รัชกาลที่ 6 ทรงตัดพ้อ “คนใกล้ตัว” เป็นเหตุแห่งความยุ่งเหยิงช่วงต้นรัชกาล

รัชกาลที่ 6 นาคหลวง คนใกล้ตัว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระราชดำรัสว่า เมื่อแรกทรงขึ้นครองราชย์ “คนใกล้ตัว” เป็นเหตุให้ต้นรัชกาลของพระองค์ยุ่งเหยิง จนพระองค์เกือบทรงรับสั่ง “ช่วยฉันให้พ้นจากมิตร์ของฉันทีเถิด?”

ขอเริ่มจาก “ฐานะ” ของรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระบรมราชชนก ดังจะเห็นได้ว่า ทรงสถาปนาเฉลิมพระอิสริยยศพระองค์ขึ้นเป็น “สยามมกุฎราชกุมาร” ซึ่งหมายถึงองค์รัชทายาท รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้เป็น “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2450) ฯลฯ

Advertisement

หรือในยามปกติ สมเด็จพระบรมราชชนกก็ทรงให้พระองค์เป็นผู้แทนพระองค์ในงานพระราชพิธี, ทรงมอบอำนาจให้กำกับดูแลราชการต่างๆ, เมื่อรัชกาลที่ 6 ครั้งยังทรงเป็นมกุฎราชกุมารเสด็จประพาสหัวเมือง รัชกาลที่ 5 ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบอำนาจให้ไปตรวจราชการ ฯลฯ

แม้เจ้านายและข้าราชการส่วนใหญ่ยอมรับเชื่อถือต่อพระองค์ แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธ และพยายามทำให้พระองค์ถูกกริ้ว, พยายามทำให้พระองค์ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย, พยายามสร้างความแตกแยกระหว่างพระองค์กับพระประยูรญาติ ฯลฯ 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ชุดพลเอกแห่งกรมทหารราบเบาเดอรัม (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสภาพ 22 M00032)

“คนใกล้ตัว” ทำต้นรัชกาลยุ่งเหยิง?

เรื่องราวเหล่านี้ปรากฏในพระราชนิพนธ์ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ตอนที่ว่า

“การที่มุ่งร้ายหมายทําการเพราะความแตกร้าวเช่นนั้น ก็เพราะ…เห็นว่าประโยชน์ของตนคือประโยชน์ของฉันนั้น หาได้เล็งเห็นเช่นที่ควรนั้นไม่ ความตั้งใจของญาติสนิทของฉันดูมีอยู่โดยมากแต่เพียงว่า ถ้าฉันได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ตัวเขาก็จะได้ใช้ฉันเป็นเครื่องมือสําหรับดําเนิรกิจการของเขาได้โดยสดวก

ฉนั้นความมุ่งหมายจึงมีอยู่เพียงแต่ว่า จะต้องดัดแปลง ‘เครื่องมือ’ นั้นไว้ล่วงหน้า หานึกไม่ว่าฉันเป็นมนุษ…เมื่อแนะนําหรือสอนให้ฉันคิดฉันเตรียมการใดๆ แล้วฉันไม่ยอมตามก็โกรธ และนินทาฉันให้ผู้น้อยฟัง…” (สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

เหตุนี้ทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงตัดพ้อว่า

“คนอื่นๆ (คือ ผู้ที่ไม่ใช่ญาติสนิทหรือเสวกสนิทของฉัน) นับถือฉันว่าเป็นคนสุจริต และกอบด้วยยุติธรรม แต่คนที่เรียกว่า ‘พวกเรา’ เห็นฉันเป็นผู้ที่บกพร่องในคุณสมบัติ, เช่นว่า ‘อ่อนไป’ บ้าง ‘ดื้อไป’ บ้าง ‘โง่ไป’ บ้าง ‘เชื่อคนยุยง’ บ้าง รวมความว่าไม่ได้อย่างใจเขานั้นแหละ…”

เป็นที่มาให้พระองค์ทรงอดกลั้น ที่จะไม่รับสั่งว่า “ช่วยฉันให้พ้นจากมิตร์ของฉันทีเถิด?” 

ส่วน “คนใกล้ตัว” ที่ทรงรับสั่งถึงเป็นใครบ้างนั้น ไม่ได้ทรงระบุพระนามหรือนามไว้ ด้วย “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” เป็นพระราชนิพนธ์ที่ทรงมอบให้เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ข้าราชบริพารใกล้ชิด ย่อมพอจะทราบว่าผู้ที่รับสั่งถึงคือใคร ที่เป็นเหตุให้ต้นรัชกาลของพระองค์ยุ่งเหยิง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6, สำนักพิมพ์มติชน 2545.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 สิงหาคม 2567