ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2539 |
---|---|
ผู้เขียน | พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ |
เผยแพร่ |
ชื่อเมืองสุพรรณภูมิ ปรากฏอยู่ในจารึกหลักที่ 1 “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย” ศิลาจารึกหลักนี้เป็นจารึกที่เล่าเรื่องราวของเมืองสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามคำแหง ผู้เสวยราชสมบัติที่เมืองสุโขทัยเมื่อประมาณครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 19 ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ประมาณ 50 ปี ในตอนที่กล่าวถึงเมืองสุพรรณภูมินั้นได้จารึกข้อความไว้ว่า
“พ่อขุนพระรามคำแหงนั้น หาเป็นท้าวเป็นพระยา…หาเป็นครูอาจารย์…หาคนจักเสมอมิได้ อาจปราบฝูงข้าเสีก มีเมืองกว้าง ช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออกรอดสระหลวง…เบื้องหัวนอนรอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว”
ความในศิลาจารึกตอนนี้มีความหมายตามตัวอักษรว่า พ่อขุนรามคำแหงนั้นมีความสามารถหลายด้าน หาคนเสมอเหมือนได้ยาก ทางด้านการรบทัพจับศึกนั้นก็สามารถปราบปรามบ้านเมืองต่างๆ ออกไปได้ทั้งสี่ทิศ โดยเฉพาะด้านทิศหัวนอนที่เป็นด้านทิศใต้นั้น ศิลาจารึกได้ระบุชื่อเมืองเรียงตามลำดับตั้งแต่เหนือลงใต้ ไปจนจรดฝั่งทะเลปลายแหลมทองเลยทีเดียว
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อระบุชื่อเมืองผ่านเลย เมืองพระบางซึ่งปัจจุบัน คือท้องที่จังหวัดนครสวรรค์ไปแล้ว ก็เป็นชื่อเมืองที่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมืองทั้งหลายเหล่านี้คือเมืองแพรก ปัจจุบันคือเมืองสรรค์ในเขตท้องที่อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท
เมืองสุพรรณภูมิที่จะกล่าวถึงต่อไป เมืองราชบุรี และเมืองเพชรบุรีที่ยังมีชื่อเรียกสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน เมืองที่กล่าวถึงเหล่านี้ล้วนตั้งอยู่ทางซีกตะวันตกของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสิ้น
วัตถุประสงค์ในการศึกษา
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและทางโบราณคดี เพื่อแสดงว่าเมืองสุพรรณภูมิที่กล่าวถึงในศิลาจารึกหลักที่ 1 นั้น ควรอยู่ที่ใดแน่ และแท้ที่จริงควรมีความสัมพันธ์กับเมืองสุโขทัยในลักษณะใด นอกเหนือจากความหมายตามตัวอักษรที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก
เมืองสุพรรณภูมิอยู่ที่ไหน
จากลำดับการเรียกชื่อเมืองอย่างเป็นระเบียบจากเหนือลงใต้เช่นนี้ เมืองสุพรรณภูมิก็ควรที่จะหมายถึงเมืองสุพรรณบุรีที่รู้จักกันในปัจจุบันนี้ได้ หากแต่ว่าเดิมมิได้คิดว่าจะเป็นเมืองสุพรรณบุรี อาจเป็นเพราะหนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทุกฉบับที่มีอยู่ รวมทั้งฉบับของวันวลิตที่เขียนขึ้นเก่าที่สุดในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อ พ.ศ. 2182 ไม่มีตอนใดในฉบับใดเลยที่เรียกชื่อเมืองสุพรรณบุรีว่าเมืองสุพรรณภูมิ รวมทั้งเรื่องราวที่กล่าวถึงในศิลาจารึกหลักที่ 1 นี้ ก็เป็นเรื่องก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 จึงทำให้คิดกันว่า เมืองสุพรรณบุรีในขณะนั้นยังมิได้เกิดขึ้น เมืองสุพรรณภูมิจึงเป็นเมืองสุพรรณบุรีไม่ได้ ต้องเป็นเมืองอยู่ที่อื่น
อย่างไรก็ดี เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ผลิตขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับสมัยพ่อขุนรามคำแหงที่สุด คือจารึกหลักที่ 48 “จารึกลานทองวัดส่องคบ” พบในเจดีย์วัดส่องคบที่เป็นวัดร้าง ในเขตท้องที่อำเภอเมืองชัยนาท เป็นจารึกในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เมื่อ พ.ศ. 1951 ในจารึกแผ่นนี้ได้มีการระบุชื่อเมืองสุพรรณภูมิสองครั้ง แสดงว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นนี้ เมืองสุพรรณภูมิยังคงอยู่สืบต่อมาจากสมัยที่มีกล่าวไว้ในศิลาจารึกหลักที่ 1
หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งพระรัตนปัญญาเถระ ภิกษุชาวล้านนา ได้แต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีเมื่อ พ.ศ. 2060 หลังจากจารึกลานทองวัดส่องคบประมาณ 100 ปี ในตอนที่เล่าเรื่องพระสีหลปฏิมา หรือพระพุทธสิหิงค์ ได้กล่าวถึง “…วัตติเดชอำมาตย์ ซึ่งครองเมืองสุพรรณภูมิ…” อยู่ด้วยในตอนหนึ่ง วัตติเดชอำมาตย์นี้ตามเรื่องราว หมายถึง ขุนหลวงพ่องั่วขณะที่ครองอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี ก่อนที่จะเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาในพระนาม สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1
จากเอกสารทางประวัติศาสตร์รุ่นเก่าที่ยกขึ้นมากล่าวนี้ แสดงว่า เมืองสุพรรณภูมิในศิลาจารึกหลักที่ 1 นั้น คือเมืองเดียวกันกับเมืองสุพรรณบุรีนั่นเอง และเหตุที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทุกฉบับไม่มีการกล่าวถึงชื่อเมืองสุพรรณภูมิเลย แม้จะเป็นการเล่าเรื่องราวในสมัยที่เมืองสุพรรณบุรียังคงใช้ชื่อว่าสุพรรณภูมิอยู่ก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า หนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเหล่านี้ล้วนแต่เขียนขึ้นในสมัยหลัง สมัยที่มีการเปลี่ยนชื่อเมืองสุพรรณภูมิเป็นชื่อเมืองสุพรรณบุรีแล้ว จึงใช้ชื่อที่รู้จักกันดีแล้วในสมัยที่เขียนพงศาวดารมาเขียนเรื่องราวทุกตอนด้วยชื่อเดียวกันหมด ดังนั้นจึงยังคงปรากฏชื่อเมืองเดิมอยู่ในเอกสารที่มีการผลิตร่วมสมัยกับที่ยังมิได้เปลี่ยนชื่ออยู่เท่านั้น คือในจารึกลานทองวัดส่องคบ กับหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์
หลักฐานทางโบราณคดีของเมืองสุพรรณภูมิ
เมืองสุพรรณบุรีจึงเป็นเมืองที่มีมาก่อนนานแล้ว ตั้งแต่สมัยเดียวกันกับที่พ่อขุนรามคำแหงครองเมืองสุโขทัยเมื่อครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 19 โดยมีชื่อเก่าว่าเมืองสุพรรณภูมิ หลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงว่าเป็นเมืองที่มีอายุเก่าถึงสมัยนั้นได้ คือพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่เรียกว่า พระป่าเลไลยก์ ที่วัดใหญ่หรือวัดป่าเลไลยก์ ในเขตท้องที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เป็นวัดที่อยู่นอกเมืองไปทางทิศตะวันตก
พุทธศิลปะของพระพุทธรูปองค์นี้อาจจะพิจารณายุคสมัยการก่อสร้างได้ลำบาก เนื่องจากได้มีการซ่อมแซมกันหลายครั้งหลายสมัย แต่อาคารแคบๆ ของเดิมอันเป็นที่ประดิษฐานพรุทธรูปองค์นี้นั้น สามารถแสดงได้อย่างชัดเจนถึงแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า “พระคันธกุฎี” อันเป็นสิ่งก่อสร้างที่นิยมทำกันในดินแดนต่างๆ ร่วมสมัยกับสมัยสุโขทัย นอกจากนี้ เจดีย์เรือนธาตุแปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ที่วัดสนามชัย วัดร้างนอกเมืองทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำสุพรรณฯ ในเขตท้องที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรี ก็อาจเป็นหลักฐานทางโบราณคดีอีกชิ้นหนึ่งของเมืองสุพรรณบุรีที่มีมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยที่กล่าวถึงนี้
สิ่งสําคัญที่แสดงว่า ตัวเมืองสุพรรณภูมิกับเมืองสุพรรณบุรีตั้งอยู่ในตำแหน่งเดียวกันคือ ซากกำแพงเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเมื่อทำการขุดค้นทางโบราณคดีได้ปรากฏร่องรอยให้เห็นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ประกอบด้วยกำแพงเมืองป้อมปราการทำด้วยอิฐ มีคูเมืองล้อมรอบ โดยด้านตะวันออกใช้แม่น้ำท่าจีนเป็นคูเมือง แผนผังของเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี ไว้เป็นศูนย์กลางของเมือง โดยมีตัวเมืองอันเป็นที่ตั้งของตัวจังหวัดในปัจจุบัน ซ้อนทับลงบนบริเวณเดียวกัน
ลักษณะเด่นของเมืองนี้คือ การทำป้อมลอยเป็นเกาะอยู่ในคูเมือง ไม่มีส่วนเชื่อมต่อกับกำแพง ลักษณะป้อมอยู่กลางน้ำนี้น่าจะตรงกับที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า “หอโทน” ที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาเพื่อรับศึกพม่า ลักษณะป้อมกลางน้ำนี้มีที่เมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันตกและที่เมืองพิจิตรเก่า
ซึ่งเมืองเมืองเหล่านี้ล้วนมีประวัติการก่อสร้างอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ป้อมและกำแพงเมืองสุพรรณบุรีที่กล่าวถึงนี้ เมื่อพิจารณาร่วมกับแบบศิลปะของปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี อันเป็นศูนย์กลางของเมืองแล้ว สามารถประมาณได้ว่าคงสร้างขึ้นราวหลังพุทธศตวรรษที่ 20 กำแพงเมืองแห่งนี้น่าจะถูกรื้อไปในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ผู้มีพระประสงค์จะรับศึกพม่าที่พระนครศรีอยุธาเป็นหลัก จึงรื้อป้อมกำแพงของเมืองอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบกรุงศรีอยุธยา ป้องกันมิให้พม่ายึดไว้เป็นฐานสู้รบกับกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลายาวนานข้ามปี
จากภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร สามารถเห็นร่องรอยของเมืองสุพรรณบุรีแต่เดิมเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ ปรากฏร่องรายของคูเมืองเดิม มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคร่อมอยู่บนสองฝั่งของแม่น้ำท่าจีน เมืองๆ นี้จึงมีพื้นที่ภายในกำแพงเมืองอยู่บนสองฝั่งของแม่น้ำ คือมีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกอันเป็นฝั่งเดียวกันกับที่ตั้งเมืองที่มีกำแพงก่อด้วยอิฐตามที่กล่าวมาแล้ว ร่องรอยที่เลือนมากของคูเมืองรุ่นเก่ากว่าทางด้านทิศตะวันตกนั้น จะเข้ามาชิดกับแม่น้ำท่าจีน มากกว่าด้านเดียวกันของกำแพงก่อด้วยอิฐของเมืองสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น นั่นคือเมืองสุพรรณบุรีในภาพถ่ายทางอากาศทางฝั่งตะวันตก จะมีพื้นที่น้อยกว่าเมืองสุพรรณบุรีในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
ปัจจุบัน ถ้าพิจารณา ณ ภูมิประเทศที่ตั้งจะไม่เห็นร่องรอยของเมืองสุพรรณบุรีที่มีแม่น้ำผ่านกลางนี้แล้ว นอกจากจะตรวจดูจากภาพถ่ายทางอากาศดังกล่าวแล้วเท่านั้น แสดงถึงการเป็นเมืองรุ่นเก่าที่มีส่วนของเมืองทางฟากตะวันตกของแม่น้ำ ถูกเมืองที่มีกำแพงป้อมปราการก่อด้วยอิฐสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นสร้างซ้อนทับอยู่ ร่องรอยของเมืองในภาพถ่ายทางอากาศดังกล่าวแสดงถึงการเป็นเมืองที่มีอยู่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ดังนั้น เมืองนี้จึงควรเป็นเมืองที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 ระบุชื่อว่า สุพรรณภูมิ นั่นเอง
ความสัมพันธ์ระหว่างสุพรรณภูมิกับสุโขทัย
ศิลาจารึกหลักที่ 1 ตอนที่กล่าวถึงความสามารถของพ่อขุนรามคำแหง ที่ปราบบ้านเมืองใหญ่น้อยออกไปทั้ง 4 ทิศนั้น นักวิชาการส่วนมากเห็นว่าเป็นการกล่าวเกินจริง น่าจะเป็นถ้อยคำที่คิดขึ้นเพื่อยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหงมากกว่า อย่างไรก็ดี การที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 เมื่อกล่าวถึงบ้านเมืองที่ปราบได้ทางทิศใต้ มีลักษณะการเลือกกล่าวเฉพาะเมืองที่อยู่ทางฟากตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ดังได้ให้ข้อสังเกตไว้แต่ต้นแล้ว การที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 เลือกกล่าวเฉพาะกลุ่มเมืองดังกล่าวนี้ อย่างน้อยย่อมแสดงข้อเท็จจริงบางประการในลักษณะความสัมพันธ์กับเมืองสุโขทัยอย่างแน่นอน
โดยเฉพาะเมืองสุพรรณภูมิหรือเมืองสุพรรณบุรี ร่องรอยความสัมพันธ์กับดินแดนสุโขทัยแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดทั้งที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดี คือลักษณะของการสร้างเมืองกับลักษณะทางพุทธศิลปะในสมัยต่อมาที่มีความคล้ายคลึงกัน ส่วนหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นก็ปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ตามเวลา ล่วงผ่านไปหลังจากที่แสดงให้เห็นในศิลาจารึกหลักที่ 1 แล้ว คือ ลักษณะการบอกเล่าเป็นตำนานในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์และหนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์ โดยในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์เล่าว่า เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ยึดเมืองชัยนาทหรือสองแควได้ไปจากพระมหาธรรมราชาลิไทแล้ว พระองค์ก็ได้ให้ขุนหลวงพ่องั่วแห่งเมืองสุพรรณภูมิมาครองเมืองนี้
การที่มีการเล่าเรื่องเช่นนี้ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ น่าจะเป็นเพราะผู้แต่งหนังสือเล่มนี้มีความรู้เกี่ยวกับลักษณะความเกี่ยวข้องของบุคคลของเมืองสุพรรณบุรีกับเมืองสุโขทัย หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ได้กล่าวต่อไปอีกว่า พระมหาธรรมราชาลิไทได้เมืองสองแควคืนโดยการทูลขอจากสมเด็จพระรามาธิบดี ขุนหลวงพ่อจั่วจึงเสด็จกลับเมืองสุพรรณภูมิอย่างเดิม
หนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์ได้เล่าเรื่องเดียวกันนี้ต่อไปอีกในลักษณะตำนานว่า เมื่อพระมหาธรรมราชาลิไทสวรรคตลง กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาได้นำพระพุทธสิหิงค์ไปยังพระนครของพระองค์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเรื่องตำนานในตอนนี้กับเวลาทางประวัติศาสตร์จะตรงกับสมัยที่ขุนหลวงพ่องั่วจากเมืองสุพรรณบุรีมาเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แล้ว แต่ตำนานในหนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์ยังคงเรียกกษัตริย์ของอยุธยาในสมัยนี้ว่าพระเจ้ารามาธิบดีเหมือนเช่นเดิม แต่ก็มีในบางครั้งที่เรียกว่าเจ้าเดช ซึ่งตรงกันกับวัตติเดชในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ อันหมายถึงขุนหลวงพ่องั่วแห่งเมืองสุพรรณบุรี
เรื่องที่เล่าในนิทานพระพุทธสิหิงค์ในลักษณะตำนานตอนนี้นั้น ได้แสดงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์สุโขทัยกับราชวงศ์สุพรรณบุรีอย่างชัดเจน โดยเล่าว่า ครั้งหนึ่งเจ้าเมืองกำแพงเพชรซึ่งเป็นเชื้อสายทางสุโขทัย อยากได้พระพุทธสิหิงค์กลับคืนมา พระองค์จึงทำอุบายส่งพระมารดาของพระองค์ไปถวายกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา พระนางได้ทำตนให้พระราชาลุ่มหลงเพื่อทูลขอพระพุทธสิหิงค์กลับคืนมาให้พระโอรสของพระนางจนเป็นผลสำเร็จ
ความสัมพันธ์ในเรื่องการแต่งงานเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกัน ระหว่างราชวงศ์สุพรรณบุรีกับราชวงศ์สุโขทัย ได้ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นบันทึกเรื่องราวอย่างชัดเจน ในจารึกหลักที่ 38 “ศิลาจารึกกฎหมายลักษณะโจร” ที่กล่าวถึงเชื้อพระวงศ์จากภาคกลางพระองค์หนึ่ง ซึ่งตามหลักฐานแวดล้อมทางประวัติศาสตร์น่าจะหมายถึงเจ้านครอินทร์แห่งสุพรรณบุรี ก่อนที่จะได้ราชสมบัติเป็นสมเด็จพระนครินทราชาธิราชเหนือราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา ตามศิลาจารึกหลักนี้พระองค์ได้เสด็จมาเสวยราชย์ที่เมืองกำแพงเพชรเมื่อ พ.ศ. 1940 พระองค์มีพระมารดาและเครือญาติทางฝ่ายพระมารดาเป็นเจ้าเมืองต่าง ๆ ในดินแดนสุโขทัยด้วย
ในที่สุด หลักฐานลายลักษณ์อักษรที่เป็นจารึกหลักที่ 49 “ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์” ได้แสดงอย่างชัดเจนไม่มีข้อสงสัยว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยา โอรสของสมเด็จพระนครินทราชาธิราชแห่งราชวงศ์สุพรรณบุรี พระองค์ก็มีพระมารดาเป็นเจ้าหญิงของสุโขทัย และตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปก็มักจะปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาราชวงศ์สุพรรณบุรี มักจะมีเชื้อสายทางมารดามาจากราชวงศ์สุโขทัย เป็นเช่นนี้จนกระทั่งถึงเวลาเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 1
สรุป
เมืองสุพรรณภูมิที่ปรากฏชื่ออยู่ในจารึกหลักที่ 1 “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย” นั้น คือเมืองเดียวกันกับที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสุพรรณบุรี ข้อความที่กล่าวในศิลาจารึกหลักนี้ถึงความเก่งกล้าของพ่อขุนรามคำแหง ที่ทรงปราบปรามบ้านเมืองน้อยใหญ่ออกไปไกลทั้ง 4 ทิศ แม้จะไม่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการส่วนมากว่าจะเป็นข้อเท็จจริงตามความหมายที่เป็นตัวอักษร แต่ความหมายในเรื่องความสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งที่เมืองสุโขทัยมีกับเมืองเหล่านั้นก็เป็นที่ยอมรับได้ โดยเฉพาะเมืองสุพรรณภูมิหรือภายหลังคือเมืองสุพรรณบุรี ที่ถูกระบุชื่อว่าเป็นเมืองที่อยู่ใต้อำนาจ การปราบปรามของพ่อขุนรามคำแหงนั้น สามารถแสดงเค้าเงื่อนความสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างเมืองสุโขทัยกับเมืองสุพรรณบุรีได้ในระยะแรกเริ่ม
เมื่อกาลเวลาล่วงไป หลักฐานที่ผลิตขึ้นตามช่วงเวลานั้น ๆ ที่มีลักษณะเป็นเรื่องตำนาน และในที่สุดก็เป็นลักษณะการบอกเรื่องราวในศิลาจารึก ก็ได้ให้ข้อเท็จจริงของลักษณะความสัมพันธ์การเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันระหว่างราชวงศ์ทั้งสอง ซึ่งสามารถนำย้อนไปขยายภาพความสัมพันธ์ของราชวงศ์ทั้งสองที่เห็นเค้าเงื่อนอยู่บ้างในศิลาจารึกที่กล่าวถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหงว่า การเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันระหว่างราชวงศ์ของสุพรรณบุรีกับของสุโขทัยนั้น น่าจะมีมานานแล้วอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง
บรรณานุกรม :
ดํารงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. พระราชพงศาวดารฉบับพระราช หัตถเลขา เล่ม 1. กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, 2535.
ประเสริฐ ณ นคร. ผลงานค้นคว้าประวัติศาสตร์ไทยและเรื่องของเกลือ (ไม่) เค็ม. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2514.
พระโพธิรังสี. นิทานพระพุทธสิหิงค์ แปล โดย แสง มนวิทูร, พระนคร : กรมศิลปากร, 2506.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “บทบาทของขุนหลวงพ่องั่วที่มีต่อราชวงศ์สุโขทัย” ใน ศาสนาและการเมืองสุโขทัย, หน้า 2-10. กรุงเทพมหานคร : สํานักพิมพ์เจ้าพระยา, 2528.
รัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์ แปล โดย แสง มนวิทูร พระนคร : กรมศิลปากร, 2501.
สันติ เล็กสุขุม. “ลายกรอบสามเหลี่ยมประกอบจากวงโค้ง : อิทธิพลศิลปะจีนในรัชกาล สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ.” ใน รวมบทความ ทางวิชาการ 72 พรรษาท่านอาจารย์ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล, หน้า 91-98. กรุงเทพ มหานคร : บริษัท พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จํากัด, 2538
“หลักที่ 1 ศิลาจารึกพ่อขุนรามคําแหง จังหวัดสุโขทัย” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1. หน้า 15-23. กรุงเทพมหานคร : คณะกรรมการ พิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สํานักนายกรัฐมนตรี, 2521.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 สิงหาคม 2565