“เมืองแพรก” ดินแดนที่พ่อขุนรามคำแหงไม่เคยแผ่อำนาจมาครอบครองอย่างแท้จริง

พ่อขุนรามคำแหง เมืองแพรก
พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ภาพจาก Cloudcolors / Wikimedia commons สิทธิ์การใช้งาน Attribution-Share Alike 3.0 Unported)

เมื่อพูดถึง “เมืองแพรก” หลายคนคงจะนึกถึงศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (ศิลาจารึกหลักที่ 1) เนื่องจากปรากฏชื่อของเมืองนี้ในศิลาจารึก ทั้งยังพูดถึงการที่พ่อขุนรามคำแหงแผ่อำนาจมาครอบคลุมถึงเมืองนี้

แต่แท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?

Advertisement

เมืองแพรกและพ่อขุนรามคำแหง

ภาพจาก Tevaprapas / Wikimedia commons (Public domain)

ในหนังสือประวัติศาสตร์ชัยนาท โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม วิเคราะห์ประเด็นนี้ไว้ว่า หรือที่จริงแล้ว ในยุคสมัยพ่อขุนรามคำแหงอาจไม่เคยแผ่อำนาจมาปกครองเมืองแพรกได้จริง แต่เป็นการอ้างสิทธิ์เท่านั้น 

ผู้เขียนได้ให้เหตุผลไว้ว่า เหตุที่คาดว่าเป็นเช่นนั้น เพราะช่วงที่พ่อขุนรามคำแหงกำลังปกครองบ้านเมือง แถบลุ่มแม่น้ำภาคกลางตอนกลางก็มีศูนย์กลางสำคัญอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ ละโว้และสุพรรณบุรี หรือเมืองเสียน ที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารราชวงศ์หยวน

ภายในนั้นมีข้อมูลปรากฏว่า ใน พ.ศ. 1825 เมืองเสียนได้ส่งบรรณาการไปให้จีน และ พ.ศ. 1839 มาลิยูเออร์ (มลายู) ได้ร้องเรียนจีนว่าเมืองเสียนเข้ามารุกราน

จากข้อมูลที่ปรากฏทำให้ทราบได้ว่า “เมืองเสียน” คือละโว้และสุพรรณบุรี เป็นรัฐอิสระ เนื่องจากจีนจะรับบรรณาการจากรัฐอิสระเท่านั้น ขณะเดียวกันเมืองเสียนก็ต้องมีกำลังทางทหารที่สูงมาก จึงสามารถยกทัพรุกรานเมืองมลายูได้ 

ทำให้คาดได้ว่า เมืองแพรกที่อยู่ใกล้กับสุพรรณบุรี ไม่น่าจะถูกพ่อขุนรามคำแหงเข้าครอบครอง

ภาพถ่ายทางอากาศเหนือแม่น้ำยม เมืองสุโขทัย โดย Robert Larimore Pendleton (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

นอกจากนี้ หลักฐานในจารึกหลักที่ 1 ยังกล่าวว่า “เบื้องตะวันตกรอดเมืองฉอดเมือง…นหงศาพดีสมุทรหาเปนแดน” ซึ่งหากไปดูในหลักฐานพงศาวดารมอญ กลับไม่เคยระบุว่าหงสาวดีเป็นขอบเขตแดนของสุโขทัยในฐานะเมืองประเทศราช มีแค่เพียงว่าหงสาวดียอมรับสุโขทัย เพราะมะกะโท (พระเจ้าฟ้ารั่ว) เป็นลูกเขยพระร่วง

ดังนั้น การที่มีข้อความปรากฏในจารึกหลักที่ 1 ว่าอำนาจแผ่ลงมาถึงนครศรีธรรมราช สุพรรณบุรี และแพรก จึงเป็นเพียงการอ้างถึงเครือข่ายความสัมพันธ์เท่านั้น ไม่ใช่การแผ่อำนาจลงมาครอบงำอย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. ประวัติศาสตร์ชัยนาท. กรุงเทพฯ: มติชน, 2558.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กันยายน 2567