รัชกาลที่ 4 ทรงอนุญาตให้ฝรั่งซื้อที่ดิน “เพราะว่าคนนอกมักใจใหญ่ใจโตซื้อแพงๆ”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขุนนางวังหน้า พระปิ่นเกล้า ทรงอนุญาต ฝรั่งซื้อที่ดิน
(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, (ขวา) พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังจากสยามทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2398 ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันตก เดินทางเข้ามาในสยามมากขึ้น ทั้งด้วยเหตุผลเรื่องการค้าขาย การเผยแผ่ศาสนา เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องมีที่พักอาศัย นานเข้าก็ต้องการตั้งรกราก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ฝรั่งซื้อที่ดินหรือเช่าที่ดินได้

ฝรั่งซื้อที่ดิน สมัยรัชกาลที่ 4

เรื่องนี้ปรากฏใน ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาค 3 “ประกาศว่าด้วยเขตรที่ซึ่งฝรั่งจะเช่าฤๅซื้อได้” โดยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระบรมราชโองการให้ประกาศแก่ราษฎรชาวบางกอก และราษฎรที่อยู่ในแขวงหัวเมืองชั้นในใกล้ๆ เช่น ปากลัด ปากน้ำ ท่าจีน นครไชยศรี ตลาดขวัญ สามโคก อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี นครนายก แปดริ้ว พริบพรี (เพชรบุรี) ฯลฯ ทั้งที่เป็นคนไทยลาว เขมร มอญ พม่า จีน ญวน แขก ฝรั่งเดิมทั้งปวงให้รู้โดยทั่วกันว่า

พระองค์และพระปิ่นเกล้า ทรงมีพระราชดำริเห็นพ้องกับความคิดของเสนาบดี ในการทำนุบำรุงบ้านเมืองและราษฎรให้มีทางทำกินและค้าขายให้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น

ถนนบำรุงเมือง ฝรั่งซื้อที่ดิน
สภาพบ้านเมืองในกรุงเทพฯ เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ในภาพคือถนนบำรุงเมือง ตัดตรงจากพระบรมมหาราชวังไปทางทิศตะวันออกถึงวัดสุทัศนเทพวราราม ทับบนแนวถนนเดิมจากประตูผีไปยังวัดสระเกศ

“ครั้งนี้คนชาติที่มีผิวขาวที่เรียกว่าฝรั่งนอก เข้ามาทำสัญญาว่าจะขอเข้ามาซื้อที่อยู่ ตั้งทำมาหากินในพระราชอาณาจักรนี้ คล้ายกันกับจีนและชาวประเทศอื่นซึ่งเข้ามาอยู่แต่ก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ยอมให้พวกฝรั่งนอกซื้อที่เช่าที่ในเขตร์แขวงที่ไม่ใกล้ไม่ไกลนักแต่กรุงเทพมหานคร คือในภายในพระนคร และห่างกำแพงพระนครออกไปเพียงสองร้อยเส้นเข้ามาโดยรอบ”

ในพื้นที่พระนครและที่ห่างกำแพงพระนครออกไปไม่เกิน 200 เส้น (1 เส้นเท่ากับ 40 เมตร ดังนั้น 200 เส้นจึงเท่ากับ 8,000 เมตร หรือ 8 กิโลเมตร) ห้ามราษฎรขายที่ดินให้คนนอกประเทศ หรืออีกนัยก็คือฝรั่งที่เข้ามาอยู่ไม่ถึง 10 ปี แต่สามารถปล่อยเช่าที่ดินได้

หากเจ้าของที่ต้องการปล่อยเช่า ให้ทำหนังสือสัญญาต่อหน้ารั้วแขวงอำเภอและเจ้าพนักงานให้รู้เห็นเป็นพยาน อย่าขายด้วยวาจาว่าจะให้เช่า แล้วเอาเงินล่วงหน้ามากกว่ากำหนดเช่าตามเดือนหรือตามปี

“ถ้าร้อนรนจะใคร่ได้เงินมาก จะขายที่กับคนนอกทีเดียวด้วยอยากจะได้เงินเร็วๆ ก็ให้กราบเรียนท่านเสนาบดีก่อน เมื่อท่านเสนาบดียอมให้ขายจึงขายได้”

บางกอก สมัย รัชกาลที่ 4 ฝรั่งซื้อที่ดิน
สภาพทิวทัศน์บางกอกสมัยรัชกาลที่ 4

ส่วนพื้นที่ที่ห่างกำแพงพระนครออกไปมากกว่า 200 เส้น (ห่างจากกำแพงพระนครออกไปมากกว่า 8 กิโลเมตร) ซึ่งยังถือว่าไม่ไกลนัก สามารถพายเรือแจวไปได้ภายใน 24 ชั่วโมง เจ้าของที่จะขายที่ดินที่ตั้งบ้านเรือน หรือขายที่สวนที่นาให้ฝรั่งก็ได้

“ เจ้าของที่จะขายที่บ้านทั้งเย่าเรือนและที่สวนที่นาให้ขาดกับคนนอกที่เรียกว่าฝรั่งก็ได้ ไม่ห้ามไม่มีโทษโปรด ฯ อนุญาตแล้ว เพราะว่าคนนอกมักใจใหญ่ใจโตซื้อแพงๆ

ผู้ที่จะขายได้เงินมากๆ เงินทองจะได้ตกอยู่ในบ้านในเมือง ถ้ายังหวงที่อยู่จะให้คนนอกเช่าที่สวนที่นาที่โรงที่เรือนอย่างไรก็ได้ ราษฎรเจ้าของที่จะได้ๆ ค่าเช่าดีกว่านิ่งอยู่เปล่าๆ และเมื่อเจ้าของมีกำลังทำเองให้มีผลมากกว่าค่าเช่าไม่ได้นั้น แต่ว่าห้ามไม่ให้ฉ้อเบียดบังเอาที่และเรือนและสวนและนาของผู้อื่น ที่ไม่เปนสิทธิแก่ตัวไปขายกับคนนอกประเทศ ให้เปนความยุ่งยิ่งกันขึ้น” 

หากเจ้าของที่ดินต้องการขายหรือต้องการให้ฝรั่งเช่า ให้บอกกล่าวกับรั้วแขวงอำเภอ เจ้าพนักงาน และผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการให้รู้เห็นเป็นพยาน ให้ทำหนังสือซื้อขายและสัญญาเช่าที่ให้ชัดเจน เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาความยุ่งยากเกิดขึ้นในภายหน้า

แม้เปิดทางให้ฝรั่งซื้อที่ดินได้ แต่บางพื้นที่ “เปนที่เปลี่ยวที่ไกล” ทรงห้ามขายขาด ทำได้มากสุดคือปล่อยเช่า กำหนดบริเวณดังนี้

ทิศเหนือ กำหนดถึงปากน้ำบางพุทราที่ร่วมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อไปจนถึงกำแพงเมืองลพบุรี และตรงไปถึงท่าพระงามแม่น้ำสระบุรี ทิศตะวันออก ตั้งแต่ท่าพระงามถึงบางกนากปลายคลองขุดที่ออกแม่น้ำบางปะกง ตรงไปถึงปากน้ำบางปะกง ต่อไปจนเกาะศรีมหาราชา

ทิศใต้ ตั้งแต่เกาะศรีมหาราชา ไปจนถึงกำแพงเมืองเพชรบุรี และ ทิศตะวันตก ตั้งแต่อ่าวทะเลเมืองเพชรบุรี ไปถึงปากน้ำเมืองสมุทรสงคราม เลยไปตามลำแม่น้ำจนถึงกำแพงเมืองราชบุรี ต่อไปจนถึงเมืองสุพรรณบุรี ตั้งแต่สุพรรณบุรีไปถึงปากน้ำบางพุทราประจวบที่เก่า

ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ฉบับนี้ สามารถสะท้อนสภาพสังคมสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี ทั้งในแง่ความหลากหลายของเชื้อชาติที่อยู่ในสยามมาแต่ก่อน และการเปิดกว้างรับชาวตะวันตก ที่เข้ามาในยุคที่สังคมสยามเปิดการค้าเสรี 

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาค 3. “ประกาศว่าด้วยเขตรที่ซึ่งฝรั่งจะเช่าฤๅซื้อได้”.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 สิงหาคม 2567