นัยของ “เหรียญรางวัล” ทำไมต้องมอบเหรียญทอง-เงิน-ทองแดง ให้นักกีฬาโอลิมปิก?

วิว กุลวุฒิ เหรียญรางวัล โอลิมปิก
วิว กุลวุฒิ (ซ้าย) คว้าเหรียญเงินโอลิมปิก ปารีส 2024 (ภาพจาก มติชนออนไลน์, 6 สิงหาคม 2567)

สงสัยกันไหม? ทำไมเหรียญรางวัลทั้ง 3 เหรียญ ที่มอบให้นักกีฬา 3 อันดับแรกของกีฬาแต่ละประเภทในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จึงประกอบด้วย เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง การมอบเหรียญเหล่าเริ่มขึ้นมาได้อย่างไร

อนึ่ง แม้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะมีต้นกำเนิดสืบย้อนไปนับพัน ๆ ปีในโลกกรีกโบราณ แต่ธรรมเนียมการมอบเหรียญทอง เงิน และทองแดงให้นักกีฬาเพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก (อย่างเป็นทางการ) เมื่อปี 1904 ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา และเป็นวิถีปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่นั้น

การมอบเหรียญทองยุคนั้น เป็นเหรียญ “ทอง” แท้ๆ แต่ธรรมเนียมการมอบเหรียญทองแท้ได้สิ้นสุดลงหลังการแข่งขันเมื่อปี 1912 ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยเหรียญทองที่มอบกันต่อมาส่วนใหญ่เป็นเหรียญเงินชุบด้วยทองคำราว ๆ 6 กรัม

แล้วก่อนหน้านั้นล่ะ? อะไรคือรางวัลสำหรับนักกีฬาโอลิมปิก

ก่อนจะเป็น “เหรียญรางวัล” สำหรับนักกีฬา

แต่เดิมชาวกรีกโบราณจะมอบ “มงกุฎช่อมะกอก” (Olive wreath) ให้ผู้ชนะเลิศ โดยพวกเขาจะใช้กิ่งมะกอกจากต้นมะกอกป่าที่เติบโตในเขตโอลิมเปีย นำมาดัดเป็นวงกลมหรือทรงเกือกม้า ตามตำนาน เฮอคิวลีส (Hercules) ลูกครึ่งมนุษย์-เทพผู้โด่งดัง เป็นคนริเริ่มมอบช่อมะกอกเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ชนะการแข่งขัน หรือนัยหนึ่งคือเพื่อบูชาเทพเจ้าซูส

เฮอร์คิวลีส
เฮอคิวลีส (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ต่อมาในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ซึ่งเป็นการกลับมาจัดการแข่งขันรายการนี้อีกครั้งหลังห่างหายไปนับพันปี จึงเริ่มมีการมอบเหรียญรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศ แต่เป็นเหรียญเงินกับกิ่งมะกอก ส่วนรางวัลรองชนะเลิศจะได้รับกิ่งลอเรล (Laurel) กับเหรียญทองแดงหรือสำริด

ปี 1900 เริ่มมีการมอบเหรียญเงินชุบทองให้ผู้ชนะเลิศอันดับ 1 เหรียญเงินให้อันดับ 2 และเหรียญทองแดงสำหรับอันดับ 3 แต่มาตรการดังกล่าวก็ยังใช้ในกีฬาบางประเภท เพราะกีฬาส่วนใหญ่นิยมมอบถ้วยรางวัลกันอยู่ กีฬาบางประเภท ผู้ชนะเลิศได้ภาพวาดหรืองานศิลปะสูงค่าเป็นรางวัลด้วยซ้ำ

กระทั่งโอลิมปิกปี 1904 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee หรือ IOC) จึงกำหนดให้เหรียญทอง (แท้) เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง เป็นมาตรฐานเหรียญรางวัลสำหรับนักกีฬา 3 อันดับแรกในกีฬาทุกประเภท

เหรียญรางวัล โอลิมปิก เหรียญทอง เหรียญทองแดง
เหรียญรางวัลในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ปี 1980 (ภาพจาก museum exhibition / Wikimedia Commons)

แต่ทำไมต้องเป็นทอง เงิน และทองแดง? เหตุผลที่เข้าใจง่ายสุดคือ ในเชิงมูลค่า โลหะมีค่าทั้ง 3 ล้วนมีลำดับความสำคัญค่อนข้างเด่นชัดตลอดสมัยประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และไม่มีใครปฏิเสธว่าทองคำคือสินแร่สูงค่าที่มีค่าสูงสุดในหลาย ๆ อารยธรรมมนุษย์ ส่วนเงินกับทองแดงมีค่ารองลงมา

แม้แต่ในอารยธรรมกรีกโบราณ ต้นฉบับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ยังถือว่าทองคำเป็นโลหะสูงค่ากว่าแร่ชนิดไหน ๆ กวีชาวกรีกในช่วง 400 ปีก่อนคริสตกาลนาม “อริสโตฟาเนส” (Aristophanes) ยังเคยตำหนิเทพเจ้าแบบติดตลกว่า “การแข่งกีฬาโอลิมปิกเกิดขึ้น 4 ปี 1 หนแท้ ๆ แต่ซูสกลับมอบ ‘มงกุฎมะกอกป่า’ ให้ผู้ชนะ หากพระองค์ร่ำรวยคงมอบ ‘ทองคำ’ ให้พวกเขาไปแล้ว”

ชาวกรีกโบราณยังแทนโลหะอย่าง ทองคำ เงิน และทองแดง (สำริด) แบ่งยุคสมัยของพวกเขาด้วย โดยอิงจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า ได้แก่ ยุคทอง (Golden Age) คือช่วงเวลาที่มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับเทพเจ้าอย่างสมัครสมานและสันติ ยุคเงิน (Silver Age) คือช่วงที่มนุษย์เกิดความไร้ศีลธรรมและมีความอ่อนแอ และยุคสำริด (Bronze Age) คือยุคสมัยแห่งสงครามกับความรุนแรง

นอกจากนี้ ยังมียุควีรบุรุษ (Heroic Age) คือช่วงสงครามกรุงทรอย และยุคเหล็ก (Iron Age) คือสมัยใหม่ที่ลากยาวมาถึงปัจจุบัน

จึงมีความเป็นไปได้ที่คติข้างต้นคือที่มาของการใช้เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง เป็นรางวัลสำหรับนักกีฬา ถึงจะไม่มีการยืนยันเรื่องนี้อย่างเป็นทางการก็ตาม

ทั้งนี้ เราจะพบว่าการมอบเหรียญรางวัลหรือใช้เหรียญทอง เงิน และทองแดง มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 แล้ว แต่ธรรมเนียมดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับกีฬาโดยตรง กระทั่งมันถูกบรรจุอย่างเป็นทางการในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอันเป็นรายการที่มีชื่อเสียง จึงกลายเป็นมาตรฐานให้การแข่งขันอื่น ๆ ตลอดจนกิจกรรมทางสังคมอีกมากมาย เช่น วงการบันเทิง หรือการมอบรางวัลในระดับองค์กร ที่ต่างก็ใช้เหรียญรางวัลจากโลหะมีค่าทั้ง 3 ช่วยแบ่งอันดับทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.dictionary.com/e/olympic-medals/

https://olympics.com/en/olympic-games/olympic-medals 

https://www.bbc.co.uk/sport/extra/xawtd9l5mx/visual-guide-to-the-olympics

https://vanhorlicks.com/blog/the-history-of-gold-silver-and-bronze-medals-in-3-major-milestones


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 สิงหาคม 2567