“ดับบาวาลา” อาชีพส่งปิ่นโตในเมืองมุมไบ เก่าแก่กว่า 130 ปี ส่งแม่น ส่งไว ติดอันดับโลก

ดับบาวาลา คนส่งปิ่นโต เมืองมุมไบ
ดับบาวาลาขณะปฏิบัติหน้าที่ (ภาพจาก Facebook : Mumbai Dabbawala)

ดับบาวาลา (Dabbawala) เป็นชื่อที่คนไทยอาจไม่คุ้นหูเท่าไหร่ แต่ถ้าบอกว่า “คนส่งปิ่นโต” แล้วอาจร้องอ๋อ อาชีพนี้เป็นที่รู้จักอย่างมากในเมืองมุมไบ รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย พวกเขาทำหน้าที่ส่งความสุข ด้วยการส่งปิ่นโตเพื่อให้คนเกือบ 200,000 คน ที่กระจายตัวอยู่ทั่วมุมไบ ได้รับประทานอาหารมื้อเที่ยงแบบตรงเวลาเป๊ะ! “ดับบาวาลา คนส่งปิ่นโต” มีที่มาจากไหน ทำงานอย่างไร ถึงได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในระบบโลจิสติกส์ที่แม่นยำที่สุดในโลก

ดับบาวาลา คนส่งปิ่นโต เมืองมุมไบ
ดับบาวาลากับปิ่นโตที่ต้องนำส่ง (ภาพจาก Facebook : Mumbai Dabbawala)

ดับบาวาลา อาชีพเก่าแก่แห่งเมืองมุมไบ

จุดเริ่มต้นของดับบาวาลา (บ้างสะกด “ฑัพพาวาลา”) อาชีพซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การสวมหมวกทรงคานธี ต้องย้อนไปเมื่อ ค.ศ. 1890 (พ.ศ. 2433 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5) ขณะนั้นอินเดียยังอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ นายธนาคารชาวปาร์ซีคนหนึ่งต้องการรับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่จากที่บ้าน

“ดับบาวาลา” คนแรกจึงเกิดขึ้น นำอาหารจากบ้านของนายธนาคารไปส่งให้ถึงที่ทำงาน

ผู้ที่ทำให้ดับบาวาลาเป็นอาชีพอย่างจริงจัง คือ มหาฑีโอ ฮาวาจี ภัชเช (Mahadeo Havaji Bachche) ที่เห็นโอกาสและลู่ทางในการส่งปิ่นโตให้คนที่ทำงานได้รับประทานอาหารอร่อยๆ จากบ้าน จึงเริ่มต้นธุรกิจส่งปิ่นโต มีดับบาวาลาในยุคแรกราว 100 คน

ดับบาวาลาขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันมีอยู่ราว 5,000 คน อายุตั้งแต่ 18-65 ปี ทำหน้าที่ส่งปิ่นโตให้ลูกค้าเกือบ 200,000 คน ในเมืองมุมไบ ได้อิ่มท้องและอิ่มความสุข โดยได้ค่าตอบแทน 8,000-12,000 รูปี หรือราว 3,300-5,000 บาทต่อเดือน

ถึงจะไม่ได้รับการศึกษาขั้นสูง แต่พวกเขาล้วนเชี่ยวชาญในงานที่ทำ โดยเฉพาะการมี “ความจำ” เป็นเลิศ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของดับบาวาลา

ดับบาวาลา คนส่งปิ่นโต เมืองมุมไบ
ดับบาวาลากับปิ่นโตที่ต้องนำส่ง (ภาพจาก Facebook : Mumbai Dabbawala)

ดับบาวาลา คนส่งปิ่นโต ทำงานอย่างไร?

แม้จะถือกำเนิดมากว่า 130 ปี แต่อาชีพดับบาวาลา คนส่งปิ่นโต ก็ยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ต้องออกจากบ้านไปทำงานแต่เช้าตรู่ ไม่มีเวลาจัดเตรียมอาหาร หรือไม่สะดวกหิ้วปิ่นโตพะรุงพะรังขึ้นรถไฟเบียดเสียดกับผู้คนมหาศาล อีกทั้งการที่ต้องรับประทานอาหารตามหลักศาสนา และความต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย

ดับบาวาลา จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ด้วยค่าบริการราว 800 รูปี หรือ 300 กว่าบาทต่อเดือนเท่านั้น

ดับบาวาลาแต่ละคนจะมีพื้นที่รับผิดชอบของตัวเอง ตอนเช้าพวกเขาจะเดินหรือปั่นจักรยานไปรวบรวมปิ่นโต จำนวนเฉลี่ยอย่างน้อย 30 เถาต่อคน จากนั้นก็ส่งไปที่สำนักงานในแต่ละพื้นที่ หรือไปยังสถานีรถไฟ เพื่อแยกเส้นทางจัดส่งทางรถไฟ เมื่อถึงสถานีที่ใกล้ที่สุดแล้ว พวกเขามีเวลาไม่ถึง 1 นาที ในการเร่งรีบเอาปิ่นโตทั้งหมดลงจากขบวน แล้วใช้จักรยานบรรทุกปิ่นโตไปส่งลูกค้าไม่เกิน 13.00 น.

การส่งปิ่นโตเป็นงานที่ต้องแข่งกับเวลาอย่างแท้จริง ทั้งยังเสี่ยงต่อความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายมาก แต่พวกเขามีวิธี นั่นคือ ใช้ “รหัส” ที่ประกอบด้วยตัวอักษร ตัวเลข และสี เป็นตัวแบ่งพื้นที่รับส่งปิ่นโตให้ถึงมือลูกค้า ซึ่งเมื่อดับบาวาลาทุกคนเห็นแล้วก็จะเข้าใจตรงกันว่าต้องไปส่งที่ไหน

หลังจากมื้อเที่ยงแสนอร่อยของผู้คนนับแสนผ่านพ้น ก็ถึงเวลาที่ต้องทำหน้าที่อีกครั้ง คือ การเก็บปิ่นโตไปส่งคืนยังต้นทางที่รับมา

ดับบาวาลา คนส่งปิ่นโต เมืองมุมไบ
ดับบาวาลาขณะอยู่บนรถไฟ ((ภาพจาก Facebook : Mumbai Dabbawala)

ส่งแม่น-ส่งไว จนคนดังระดับโลกขอดูงาน

การส่งปิ่นโตได้อย่างรวดเร็ว ถูกที่ และตรงเวลา ไม่ได้เป็นผลจากการพึ่งพาเทคโนโลยี แต่มาจากการศึกษาเส้นทางและวางระบบการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพมากสุดในโลก

ฮาร์วาร์ด บิสเนส สกูล (Harvard Business School) ศึกษาระบบขนส่งของดับบาวาลา และให้คะแนนระดับ “ซิกซ์ ซิกมา” (Six Sigma) หมายความว่า ในการส่งปิ่นโต 1 ล้านครั้ง เกิดข้อผิดพลาดขึ้นเพียง 3.4 ครั้งเท่านั้น

ความยอดเยี่ยมในการขนส่งและความทุ่มเทของเหล่าดับบาวาลา ทำให้มีคนดังระดับโลกมาเยี่ยมเยียนดูงานอยู่เนืองๆ เช่น สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อครั้งที่ยังทรงเป็นเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) ผู้ก่อตั้ง เวอร์จิน กรุ๊ป (Virgin Group) กระทั่งบริษัทโลจิสติกส์ระดับโลกอย่าง FedEx ก็ยังส่งพนักงานมาดูงาน

ถึงจะเลื่องชื่อลือชาเรื่องความตรงต่อเวลา แต่ก็มีบางครั้งที่การส่งปิ่นโตของดับบาวาลาต้องสะดุด เช่น เมื่อครั้งมุมไบต้องเผชิญพายุฝนครั้งใหญ่ในปี 2005 ทำให้ไม่สามารถฝ่าพายุออกไปปฏิบัติภารกิจได้ หรือช่วงโควิด-19 ที่อินเดียเป็นประเทศที่มีมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดมากสุดแห่งหนึ่ง ทำให้พวกเขาต้องยุติการส่งปิ่นโตชั่วคราว

ปรับตัวตามโลก

เช่นเดียวกับหลายแห่งในโลก อินเดียก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีธุรกิจดิลิเวอรีให้บริการ โดยเฉพาะการส่งอาหาร กระทบอาชีพของดับบาวาลาเข้าเต็มๆ แต่พวกเขาก็ฮึดปรับตัวสู้ไม่ถอย

ดับบาวาลาพัฒนาแอปพลิเคชันเข้าสู้ มอบบริการและมองหาตลาดใหม่ๆ อย่างการส่งอาหารในช่วงเวลาอื่น บริการส่งของชำและของใช้จำเป็น โดยใช้เส้นทางในฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้ว และใช้จุดเด่นข้อที่ว่า ในขณะที่แอปดิลิเวอรีรับส่งอาหารให้ลูกค้าได้ทีละราย แต่ดับบาวาลาสามารถรับส่งอาหารในคราวเดียวได้หลายราย และในค่าบริการที่ถูกกว่า

สัญชัย ดัตต์ (Sanjay Dutt) กรรมการผู้จัดการและซีอีโอของ ทาทา รีลตี แอนด์ อินฟราสตรักเจอร์ (Tata Realty & Infrastructure) ซึ่งมีสำนักงานในมุมไบ บอกว่า

“ดับบาวาลาหาตลาดทางเลือกใหม่ๆ เช่น การส่งของชำและของใช้จำเป็น ซึ่งทำให้พวกเขามีรายได้ที่แน่นอน และสร้างฐานลูกค้าใหม่ไปด้วย และด้วยแผนที่ในโลกดิจิทัลและการบริหารคำสั่งซื้อ พวกเขาก็สามารถปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพของตัวเองขึ้นไปได้มากขึ้น ประกอบกับความสามารถในการลดต้นทุน ทำให้สามารถแข่งขันกับบริษัทดิลิเวอรีเจ้าใหญ่ได้”

ดับบาวาลา คนส่งปิ่นโต จึงยังมีความสำคัญในสังคมอินเดีย โดยเฉพาะต่อชาวมุมไบมาอย่างต่อเนื่องนับร้อยปี

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://mumbaidabbawala.in/about-us/ เข้าถึงเมื่อ 19 สิงหาคม 2567.

Stephen Cousins. “Mumbai’s dabbawalas: leaders in last mile logistics” . Accessed 19 August 2024.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 สิงหาคม 2567