ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ชักเย่อ” (tug of war) ดูเหมือนเป็นการเล่นเอาความสนุกสนานเพลิดเพลินเป็นหลัก เพราะมักจะเห็นในกีฬาสี หรือในกิจกรรมที่เน้นกระชับความสัมพันธ์ของทีม แต่ที่จริงแล้วเป็นเกมที่ต้องใช้ทักษะและกลยุทธ์อย่างสูง และเคยมีการแข่งขันอย่างเอาจริงเอาจัง ถึงขั้นที่ “กีฬาชักเย่อ” ถูกบรรจุในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอย่าง “โอลิมปิก” มาแล้ว
กีฬาชักเย่อ อยู่ในโอลิมปิกตั้งแต่เมื่อไหร่?
หลังจาก บารอน ปิแอร์ เดอ คูเบอร์แตง (Baron Pierre de Coubertin) ชาวฝรั่งเศส ปลุกการแข่งขันโอลิมปิกให้ฟื้นคืนมาอีกครั้งเมื่อ ค.ศ. 1896 ในอีก 4 ปีถัดมา ก็มีการบรรจุชักเย่อเข้าไปในการแข่งขันโอลิมปิก 1900 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีกฎกติกาการแข่งขันคล้ายคลึงกับที่เราคุ้นเคย คือ แบ่งเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งไหนดึงฝั่งตรงข้ามให้ข้ามเส้นมาก่อนได้ก็เป็นฝ่ายชนะ
โอลิมปิก 1900 ทีมสหรัฐอเมริกาถอนตัวจากการแข่งชักเย่อ เพราะมีนักกีฬา 3 คนต้องไปลงแข่งขว้างค้อน ปีนั้นทีมที่คว้าเหรียญทองจึงเป็นทีมผสมจากสวีเดนและเดนมาร์ก ส่วนเหรียญเงินตกเป็นของฝรั่งเศส
โอลิมปิก 1904 ที่รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา คราวนี้ถึงทีเจ้าบ้านชิงบัลลังก์ เพราะสหรัฐอเมริกาส่งทีมชักเย่อถึง 4 ทีมเข้าแข่ง ผลปรากฏว่า ทั้ง 4 ทีมสามารถทำคะแนนเรียงกันมาทั้ง 4 อันดับ ตามด้วยกรีซและแอฟริกาใต้ คว้าเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ไปแบบไม่แบ่งใคร
โอลิมปิก 1908 ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เจ้าภาพไม่ยอมน้อยหน้า ส่ง 3 ทีมเข้าแข่งในนามทีมชาติ และกวาดทั้ง 3 เหรียญได้ทั้งหมด โดยทีม The City of London Police ได้เหรียญทอง ทีม Metropolitan Police ได้เหรียญเงิน และทีม Liverpool Police ได้เหรียญทองแดง
การแข่งขันชิงเหรียญชักเย่อในโอลิมปิกคราวนี้เข้มข้น เพราะเกิดข้อขัดแย้งเรื่อง “รองเท้า” ของนักกีฬาฝั่งสหราชอาณาจักร
เรื่องมีอยู่ว่า ทีม Liverpool Police ซึ่งลงแข่งในนามทีมชาติ สวมใส่รองเท้าขนาดใหญ่และมีน้ำหนัก ทำให้ทีมสหรัฐเห็นว่าเอื้อต่อการแข่งขัน จึงประท้วง เพราะถ้ารองเท้ามีน้ำหนัก ก็หมายความว่าช่วยถ่วงน้ำหนักให้มีความได้เปรียบ
ด้านทีม Liverpool Police ก็ยืนยันว่า รองเท้าที่สวมใส่ในการแข่งขัน เป็นไปตามกฎระเบียบว่าด้วยรองเท้าตำรวจ แต่หากทีมสหรัฐยังกังขาก็จะถอดรองเท้าลงเล่น (นัยว่าที่ได้แต้มเยอะกว่าเป็นเพราะฝีมือ ไม่ใช่รองเท้า) อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของทีม Liverpool Police ก็เป็นอันตกไป
โอลิมปิก 1912 ที่กรุงสตอล์กโฮม ประเทศสวีเดน หลายชาติถอนตัวจากโอลิมปิก ทีมตัวเต็งจึงเป็น The City of London Police ในนามทีมสหราชอาณาจักร แข่งขันกับทีมสวีเดน ท้ายสุด ฝ่ายหลังสามารถคว้าเหรียญทองไปครอง ส่วนแชมป์เก่าได้เหรียญเงิน
โอลิมปิก 1916 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี หลายชาติวางแผนทวงคืนตำแหน่งแชมป์ชักเย่อ แต่ท้ายสุดการแข่งขันโอลิมปิกก็ไม่เกิดขึ้น เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1
โอลิมปิก 1920 ที่แอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม ทีม The City of London Police กลับมาแก้มืออีกครั้ง และคว้าเหรียญทองคืนมาได้สำเร็จ ส่วนเหรียญเงินเป็นของเนเธอร์แลนด์ และเหรียญทองแดงเป็นของเบลเยียม
โอลิมปิกครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่มีการแข่งขันกีฬาชักเย่อ เพราะหลังจากนั้นชักเย่อและกีฬาอื่นๆ อีก 33 ชนิด ก็ถูกถอดออก ด้วยเหตุผลว่าโอลิมปิกมีชนิดกีฬาและผู้ร่วมแข่งขันมากเกินไป
หลังจากนั้น “ชักเย่อ” ก็ไม่เคยถูกบรรจุเข้าไปใหม่ในโอลิมปิกอีกเลย
อ่านเพิ่มเติม :
- “โอลิมเปีย” ต้นกำเนิดการแข่งขันโอลิมปิก ตั้งอยู่ที่ไหนบนโลก?
- กำเนิดโอลิมปิก การแข่งขันกีฬาระดับโลกอายุกว่า 2,700 ปี
- นัยของ “เหรียญรางวัล” ทำไมต้องมอบเหรียญทอง-เงิน-ทองแดง ให้นักกีฬาโอลิมปิก?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
The Tug of War Association. “Olympics History”. Accessed 9 August 2024.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 สิงหาคม 2567