ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“โฉนดที่ดิน” คือหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน แล้วโฉนดนี้ฉบับแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ใครเป็นผู้ถือครองโฉนด?
ย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ที่ลัทธิล่าอาณานิคมของตะวันตกแพร่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่ออังกฤษเข้ายึดครองพม่า ส่วนฝรั่งเศสแผ่อำนาจเหนือดินแดนอินโดจีน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่า หากไม่กำหนดอาณาเขตและทำแผนที่ของสยามให้ชัดเจน ก็อาจกลายเป็นข้ออ้างให้ตะวันตกเข้ามารุกล้ำอาณาเขต
ใน พ.ศ. 2424 จึงเกิดการสำรวจพื้นที่เพื่อทำแผนที่อย่างจริงจัง รัฐบาลสยามขณะนั้นว่าจ้าง เจมส์ ฟิตซ์รอย แมคคาร์ธี (James Fitzroy McCarthy) มารับราชการฝ่ายกลาโหม นำสู่การวางรากฐานและก่อตั้งโรงเรียนฝึกทำแผนที่
จวบจน พ.ศ. 2428 รัชกาลที่ 5 ทรงก่อตั้ง “กรมทำแผนที่” ขึ้น โดยมี ร้อยเอกพระวิภาคภูวดล (แมคคาร์ธี) เป็นเจ้ากรมทำแผนที่คนแรก
เมื่อทำแผนที่แล้ว สิ่งที่เกี่ยวข้องกันก็คือ “โฉนด” ซึ่งก็มีพัฒนาการที่น่าสนใจไม่แพ้การทำแผนที่
โฉนดในสยาม
พ.ศ. 2435 รัชกาลที่ 5 ทรงขยายงานกระทรวงต่างๆ ออกเป็น 12 กระทรวง ในจำนวนนี้กระทรวงที่จำเป็นต้องใช้แผนที่ คือ กระทรวงมหาดไทย เพื่อใช้วางแผนการปกครองมณฑลที่ถูกจัดตั้งใหม่ และ กระทรวงเกษตราธิการ ที่ต้องดูแลด้านการเก็บภาษีพืชผล จัดการที่ดินรกร้างให้มีคนเข้าไปทำกิน ระงับการวิวาทเรื่องที่ดิน และแบ่งสันปันส่วนที่ดิน เนื่องจากยุคนั้นมีการตัดถนนและคูคลองใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อขยายเส้นทางการค้าทางบกและทางน้ำ
สมัยนั้น ใบสำคัญในการครอบครองที่ดิน มีหลายรูปแบบคือ โฉนดตราแดง โฉนดตราจอง ใบเหยียบย่ำ โฉนดสวน และโฉนดป่า
โฉนดตราแดง เป็นหนังสือการถือครองที่ดินได้ 10 ปี ออกในบริเวณหัวเมืองคือ กรุงเก่า อ่างทอง สุพรรณบุรี และลพบุรี โดยให้นายแขวงเป็นผู้รับรองการเปลี่ยนแปลงสิทธิได้เพียงผู้เดียว ออกในสมัยพระยาสุรศักดิ์มนตรีดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ใน พ.ศ. 2400 และ พ.ศ. 2425 เท่านั้น
โฉนดตราจอง เป็นหนังสือถือครองที่ดินได้ 3 ปี ข้าหลวงกรมนาเป็นผู้ออกให้ เพื่อความสะดวกในการเก็บค่านา
ใบเหยียบย่ำ เป็นเอกสารที่มีปัญหามากสุด เพราะไม่มีรูปแบบชัดเจน ง่ายต่อการปลอมแปลง และมีการออกใบเหยียบย่ำซ้ำซ้อนกันเป็นคดีความกันมาก มีอายุครอบครองที่ดิน 1 ปี ถ้าเกินกว่านั้นต้องไปทำเป็นโฉนดตราจอง
โฉนดสวน ไว้สำหรับคิดอากรค่าสวนว่ามีต้นผลไม้กี่ต้นสำหรับเก็บอากร
โฉนดป่า สำหรับที่สวนซึ่งปลูกพันธุ์ไม้ขนาดเล็ก หรือไม้ล้มลุก เก็บอากรตามจำนวนเนื้อที่โฉนด
ส่วน “โฉนดที่ดิน” เริ่มทำที่เมืองกรุงเก่าเป็นที่แรก เมื่อเดือนพฤษภาคม ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) มีการตั้งหอทะเบียนและนายทะเบียนจัดเก็บเอกสาร เมื่อเป็นผลแล้วก็เริ่มขยายไปยังกรุงเทพฯ และมณฑลอื่นๆ ตามลำดับ
ขั้นตอนการออกโฉนดนี้คือ เจ้าหน้าที่จะออกวัดพื้นที่ กำหนดเขตเป็นตารางเรียกว่า “แผนที่ระวาง” แล้วให้เจ้าของที่ดินมานำชี้เขตที่ดินของตนให้ข้าหลวงเกษตร จากนั้นข้าหลวงเกษตรจะปักหลักเขตและออกโฉนดให้ แล้วประกาศยกเลิกการใช้หนังสือแสดงการถือครองที่ดินฉบับเดิม
ผู้ถือครองโฉนดที่ดินคนแรกคือใคร?
โฉนดประเภทนี้ฉบับแรกเป็นของผู้ใด คำตอบคือ รัชกาลที่ 5
เมื่อข้าหลวงออกทำโฉนดแผนที่เมืองกรุงเก่าได้ระยะหนึ่ง พระองค์ได้เสด็จฯ ประทับแรม ณ พระราชวังบางปะอิน เจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ และพระยาประชาชีพภิบาล (ผึ่ง ชูโต) ได้นำโฉนดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย รวม 5 ฉบับ และกำนันหรุ่มบ้านวัดยม 1 ฉบับ
รัชกาลที่ 5 พระราชทานโฉนดให้แก่เจ้าของที่ดินโดยพระหัตถ์เป็นปฐมฤกษ์ในฉบับแรก และข้าหลวงเกษตรถวายโฉนดสำหรับที่ดินของพระองค์ในขณะเดียวกัน เมื่อ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2444 ณ พระที่นั่งวโรภาสพิมาน พระราชวังบางปะอิน
โฉนดที่ข้าหลวงถวายแก่พระองค์ ถือเป็นโฉนดฉบับแรกโดยสมบูรณ์ เพราะเป็นโฉนดที่ดินหมายเลข 1 ออกโดยกระทรวงเกษตราธิการ
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ทรงซื้อที่ดินในสิงคโปร์ ?
- สาทร สุรวงศ์ สี่พระยา ถนนที่เกิดขึ้น เมื่อการซื้อขายที่ดินบูม
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
มัณฑนา ชอุ่มผล. “โฉนดที่ดินฉบับแรกของไทย เป็นของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2546.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2567