4 สิ่งแรกมีในไทย ทำไมเกิดขึ้นที่ “ปากน้ำ” สมุทรปราการ?

ปากน้ำ
รัชกาลที่ 5 เสด็จเปิดทางรถไฟสายปากน้ำ (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

4 สิ่งแรกมีในไทย อันได้แก่ ธงชาติ, โทรเลข, โทรศัพท์ และรถไฟ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ “ปากน้ำ” บ้างเรียก “นครเขื่อนขันธ์” หรือจังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบัน ส่วนเหตุใดเมืองนี้จึงเข้าตากรรมการ ก็ต้องค่อยไปดูกันทีละรายการ

4 สิ่งแรกมีในไทยที่ “ปากน้ำ”

ธงชาติ 

สมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง ไม่เคยมี “ธงชาติ” จนเมื่อมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ เช่น จีน ญี่ปุ่น โปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส ฯลฯ มากขึ้น ราชสำนักอยุธยาพระราชทานที่ดินสำหรับสร้างที่พัก, คลังสินค้าที่บริเวณปากน้ำเจ้าพระยา

Advertisement

พ.ศ. 2205 มีการชักธงขึ้นครั้งแรก เมื่อเรือกำปั่นเลอร์โวตร์ของฝรั่งเศสที่เข้ามาทางปากน้ำได้ชักธงชาติฝั่งเศสขึ้น ราชสำนักอยุธยาที่ยังไม่มีธรรมเนียมการชักธงและไม่มีธงชาติ จึงเอาธงชาติฮอลันดามาใช้ชักขึ้น แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมคำนับธงชาติฮอลันดา อยุธยาจึงเอาธงฮอลันดาลงและเอาผ้าแดงชักขึ้นแทน ธงแดงจึงเป็นธงชาติเรื่อยมา ภายหลังมีการเพิ่มรูป “ช้างเผือก” ที่ผืนธง และมีพัฒนาการจนเป็นธงชาติเช่นปัจจุบัน

ไปรษณีย์โทรเลข

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของระบบการสื่อสารสมัยใหม่ เพื่อให้การส่งข่าวสารทันต่อเหตุการณ์ พ.ศ. 2418 จึงโปรดให้กรมกลาโหมรับหน้าที่ควบคุมกิจการโทรเลข

รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปักเสาพาดสายโทรเลขระหว่างเมืองสมุทรปราการ-กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2418 

พระองค์ยังพระราชทานพระที่นั่งสุขไสยาสน์ ในเขตพระราชวัง ที่สมุทรปราการ ให้เป็นที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขแห่งแรกของเมืองสมุทรปราการ ที่ต้องใช้ระยะทาง 45 กิโลเมตร คดเคี้ยวไปตามภูมิประเทศ เพื่อเลี่ยงการขอสัมปทานของชาวต่างประเทศ เพราะถ้าตกลงกับชาติหนึ่งชาติใดไป ก็จะขัดใจกับชาติอื่น ด้วยขณะนั้นเป็นช่วงของการล่าอาณานิคม

คลองสำโรง บริเวณตลาดโบราณบางพลี อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ (ภาพถ่ายโดยเอนก  นาวิกมูล)

โทรศัพท์

เมื่อมีการคิดค้นระบบการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ ที่สามารถพูดคุยโต้ตอบได้ทันที ระหว่างต้นทาง-ปลายทาง พ.ศ. 2424 รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งระบบโทรศัพท์ในไทย ที่สามารถใช้สายโลหะเดียวกับโทรเลข มีการสั่งโทรศัพท์ 3 เครื่องแรกเข้ามาในประเทศ ใช้ในงานแจ้งข่าวระหว่างกรุงเทพฯ -สมุทรปราการ และกำหนดที่ตั้งโทรศัพท์ ไว้ดังนี้

เครื่องที่ 1 อยู่ที่พระราชอุทยานสราญรมย์ใต้ กรุงเทพฯ, เครื่องที่ 2 อยู่ที่พระที่นั่งสุขไสยาสน์ เมืองสมุทรปราการ และเครื่องที่ 3 อยู่ที่เรือนกระโจมไฟ เมืองสมุทรปราการ

รถไฟ

รถไฟสายปากน้ำ เป็นรถไฟสายแรกของประเทศไทย ดำเนินการโดยบริษัทเอกชนชาวเดนมาร์ก ที่ได้รับสัมปทานระยะยาว เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 แต่ใช้เวลาในการก่อสร้างนานมาก กว่าจะเปิดให้บริการรับส่งผู้โดยสารและสินค้าครั้งแรกก็ใน พ.ศ. 2436

เส้นทางรถไฟเริ่มต้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ ปลายทางที่สถานีปากน้ำ เมืองสมุทรปราการ มีความยาวราว 21 กิโลเมตร รัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์หลักในการสร้างทางรถไฟสายนี้ เพื่อประโยชน์ทางราชการทหาร หากเกิดการสู้รบระหว่างไทย-ฝรั่งเศส บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา หรือวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112

การเกิดขึ้นของ ธงชาติ, โทรเลข, โทรศัพท์ และรถไฟ ที่ปากน้ำ ด้วยเป็นเมืองที่มีความสำคัญในฐานะ “เมืองหน้าด่าน” ของกรุงเทพฯ มาตั้งแต่อดีตนั่นเอง

แผนที่เส้นทางรถไฟสายหัวลำโพง-ปากน้ำ (ปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวถูกยกเลิกแล้ว) แผนที่ถูกเขียนในปี พ.ศ. 2480

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์แลภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรปราการ.คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542.

ชื่อผู้เขียน ไม่ได้ระบุ. ร.ศ. 112 สมุทรปราการ ประตูสู่สยาม, องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กันยายน 2567