ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
การที่จะครองตำแหน่ง “พระมเหสี” หรือได้เข้ามาเป็น “พระสนม” รับใช้ “ฮ่องเต้” นอกจากจะต้องมีความสวยและโดดเด่นในเรื่องความสามารถ อีกสิ่งหนึ่งที่พระมเหสีและพระสนมต้องมีไม่แพ้กันคือการมีคุณธรรม
ในรัชศกเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง จึงได้มีการวาดภาพบอกเล่าเรื่องราวของพระมเหสีและพระสนมที่มีคุณธรรมบน “ภาพสอนชาววัง” 12 ภาพ เพื่อยกย่องคุณธรรมของสตรี ซึ่งจะแขวนไว้ใน “ตงลิ่วกง” (พระตำหนักตะวันออกทั้งหก) และ “ซีลิ่วกง” (พระตำหนักตะวันตกทั้งหก) ดังนี้…
รายพระนามพระมเหสีและพระสนมผู้มีคุณธรรมทั้ง 12 พระองค์
ตงลิ่วกง
1. จิ่งเหรินกง ปรากฏภาพ “เยี่ยนจี๋ฝันถึงกล้วยไม้” แปลความถึงการมีวิสัยทัศน์
ในยุคชุนชิว “เยี่ยนจี๋” สนมของเจิ้งเหวินกง ฝันเห็นกล้วยไม้ เมื่อให้กำเนิดมู่กง จึงตั้งชื่อว่า “หลาน” ที่แปลว่ากล้วยไม้
2. เฉิงเฉียนกง ปรากฏภาพ “สีว์เฟยทูลแนะนำอย่างตรงไปตรงมา” แปลความถึงความภักดีและตรงไปตรงมา
เมื่อครั้งจักรพรรดิถังไท่จงเสด็จประพาสไปยังอี้ว์ฮว๋ากง ที่เพิ่งสร้างเสร็จ สีว์หุ้ยผู้ตามเสด็จได้ถวายฎีกาถึงพระองค์ ความว่า “ขอให้พระองค์อย่าใช้แรงงานทหารและกองทัพมากไป โปรดหยุดงานก่อสร้างขนาดใหญ่ด้วยเถิด” จักรพรรดิถังไท่จงได้อ่านก็ชื่นชมในตัวสนมผู้นี้มาก
3. จงชุ่ยกง ปรากฏภาพ “สี่โฮ่ว์ยกถาด” แปลความถึงการเคารพผู้อาวุโส
พระมเหสีในจักรพรรดิฮั่นเซวียนตี้นามว่าสี่ว์ผิงจวิน ได้รับพระเมตตาและความรักจากองค์ไท่โฮ่วเป็นอันมาก พระนางปรนนิบัติรับใช้ไท่โฮ่วเสมอมา และใช้ชีวิตอย่างสมถะ
4. เหยียนสี่กง ปรากฏภาพ “เฉาโฮ่วยกย่องการเกษตร” แปลความถึงความขยันขันแข็ง
พระมเหสีเฉาของจักรพรรดิเหรินจง สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ได้ปลูกธัญพืชทั้ง 5 ทำไร่ไถนา รวมถึงเลี้ยงไหม จนได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายในผู้ทรงปัญญาในหน้าประวัติศาสตร์
5. หย่งเหอกง ปรากฏภาพ “ฝานจีทูลเตือนเรื่องล่าสัตว์” แปลความถึงการให้คำแนะนำ
พระชายาฝานจี แห่งยุคชุนชิว ได้มีความคิดอยากจะให้พระสวามีนั้นเลิกล่าสุด พระนางจึงตัดสินใจไม่รับประทานเนื้อสัตว์ จนกษัตริย์จ้วงก็คล้อยตาม เลิกฆ่าสัตว์ และทุ่มเทชีวิตให้กับการบริหารบ้านเมือง จน 3 ปีให้หลังแผ่นดินก็ยิ่งใหญ่
6. จิ่งหยางกง ปรากฏภาพ “หม่าโฮ่วซักผ้า” แปลความถึงความสมถะ
พระมเหสีหม่าในจักรพรรดิกวงอู่ สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เป็นผู้ที่มีชีวิตเรียบง่ายและเป็นคนที่ละเอียดรอบคอบตั้งแต่เด็ก เมื่อได้มาเป็นมเหสีก็ยังยึดหลักนี้อยู่และยังคงซักฉลองพระองค์ของตนเองบ่อยครั้ง จึงได้ชื่อว่าเป็นพระมเหสีที่มีความสมถะ
ซีลิ่วกง
7. หย่งโซ่วกง ปรากฏภาพ “ปานจีปฏิเสธขึ้นเกี้ยว” แปลความถึงการรู้กาลเทศะ
“ปานจี” ถือเป็นพระสนมที่ฮ่องเต้เฉิงตี้แห่งราชวงศ์ฮั่นโปรดปรานมาก วันหนึ่งได้มีรับสั่งให้สร้างเกี้ยวที่นั่งคู่กัน 2 คนเพื่อออกเสด็จร่วมกัน แต่ปานจีกล่าวว่าที่นั่งข้าง ๆ ของจักรพรรดิควรเป็นขุนนางมีชื่อ หากพระองค์อยู่กับพระสนมทั้งวันก็อาจจะทำให้บ้านเมืองล่มจม ซึ่งพระองค์ก็เห็นด้วย และเมื่อเรื่องถึงหูมารดาของฮ่องเต้ พระนางก็ปิติยิ่ง
8. อี้คุนกง ปรากฏภาพ “เจาหรงวิจารณ์บทกวี” แปลความถึงการมีความรู้
ซ่างกวนเจาหรง เป็นขุนนางสตรี กวี และพระสนมระดับหวงเฟยในสมัยราชวงศ์ถัง พระนางชื่นชอบการอ่านหนังสือตั้งแต่เล็ก จนพระนางอู่เจ๋อเทียนได้มอบหมายหน้าที่สำคัญให้ จนได้รับฉายาว่า “อัครมหาเสนาบดีหญิง” โดยสมัยจักรพรรดิจงจง พระนางได้วิจารณ์บทกวีที่ทะเลสาบคุนหมิงอย่างกระชับและตรงประเด็น เป็นเรื่องที่เล่าขานมาอย่างยาวนาน
9. ฉู่ซิ่วกง ปรากฏภาพ “ซีหลิงสอนเลี้ยงหนอนไหม” แปลความถึงการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
ซีหลิง เป็นหยวนเฟยของกษัตริย์เหลืองหรือเซวียนหยวน มีเรื่องเล่าว่าพระนางเป็นผู้คิดค้นการเลี้ยงหนอนไหมของจีน จนได้รับการยกย่องให้เป็น “เหลยจู่ผู้ริเริ่มการเลี้ยงหนอนไหม”
10. ฉี่เสียงกง ปรากฏภาพ “เจียงโฮ่วปลดปิ่น” แปลความถึงการช่วยเหลือสามี
พระนางเจียงโฮ่ว เป็นมเหสีผู้มีคุณธรรมและสำรวมของโจวเซวียนหวัง วันหนึ่งโจวเสวียนหวังตื่นบรรทมสาย พระนางเห็นว่าเป็นความผิดของตนเองที่ทำให้สวามีละเลยหน้าที่ จึงปลดตัวเองเป็นสามัญชน ไปยืนริมถนนเพื่อรับโทษ เมื่อพระสวามีเห็นก็ละอายใจ มุ่งมั่นในงานหลวงตลอดมา จนกลายเป็นกษัตริย์ผู้เก่งกาจแห่งราชวงศ์โจว
11. ฉางชุนกง ปรากฏภาพ “ไท่ซื่อสอนบุตร” แปลความถึงการให้การศึกษาแก่บุตร
ไท่ซื่อเป็นเจิ้งเฟยในโจวเหวินหวัง และเป็นมารดาของโจวอู่หวัง พระนางมีรูปโฉมงาม เฉลียวฉลาด เพียบพร้อมทุกด้าน คนในวังหลวงต่างให้ความเคารพพระนาง และต่างเรียกกันว่า “แม่เหวิน”
12. เสียนฝูกง ปรากฏภาพ “เจี๋ยอี๋ว์ป้องกันหมี” แปลความถึงความกล้าหาญ
ครั้งหนึ่งจักรพรรดิหยวนตี้แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตกกำลังชมละครสัตว์อยู่ กระทั่งได้มีหมีหลุดออกไป ผู้คนต่างวิ่งหนีเอาชีวิตรอด มีเพียง “เจี๋ยอี๋ว์” เท่านั้นที่เข้ามาช่วยพระองค์ จนราชองครักษ์สามารถฆ่าหมีตัวนั้นได้ พระองค์จึงให้การยอมรับเจี๋ยอี๋ว์มากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม :
- ข้อความ(ไม่)ลับ บน “แหวนแต่งงาน” ของ “ผู่อี๋” จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ชิง
- “เฉิ่นหยาง” เมืองหลวงเก่าราชวงศ์ชิง ถิ่นบรรพชนแมนจู ก่อนย้ายไปนครปักกิ่ง
- ทำไม “ปูยี” สละบัลลังก์ไป 12 ปี ถึงเพิ่งออกจากพระราชวังต้องห้าม
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
จ้าวกว่างเชา. แปลโดย อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และชาญ ธนประกอบ. ร้อยเรื่องราว วังต้องห้าม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2560
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 สิงหาคม 2567