ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ย่านทองหล่อถือเป็นย่านในกรุงเทพมหานคร ที่ได้ชื่อว่ามีราคาที่ดินสูงอีกที่หนึ่ง เนื่องด้วยความเจริญที่เข้าถึงอย่างเต็มขั้น ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า รถไฟฟ้า บริษัทมากมายที่รวมศูนย์ที่นี่ ฯลฯ
จากการคาดการณ์ในปี 2566 ของ “โสภณ พรโชคชัย” ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียล เอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด ได้กล่าวไว้ว่าที่ดินช่วงต้นถนนทองหล่อมีราคาประมาณ 2.0-2.2 ล้านบาทต่อตารางวา และกลางถนนทองหล่อราคา 1.85 ล้านบาทต่อตารางวา เพิ่มขึ้นประมาณ 9.2% ต่อปี
ขณะที่ปี 2567 ภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย ได้กล่าวไว้ว่าถนนสุขุมวิทและทองหล่อมีราคาประมาณ 2.6 ล้านบาทต่อตารางวา
ราคาที่สูงขึ้นนี้สอดคล้องกับความเจริญที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ของย่าน “ทองหล่อ” ที่เต็มไปด้วยตึกอาคาร ห้างสรรพสินค้า การเดินทางที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบายให้กับผู้ที่อยู่อาศัย
แต่กว่า “ทองหล่อ” จะมีราคาที่ดินต่อตารางวาที่สูงขนาดนี้ ย่านนี้เคยเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญและมีราคาที่ดินอันน้อยนิดมาก่อน
“ทองหล่อ” เป็นถนนที่คาดว่ามีที่มาจาก 2 เรื่องเล่า บ้างก็ว่ามาจากนายทหารเรือชื่อว่า “ทองหล่อ (ทหาร) ขำหิรัญ” หนึ่งในคณะราษฎรที่ใกล้ชิดกับ “ปรีดี พนมยงค์” อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ส่วนอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคาดว่ามาจากชื่อของ “ทองหล่อ ทองบุญรอด” โดยท่านเป็นผู้จัดสรรที่ดิน ทำอสังหาริมทรัพย์ จนคนใช้ชื่อท่านมาเรียกแทนถนนเส้นนี้
ในอดีตทองหล่อเป็นพื้นที่ห่างไกลผู้คน ในหนังสือ “วานนี้ที่สุขุมวิท” ของ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ เคยบรรยายถึงบรรยากาศของสุขุมวิท ช่วง พ.ศ. 2504-2530 ซึ่งทองหล่อก็เป็นหนึ่งในพื้นที่นั้น ว่า…
“…เมื่อพ่อและแม่บอกว่าเราจะย้ายไปอยู่ที่ซอยบ้านกล้วยใต้ ถนนสุขุมวิท ซึ่งอยู่ที่ไหนไม่รู้ ผมจึงรู้สึกคล้ายกับจะต้องย้ายไปอยู่โลกดาวอังคารเลยทีเดียว”
“ซอยบ้านกล้วยใต้นี้เป็นซอยเชื่อมระหว่างถนนสุขุมวิทกับถนนพระราม 4 สภาพถนนเวลานั้นอย่าไปนึกถึงถนนคอนกรีตหรือถนนลาดยางอะไรเลย คำว่า ‘ถนน’ คือถนนดินครับ”
ยิ่งไปกว่านั้น ครอบครัวของผู้เขียน ไม่ว่าจะเป็น พ่อหรือลูก ยังต้องช่วยกันร่วมแรงร่วมใจสร้างถนนหน้าบ้านขึ้นมา เพื่อให้รถยนต์เข้าไปในบ้านได้อีกด้วย
“…พ่อและลูกอีก 2 คนต้องช่วยกัน ‘ทำถนน’ เนื่องจากว่าเมื่อเราย้ายบ้านจากซอยอารีย์ไปอยู่บ้านกล้วยใต้นั้น สถานการณ์บังคับให้พ่อกับแม่ต้องซื้อรถโฟล์กสวาเกน ที่เรียกว่า ‘โฟล์กเต่า’…ถนนภายในบ้านของเราที่กล่าวถึงนี้ คำว่า ‘ถนน’ อาจจะชวนทำให้เข้าใจผิดไปไกล ถ้าเรียกว่าทางเกวียนหรือทางลำลองแล้วอาจจะใกล้เคียงความจริงมากกว่า เราทุกคนช่วยกันนำจ๊อมาทุบให้แตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้ววางเรียงลงเป็นแนวตามเส้นทางที่ล้อจะบดไป…”
ไม่เพียงแค่ธงทองจะบรรยายไว้ แต่ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษของคุณแม่พะเยีย (บุลสุข) หิมะทองคำ ก็มีพูดถึงภาพของซอยที่อยู่ตรงข้ามกับซอยทองหล่อไว้อีกด้วยว่า…
“หลังสงครามไม่นานนัก ครอบครัวเราย้ายมาปลูกบ้านอยู่ที่สุขุมวิท 38 แต่ก่อนเรียกกันว่าซอยสันติสุข อยู่ตรงข้ามซอยทองหล่อ ตามคำชักชวนของเพื่อสนิทป๋า (คุณหญิงอำภา สุรการบรรณสิทธิ์) ซึ่งสนิทสนมกันยิ่งกว่าญาติ
ที่ดินแถบสุขุมวิทเมื่อห้าสิบกว่าปีก่อนนั้นราคาถูกมากเพราะความเจริญยังมาไม่ถึง ส่วนใหญ่เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงวัว ตอนเด็กๆ ยังจำได้ว่าเจ้าของที่ดินข้างบ้านยังให้เช่าที่เพื่อทำนาอยู่เลย เวลาฝนตกน้ำท่วมจะมีทั้งปลาหมอและปูนาขึ้นมายั้วเยี้ยไปหมด เป็นที่ถูกใจเด็กๆ มากที่จะได้ไล่จับ
สมัยนั้นถนนสุขุมวิทฝั่งเลขคู่ยังมีคลองยาวขนานไปกับถนน เวลาเข้าซอยจะต้องข้ามสะพานข้ามคลอง แต่ในระยะหลังขยายถนน คลองจึงถูกถมไป”
จากบรรยากาศที่อธิบาย คงทำให้พอเห็นภาพความเจริญที่ยังเข้าไม่ถึงพื้นที่ดังกล่าว จึงทำให้ในสมัยนั้นราคาที่ดินทองหล่อไม่ได้สูงลิ่วเหมือนปัจจุบัน อย่างข้อมูลที่ปรากฏราคาที่ดินทองหล่อ ใน พ.ศ. 2485
เปิดราคาที่ดินย่านทองหล่อ พ.ศ. 2485
เพจ “เทวสถาน สำหรับพระนคร โบสถ์พราหมณ์” เคยให้ข้อมูลถึงราคาที่ดินทองหล่อ พ.ศ. 2485 ซึ่งตรงกับยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามไว้ว่า “ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ทองหล่อที่ดินตารางวาละ ๐.๗๕ สตางค์”
ขณะที่ราคาทองคำในช่วงปลายทศวรรษ 2500 มีมูลค่าประมาณบาทละ 400 บาท
จะเห็นได้ว่าราคาที่ดินทองหล่อในอดีตยังมีราคาไม่สูงมากนัก ทว่าเมื่อมีความเจริญเข้ามา ต่างชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงสงคราม ก็ทำให้พื้นที่ย่านทองหล่อได้รับความนิยมและมีราคาสูงขึ้นอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- ชื่อ “ซอยทองหล่อ” มาจากไหน? ฤๅจะเป็นชื่อทหารในคณะราษฎร หรือนักธุรกิจจัดสรรที่ดิน?
- รัชกาลที่ 4 ทรงอนุญาตให้ฝรั่งซื้อที่ดิน “เพราะว่าคนนอกมักใจใหญ่ใจโตซื้อแพงๆ”
- “โฉนดที่ดิน” ฉบับแรกของไทยเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ใครเป็นเจ้าของ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ธงทอง จันทรางศุ. วานนี้ที่สุขุมวิท. กรุงเทพฯ: มติชน, 2561
https://www.silpa-mag.com/history/article_65512
https://www.facebook.com/share/p/umAfVZN86v8WBQBV
https://www.bangkokbiznews.com/property/1114811
https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_6948113
หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ คุณแม่พะเยีย (บุลสุข) หิมะทองคำ ณ เมรุวัดธาตุทอง พ.ศ. 2548
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 สิงหาคม 2567