ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พระราชานุกิจ หมายถึงกำหนดเวลาที่พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติพระราชกิจต่างๆ ประจำวัน โดยทั่วไปแล้วจะมีการกำหนดไว้ค่อนข้างชัดเจน เว้นแต่จะมีเรื่องเร่งด่วนเข้ามา เช่น การศึกสงคราม การต่างประเทศ ฯลฯ ที่ทำให้ต้องทรงปรับเปลี่ยนตารางกิจกรรม แล้ว “พระราชานุกิจ รัชกาลที่ 3” มีอะไรบ้าง?
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ “พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5” ไว้ดังนี้
พระราชานุกิจ รัชกาลที่ 3
เช้า 9 นาฬิกา เสด็จลงทรงบาตร ทรงบาตรเสร็จเสด็จขึ้นบูชาพระในหอสุราลัยพิมาน แล้วเสด็จลงพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เจ้านายพระองค์หญิงคอยเฝ้าอยู่ที่นั้น เสด็จผ่านไปยังหอพระธาตุมณเฑียรที่ไว้พระบรมอัฐิ อยู่ด้านตะวันตกพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงบูชาพระบรมอัฐิ
10 นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เลี้ยงพระสงฆ์ฉันเวร เสด็จออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทรงศีล แล้วดำรัสถวายข้าวสงฆ์เป็นคำภาษามคธ พระสงฆ์รับสาธุ แล้วอปโลกน์ และถวายอนุโมทนาแล้วจึงฉัน ฉันแล้วถวายอดิเรก ถวายพระพรลา
ในเวลาเลี้ยงพระนั้น เจ้านายฝ่ายหน้าเข้าช่วยปฏิบัติพระ ส่วนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปิดทองปฏิสังขรณ์พระพุทธรูป บางทีก็ทรงปิดทองหรือร้อยหูคัมภีร์พระไตรปิฎกซึ่งทรงสร้าง
เมื่อพระกลับแล้ว ชาวพระคลังมหาสมบัติกราบทูลรายงานจ่ายเงินพระคลัง เสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง เบิกตำรวจเข้าเฝ้ากราบทูลรายงานความฎีกาก่อน แล้วเบิกขุนนางเข้าเฝ้า เสด็จออกเวลาเช้านี้ประภาษเรื่องคดีความเป็นพื้น ถ้ามีราชการจรที่สลักสำคัญก็ประภาษด้วย
เที่ยง เสด็จขึ้นประทับที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสวยพระกระยาหาร
บ่าย 1 นาฬิกา เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประทับพระเฉลียงข้างด้านตะวันตก พวกนายช่าง มีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เมื่อครั้งยังเป็นพระยาศรีพิพัฒน์ เป็นต้น เข้าเฝ้าถวายแบบพระอารามต่างๆ
2 นาฬิกา เสด็จขึ้น เข้าในที่พระบรรทม
4 นาฬิกา เสด็จออกที่พระเฉลียงพระมหามณเฑียร ด้านตะวันออก ทรงสำราญพระราชอิริยาบถ
ค่ำ 6 นาฬิกา เสวยแล้ว เสด็จลงท้องพระโรงใน ประทับที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตรงช่องบันไดกลาง ผู้เป็นใหญ่ในราชการฝ่ายในขึ้นเฝ้า ดำรัสราชกิจฝ่ายใน
7 นาฬิกา เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง เวลาพระเทศน์นั้น ข้างในออกฟังข้างในพระสูตร เทศน์จบข้างในกลับ
เมื่อทรงธรรมจบแล้ว ชาวคลังในขวา ในซ้าย และคลังวิเศษ กราบถวายรายงานต่างๆ คือ พระอาการประชวรของเจ้านาย และอาการป่วยของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือพระราชาคณะ บรรดาซึ่งทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้เอาอาการกราบทูล กับทั้งรายงานตรวจการก่อสร้าง
8 นาฬิกา เสด็จขึ้นพระแท่นออกขุน เบิกข้าราชการทั้งฝ่ายทหารพลเรือนเข้าเฝ้าพร้อมกัน กราบบังคมทูลใบบอกหัวเมือง และทรงประภาษราชการแผ่นดิน จนเวลา 10 นาฬิกา เสด็จขึ้นพระราชมณเฑียร ถ้าหากเป็นเวลามีการสำคัญ เช่น มีศึกสงคราม ก็เสด็จขึ้นถึงเวลา 1 นาฬิกา 2 นาฬิกา
กรมดำรง ทรงบอกด้วยว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยรับราชการในรัชกาลที่ 3 กล่าวพ้องต้องกันว่า พระองค์ทรงประพฤติพระราชานุกิจโดยเวลาแน่นอนยิ่งนัก
อ่านเพิ่มเติม :
- พระราชานุกิจ รัชกาลที่ 1 ช่วงตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ละวันทรงทำอะไรบ้าง?
- กิจวัตรประจำวัน “พระราชานุกิจ” รัชกาลที่ 4 ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ พระองค์ทรงทำอะไรบ้าง?
- พระราชานุกิจ รัชกาลที่ 5 แต่ละวันทรงทำอะไรบ้าง?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 สิงหาคม 2567