม่ให้สร้างขึ้น เพื่อถวายไว้กับวัดบุรพาราม (บ้างสะกด บูรพาราม)

หากดูประวัติวัดจากศิลาจารึกหลักที่ 93 ศิลาจารึกวัดอโสการาม ระบุว่า พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ มเหสีของพระมหาธรรมราชาธิราช โอรสของพระมหาธรรมราชาลิไทกับพระศรีธรรมราชมารดา เป็นผู้สร้างวัดบูรพาราม ก่อนหน้า พ.ศ. 1951 แล้ว

ส่วนศิลาจารึกหลักที่ 286 จารึกวัดบูรพาราม มีความตอนหนึ่งว่า พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ได้นำพระธาตุ 3 องค์มาบรรจุไว้ในสถูปของวัดบูรพาราม เมื่อประมาณ พ.ศ. 1955

มาถึงปัจจุบัน ไม่ทราบแน่ชัดว่า วัดบุรพารามตั้งอยู่ที่ใดในเมืองเก่าสุโขทัย แต่สันนิษฐานจากชื่อของวัดก็พอจะบ่งบอกทิศทางที่ตั้งได้ว่า น่าจะตั้งอยู่นอกเมืองเก่าสุโขทัย ด้านทิศตะวันออก

“เมื่อพิจารณาว่าเป็นวัดที่เจ้านายระดับสูงเป็นผู้สร้าง ประกอบอายุเวลาก่อสร้างประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 20 แล้ว อาจตั้งสมมติฐานได้ว่า น่าจะได้แก่โบราณสถานในกลุ่มที่ปัจจุบันเรียกแยกเป็นวัดตระพังทองหลาง กับวัดเจดีย์สูง ดูจะเหมาะสมที่สุดทั้งในด้านขนาดของวัดและรูปแบบทางศิลปกรรมที่ปรากฏ” พิเศษ ระบุ

วัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย เจอ พระพุทธรูปทวารวดี พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง เจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์ สร้าง
ภาพถ่ายเก่าเจดีย์ทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย

เหตุใด “เจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์” ถึงไม่ใช่คนสุโขทัย?

พระพุทธรูปองค์นี้ ไม่ใช่พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย แต่เป็นศิลปะอู่ทอง หรือศิลปะของราชอาณาจักรอยุธยา พิเศษจึงสันนิษฐานว่า เจ้าแม่ผู้ให้สร้างพระพุทธรูปไว้กับวัดบูรพารามต้องไม่ใช่ชาวสุโขทัย แต่เป็นชาวเมืองในที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางของอาณาจักรอยุธยา และจากหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ 93 และหลักที่ 286 ที่ประมวลได้ว่า ผู้สร้างวัดบูรพาราม คือ พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ มเหสีของพระมหาธรรมราชาธิราช กษัตริย์สุโขทัยขณะนั้น

ย่อมแสดงว่า “เจ้าแม่” ผู้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ก็คือ เจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์ ผู้สร้างวัดบูรพาราม และให้สร้างพระพุทธรูปไว้ด้วยกับวัดที่พระนางสร้างไว้นั่นเอง

ในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา กษัตริย์อยุธยาตอนต้น ตั้งแต่สมเด็จพระนครินทราชาธิราช ซึ่งครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 1952 ล้วนสืบเชื้อสายทางพระราชบิดาจาก “ราชวงศ์สุพรรณภูมิ” โดยมีพระราชมารดาเป็นเชื้อสาย “ราชวงศ์สุโขทัย” กล่าวคือความผูกพันระหว่างกรุงศรีอยุธยากับแคว้นสุโขทัยนั้นผ่านทางความผูกพันของผู้นำ โดยฝ่ายชายเป็นราชวงศ์สุพรรณภูมิ กับฝ่ายหญิงที่เป็นราชวงศ์สุโขทัย

“จากหลักฐานที่เป็นพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองที่ยกมาข้างต้น ในที่นี้จึงเป็นการเสนอภาพเพิ่มขึ้นให้เห็นว่า มีการสร้างสายสัมพันธ์สลับกัน โดยฝ่ายชายเป็นสุโขทัย กับหญิงเป็นเจ้านายของราชอาณาจักรอยุธยาด้วย ซึ่งสมมติเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้นว่า เป็นเจ้านายฝ่ายหญิงของราชวงศ์สุพรรณภูมิ (ที่จริงอาจเป็นราชวงศ์ละโว้ อโยธยา ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ก็ได้ หากได้มีการศึกษากันต่อไปและมีเงื่อนไขที่ควรอธิบายเพิ่มเติม)”

พิเศษยังบอกด้วยว่า พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์น่าจะไม่ได้เสด็จมาอย่างโดดเดี่ยว แต่มาพร้อมคณะบุคคลหลายระดับ ทั้งญาติวงศ์พงศา แวดล้อมใกล้ชิด นักปราชญ์ราชบัณฑิต เถรานุเถระทั้งหลาย ขุนนางข้าราชการ และไพร่บ้านพลเมือง โดยวิเคราะห์จากหลักฐานต่างๆ ในยุคสุโขทัย

“ทั้งหมดนี้เป็นภาพรายละเอียดที่แสดงให้เห็นสภาวะครอบงำอย่างหนึ่ง ที่ทางฝ่ายสุพรรณภูมิมีอยู่เหนือราชสำนักของสุโขทัย ก่อนที่จะปรากฏหลักฐานการรวมแว่นแคว้นสุโขทัยเข้าไว้ในราชอาณาจักรอยุธยาอย่างชัดเจนในที่สุด” พิเศษ สรุป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “พบหลักฐาน ‘เจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์’ ไม่ใช่คนสุโขทัย แต่ไปจาก ‘สุพรรณภูมิ’”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือนกรกฎาคม 2554.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กันยายน 2567