ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“บาบิน ยาร์” คือชื่อหุบเขาในเมืองคีฟ ประเทศยูเครน (แยกตัวจากโซเวียตและประกาศเอกราชเมื่อ ค.ศ. 1991) ที่ใน ค.ศ. 1941 ชาวยิวกว่า 30,000 คน ถูกกองทัพนาซีเยอรมันฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่นี่ และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง เมื่อการสังหารหมู่ดังกล่าวเกิดขึ้นในระยะเวลา 2 วันเท่านั้น
ชาวยิวในเมืองคีฟ
ในอดีต คีฟ (Kyiv) เป็นเมืองใหญ่อันดับ 5 ของจักรวรรดิรัสเซีย เป็นศูนย์กลางความเจริญทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การศึกษา ชาวยิวจำนวนมากจึงโยกย้ายมาตั้งรกรากที่เมืองนี้ และกลายเป็นชุมชนยิวที่มั่งคั่งมากสุดแห่งหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย
หลังการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 ชาวยิวยังคงตั้งถิ่นฐานในเมืองคีฟ มีข้อมูลระบุว่า ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองคีฟมีประชากรชาวยิวกว่า 160,000 คน คิดเป็นราว 20% ของประชากรทั้งหมดในเมือง
อย่างไรก็ตาม ในปี 1941 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มลุกลามบานปลายไปหลายประเทศในยุโรป และ “ชาวยิว” คือเป้าหมายของพวกกองทัพนาซี ชาวยิวราว 100,000 คนจึงอพยพออกจากเมืองคีฟ หรือไม่ก็เข้าเป็นทหารในกองทัพโซเวียต
เมื่อกองทัพนาซีเยอรมันยึดเมืองได้สำเร็จ ชาวยิวราว 60,000 คนยังคงอยู่ในเมือง ส่วนมากเป็นผู้หญิง เด็ก คนชรา และคนป่วย ที่ไม่สามารถอพยพได้อย่างสะดวก หรือไม่อยากอพยพไปไหน
บาบิน ยาร์ หุบเขาสังหาร
กองทัพนาซีเยอรมันยึดครองเมืองคีฟได้ในวันที่ 19 กันยายน ปี 1941 ซึ่งสัปดาห์แรกที่บุกยึดได้นั้นเกิดเหตุระเบิดขึ้น 2 ครั้ง แรงระเบิดรุนแรงจนทำลายสำนักงานใหญ่ของกองทัพเยอรมันและพื้นที่โดยรอบ ทั้งยังมีทหารและเจ้าหน้าที่ชาวเยอรมันเสียชีวิตจำนวนมาก
แม้เหตุระเบิดดังกล่าวจะเกิดจากระเบิดที่ทหารโซเวียตทิ้งไว้ แต่กองทัพนาซีกลับใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการกำจัดชาวยิวที่อาศัยในเมืองคีฟ
วันที่ 29-30 กันยายน ปี 1941 หน่วยเอสเอส (SS) กองกำลังพิเศษที่ก่อตั้งโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำนาซีเยอรมัน ที่ต่อมาอยู่ภายใต้การควบคุมของ ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler) คนสนิทของฮิตเลอร์ ที่มีแนวคิดปกป้องสายเลือดอันบริสุทธิ์ของชาวอารยัน ก็เริ่มสังหารชาวยิวในเมืองคีฟ
ทหารนาซีเยอรมันใช้ “บาบิน ยาร์” (Babyn Yar) หุบเขาที่อยู่นอกเมืองคีฟขึ้นไปทางตอนเหนือ เป็นสถานที่สังหารหมู่
นาซีเยอรมันแบ่งชาวยิวเกือบ 34,000 คน เป็นกลุ่มเล็กๆ และพาเดินออกจากตัวเมืองคีฟมุ่งหน้าไปทางเหนือ ทั้งหมดถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้าจนเหลือแต่ร่างเปลือยเปล่า และต้องเดินเข้าไปในหุบเขาที่มีปืนกลติดตั้งไว้
หลังถูกกระสุนปืนกลรัวใส่ไม่ยั้ง ชาวยิวส่วนใหญ่สิ้นใจในทันที ขณะที่บางคนบาดเจ็บสาหัสหายใจรวยริน และถูกทิ้งให้เสียชีวิตอยู่อย่างนั้น รายแล้วรายเล่าต้องเดินเข้าสู่หุบเขาสังหารเพื่อเผชิญความตาย ซากศพทับถมเป็นพะเนินใหญ่
รายงานของไอน์ซัทซ์กรุพเพิน (Einsatzgruppen) กองกำลังสังหารภายใต้หน่วยเอสเอส ที่ส่งไปยังสำนักงานใหญ่ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 2 วัน มีชาวยิวในเมืองคีฟที่ถูกสังหารที่หุบเขาบาบิน ยาร์ ถึง 33,771 คน
การสังหารหมู่ที่หุบเขาลึกแห่งนี้ จึงกลายเป็นหนึ่งในจุดที่ชาวยิวถูกฆ่ามากสุดในพื้นที่เดียวในสงครามโลกครั้งที่ 2
หลังจากเหตุสลดวันที่ 29-30 กันยายน นาซีเยอรมันซึ่งยังมีฐานที่มั่นในเมืองคีฟ ได้ใช้ที่นี่เป็นแหล่งสังหารประชาชนอีกนับหมื่นๆ คน มีทั้งชาวยิวและไม่ใช่ชาวยิว อาทิ ชาวโรมา (ยิปซี) นักโทษการเมืองของโซเวียต ผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ รวมทั้งผู้ป่วยจากโรงพยาบาลจิตเวชในท้องถิ่น
นาซีเยอรมันพยายามลบร่องรอยหลักฐานการสังหารหมู่ ด้วยการระดมเชลยศึกจากค่ายกักกันใกล้เคียงมาทำงาน ให้พวกเขาใช้รถแทรกเตอร์เข้ามาเกลี่ยพื้นที่ และนำเครื่องจักรบดกระดูกเข้ามาใช้ ทั้งยังมีการเผาร่างผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จนสามารถเห็นเปลวเพลิงได้จากตัวเมืองคีฟ
เมื่อเชลยศึกทำงานแล้วเสร็จ พวกนาซีก็ฆ่าปิดปาก แต่มีบางส่วนที่หลบหนีออกมาได้ในวันที่ 29 กันยายน ปี 1943 และเผยเรื่องราวอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นในหุบเขาให้โลกภายนอกได้รับรู้
จากนั้นไม่นาน กองทัพโซเวียตก็ยึดเมืองคีฟคืนจากนาซีได้สำเร็จในวันที่ 6 พฤศจิกายน ปี 1943 และจากประชากรทั้งหมดของเมืองที่มีราว 930,000 คนเมื่อปี 1941 มาถึงตอนนี้ เมืองคีฟเหลือประชากรราว 70,000 คนเท่านั้น พร้อมกับซากปรักหักพังของบ้านเรือน และบรรยากาศอันยะเยือกหลังเหตุสังหารโหดผ่านพ้น
ประเมินว่า มีชาวยิวและที่ไม่ใช่ชาวยิวรวมทั้งหมดราว 100,000 คน ถูกพรากชีวิตในช่วงที่กองทัพเยอรมันเข้ายึดเมืองคีฟ ถือเป็นความสูญเสียที่น่าเศร้าสลดยิ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
อ่านเพิ่มเติม :
- “ฮิตเลอร์” เอาแนวคิดต่อต้านยิวมาจากไหน เจาะ 3 นักคิดทรงอิทธิพลต่อผู้นำนาซีเยอรมัน
- คำให้การวิศวกรแห่งความตาย กลุ่มผู้สร้างเตาเผา-ห้องรมแก๊สในค่ายเอาชวิตซ์ให้นาซี
- “โจเซฟ เมนเกเลอ” หมอนาซี แพทย์โหดแห่งค่ายเอาช์วิตซ์ เสียชีวิตโดยไม่เคยรับโทษ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“Kyiv and Babyn Yar Before and During the Holocaust”. Accessed 14 August 2024.
United States Holocaust Memorial Museum. “Mass Shootings at Babyn Yar (Babi Yar)”. Accessed 14 August 2024.
Berenbaum, Michael. “Babi Yar”. Encyclopedia Britannica, 15 May. 2024. Accessed 14 August 2024.
Dr. Bert Hoppe. “Kiev at War (1937-1947): A Multifaceted Study on the German Occupation, the Reign of Violence, the Persecution of Jews and the Aftermath of the War”. Accessed 14 August 2024.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2567