ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ตั้งแต่ 776 ปีก่อนคริสต์ศักราช “การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก” ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ชาวกรีกสมัยนั้นเชื่อว่าเป็นการแข่งขันเพื่อสดุดีเทพเจ้าซุส, อะพอลโล และโพไซดอน การได้ไป “โอลิมเปีย” เมืองโบราณบนคาบสมุทรเพโลพอนนีส สถานที่กำเนิดของกีฬาโอลิมปิกโบราณ จึงเสมือนเป็นการจาริกแสวงบุญ ที่ดึงดูดผู้คนจากนครรัฐต่างๆ ในจักรวรรดิของกรีก และอาณานิคมแดนไกลถึงสเปน และแอฟริกา ต่างก็มารวมกันที่ที่ราบโอลิมเปียอันเป็นสถานที่จัดการแข่งขัน
จุดกำเนิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเมื่อหลายพันปีก่อน
การแข่งขันกีฬานี้ ในสมัยโบราณจะจัดขึ้นทุกๆ 4 ปี ระหว่างเดือนสิงหาคม หรือกลางเดือนกันยายน ซึ่งเป็นเวลาที่อากาศร้อนที่สุด แต่ก็เป็นช่วงที่เก็บเกี่ยวพืชผลกันเรียบร้อยแล้ว ทุกคนจึงกระตือรือร้นที่จะได้พักผ่อนและร่วมฉลองหลังการทำงานหนัก
ประเภทกีฬาที่ใช้แข่งขันครั้งแรกเมื่อ 776 ปีก่อนคริสต์ศักราช คือการวิ่งแข่งระยะสั้น จากนั้นก็มีกีฬาประเภทต่างๆ เพิ่มเข้ามา เช่น วิ่งแข่งระยะกลาง, วิ่งแข่งระยะไกล, ปัญจกรีฑา, มวยปล้ำ, ชกมวย, แข่งรถเทียมม้า 4 ตัว, วิ่งแข่งในชุดเกราะ, แข่งเป่าแตร ฯลฯ
แต่ใช่ว่าการแข่งขันจะราบรื่นตลอด ตัวอย่างเช่น เมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช เกิด สงครามเพโลโพนีเชียน สงครามระหว่างชาวเมืองเอเธนส์กับชาวเมืองสปาร์ต้า จึงไม่อนุญาตให้ชาวสปาร์ต้าที่เป็นคู่อริเข้าแข่งกีฬาโอลิมปิก ถึง 426 ปีก่อนคริสต์ศักราช ผู้จัดแข่งขันจึงต้องใช้ทหารหลายพันคนอารักขาการจัดงาน เพื่อป้องกันพวกสปาร์ต้ารุกรานก่อกวน
นอกจากปัญหาที่การเกิดจากความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าแล้ว ภัยธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว, น้ำท่วม, แผ่นดินเลื่อน ฯลฯ ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน และสร้างความเสียหายให้กับสถานที่จัดการแข่งขัน ในที่สุดการแข่งขันก็ปิดฉากลง
นักวิชาการกลุ่มหนึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นช่วงหลัง ค.ศ. 393 ซึ่ง พระเจ้าโอซีอุสที่ 1 จักรพรรดิโรมันที่นับถือศาสนาคริสต์ขึ้นมาเรืองอำนาจ พระองค์ทรงห้ามการประกอบพิธีกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ ขณะที่นักวิชาการบางกลุ่มเห็นว่า กีฬาครั้งสุดท้ายคงจะมีอยู่ จนกระทั่งวิหารเทพเจ้าซุสถูกเผาจนพังพินาศในราว ค.ศ. 462
ค.ศ. 1766 ริชาร์ด ชานด์เดอร์ ผู้นิยมของเก่าชาวอังกฤษ เป็นผู้คนพบโอลิมเปีย ทำให้โลกรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาโบราณ แต่เนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้ง โอลิมเปียจึงถูกภัยธรรมชาติทำลายเสียหาย ยากที่จะบอกตำแหน่งของสนามกีฬาที่ชัดเจนได้ แม้อีก 14 ปีต่อมา นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งสำรวจที่ตั้งสนามกีฬาแต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า
ค.ศ. 1852 เอินสต์ เคอรติส นักวิชาการเยอรมันได้บรรยายเกี่ยวกับกีฬาโบราณนี้ที่กรุงเบอร์ลิน การบรรยายของเขากระตุ้นให้เกิดความสนใจขึ้นอย่างมาก
ค.ศ. 1875 ทีมนักโบราณคดีเยอรมันได้รับการยินยอมจากเจ้าหน้าที่ของประเทศกรีซ ใช้เวลาถึง 6 ปี ทำการขุดค้นสนามกีฬาโบราณ จึงเริ่มมีหลักฐานทยอยออกสู่สาธารณะ
รื้อฟื้นอีกครั้ง
ผู้ที่รื้อฟื้นให้มีการแข่งขันขึ้นอีกครั้งคือ ปิแอร์ เดอ คูเบอร์แตง
ปิแอร์ เดอ คูเบอร์แตง (ค.ศ. 1836-1937) เป็นขุนนางชาวฝรั่งเศส ใน ค.ศ. 1889 รัฐบาลฝรั่งเศสได้อนุมัติให้เขาศึกษาวัฒนธรรมทางกายภาพ ที่ปรากฏในอารยธรรมโลก ทำให้เขาได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการกีฬาสมัยก่อนอย่างลึกซึ้ง
ค.ศ. 1892 เดอ คูเบอร์แตง ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ในกรุงปารีส เขาเสนอความเห็นว่า ควรมีการฟื้นฟูกีฬาโบราณขึ้นใหม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนและตอบรับจากผู้เข้าฟังอย่างดี
ค.ศ. 1893 เดอ คูเบอร์แตง จัดการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับการกีฬา ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์อีกครั้ง มีประเทศต่างๆ 13 ประเทศ ส่งตัวแทนมาเข้าร่วมการประชุม และอีก 21 ประเทศ ให้การสนับสนุน
ค.ศ. 1896 ความพยายามของ ปิแอร์ เดอ คูเบอร์แตง ก็บรรลุผลสำเร็จ มีการจัดตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ (ไอ.โอ.ซี.) และจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกแบบสมัยใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรก ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ มีประเทศต่างๆ 13 ประเทศส่งสมาชิกเข้าร่วมแข่งขัน
อ่านเพิ่มเติม :
- โอลิมปิกกรีกโบราณ “แก้ผ้าเล่น” สู่ช่วงขาลงยุคโรมัน ก่อนรื้อฟื้นใหม่ปลายศตวรรษที่ 19
- นัยของ “เหรียญรางวัล” ทำไมต้องมอบเหรียญทอง-เงิน-ทองแดง ให้นักกีฬาโอลิมปิก?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
ชนัญ วงษ์วิภาค. โอลิมปิกกีฬาและสงคราม, สำนักพิมพ์เจ้าพระยา, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2527
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2565