“วชิรญาณ” พระฉายานามในรัชกาลที่ 4 ใช้ตอนไหน กับเหตุการณ์ใด?

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 วชิรญาณภิกขุ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

หลายคนคงทราบว่า “วชิรญาณ” หรือ “วชิรญาณภิกขุ” คือพระฉายานามในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ที่พระอุปัชฌาย์ทรงตั้ง เมื่อครั้งผนวช 

แต่เคยสงสัยไหมว่าพระฉายานี้ทรงใช้เมื่อใด?

พระฉายา “วชิรญาณ”

บทความ “‘เจ้าฟ้ามงกุฎ’ พระนามอย่างเป็นทางการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้เมื่อทรงผนวชในรัชกาลที่ 3” ของ รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกและประวัติศาสตร์กัมพูชา ใน วารสาร “หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมไทย” ได้อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า…

“หลักฐานเกี่ยวกับพระฉายานาม ‘วชิรญาณ’ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เมื่อทรงผนวชนั้น ปรากฏในพระราชหัตถเลขาภาษาบาลี ดังเช่น พระสมณสาส์น ฉบับที่ 1 เรื่องส่งเครื่องบรรณาการไปให้พระธีรนันทที่ลังกา ดังมีความในพระสมณสาส์นภาษาบาลีและคำแปลดังนี้

(1) วิสุทฺธพุทฺธาทิรตนตฺตยาภาวภาสิเต สฺยามรฏฺเ รตนโกสินฺทเทวมหานครราชธานิยํ ปวรนิเวสาทิคณิสฺสเรหิ ทสหิ ธมฺมยุตฺติกนิกายิกเถรวเรหิ อิทํ สาสนปณฺณํ วาลุการาเม ธีรานนฺทเถรสฺส มฺรมฺมวํสิกสงฺฆนายกสิสฺสภูตสฺส ชานาปนตฺถาย ปหิตํ อิทานิ สฺยามาทิรฏฺฐาธิปติสฺสรินฺทสฺส ปรมธมฺมิกมหาราชสฺส รญฺโญ กนิฏฺฐภาตุภูตวชิรญาณมกุฏ สมฺมตวํสมหาเถโร อายสฺมโต เวยฺยตฺติเยน อภิปฺปสนฺโน…

สาธายสฺมา ตสฺส สพฺเพเต เทยฺยธมฺเม ปฏิคณฺหาตุ ตสฺส ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย

(2) สีมากถาปฏิสํยุตฺตํ ปฏิสาสนํ วิตฺถารโต อมฺหากํ สพฺเพสํ อนุมติยา เถเรน คนฺถิตํ ปฏเกสุ ลิขาเปตฺวา เอกโต พนฺธ มญฺชุสาย ปกฺขิตฺต ํ ํ ตทญฺญา จ เถเรเนว อิโต ปุพฺเพ คนฺถิตา สิกฺขตฺตยทีปิกา คาถาโย สชฺฌายิตพฺพปาฐภูตา ลิขิตฺวา ปหิตา สาธายสฺมา สุขุเมน ญาเณน อตฺถํ อุปปริกฺขิตฺวา โอโลเกตุ อญฺเญสมฺปิ ทสฺเสตพฺพํ มญฺญตุ ยทิ ปฏิปฺ ผริตพฺพํ โหติ อปริสงฺกิตฺวา ปฏิสาสนํ โหตุ

(3) พุทฺธสฺส ภควโต ปรินิพฺพานโต สตฺตาสีตฺยาธิกติสตุตฺตร ทฺวิสหสฺสสาสนายุมฺหิ มิคสิรมาสสฺส ชุณฺหปกฺขปญฺจมิยํ โสรวาราย ปหิตมิทํ

คำแปล

“(1) พระสมณศาส์นนี้ อันพระเถระทั้งหลายฝ่ายคณะธรรมยุติกนิกาย 10 พระองค์ ผู้เปนเจ้าคณะ มีคณะวัดบวรนิเวศวิหารเปนอาทิ ในรัตนโกสินทรเทพมหานครราชธานี ในสยามรัฐ ซึ่งประกาศความปรากฏแห่งรัตนตรัยมีวิสุทธพุทธรัตนะเปนอาทิ ได้ส่งไปแก่พระธีรานันทเถระผู้เปนศิษย์แห่งมรัมมะวังศิกสังฆนายก ณวาลุการามเพื่อประโยชน์ให้ทราบ บัดนี้สมเดจพระมหาเถระ

วชิรญาณมกุฏสมมตวงศ์ ผู้พระราชกนิษฐภาดาแห่งสมเดจพระบรมธรรมิกมหาราช ผู้เปนพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ของแว่นแคว้นมีสยามรัฐเปนอาทิ ทรงเลื่อมใสด้วยความเปนผู้ฉลาดของท่าน พระราชทานทัยธรรมเหล่านี้คือ

(2) ขอท่านจงรับทัยธรรมเหล่านี้ทั้งหมดของข้าพเจ้า เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ข้าพเจ้าสิ้นกาลนานฯ

(3) พระสมณศาส์นตอบเรื่องสีมากถา อันสมเดจพระเถระทรงพระนิพนธ์แล้วโดยพิสดารตามอนุมัติแห่งพระเถระทั้งปวง โปรดให้เขียนแล้ว ในแผ่น (กระดาส) เย็บเปนเล่ม 1 บรรจุในหีบ อนึ่งนอกจากคาถาพระนิพนธ์สีมานั้น สมเดจพระเถระทรงพระนิพนธ์คาถาทั้งหลายแสดงไตรสิกขา เปนปาฐะที่ควรสาธยายอันทรงไว้ก่อนแล้ว ก็โปรดให้เขียนประทานไปด้วย ขอท่านจงพิจารณาดูความด้วยญาณอันสุขุม จงสำคัญว่าพระสมณศาส์นนี้ควรที่ท่านจะแสดงแก่ผู้อื่นๆ หากว่าพระสมณศาส์นนี้เปนของควรให้แพร่หลาย จงไม่รังเกียจส่งข่าวตอบฯ

(4) พระสมณศาส์นนี้ประทานไปแต่วันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ มิคสิรมาส พระพุทธศาสนายุกาล แต่พุทธปรินิพพาน 2387 ปี ฯ”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

นอกจากนี้ในสมณสาส์นฉบับอื่นๆ ที่เป็นภาษาบาลีที่ทรงมีถึงพระสงฆ์ลังกาและพระสงฆ์ยะไข่ ก็ทรงใช้พระฉายานามว่า “วชิรญาณ” หรือ “วชิรญาณเถระ” เมื่อกล่าวถึงพระนามของพระองค์ แต่ใช้ในการติดต่อระหว่างพระองค์กับพระสงฆ์ในกิจการที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่เป็นภาษาบาลีเท่านั้น”

ในตอนหนึ่งของ “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ถึงนาย ยี. ดับลยู. เอ๊ดดี เมื่อ วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2391 ได้อธิบายถึงการใช้พระนาม “วชิรญาณ” ไว้ด้วยเช่นกัน ความว่า

“…แต่มิตรของข้าพเจ้าบางคนซึ่งอยู่ในประเทศลังกาผู้รู้ภาษามคธ เรียกนามข้าพเจ้าว่า ‘วชิรญาโน’ อันเป็นนามซึ่งพระอุปัชฌาย์ให้ข้าพเจ้าใช้ในพุทธศาสนา คำนั้นแปลว่า ‘ผู้มีความสามารถอันสว่างประดุจเพ็ชร’ เพราะฉนั้นชาวสิงหลจึงออกนามข้าพเจ้าดังนี้ ‘มกุฏ วชิรญาโณ เถโร’ มกุฏ นั้นเปลี่ยนจากนามภาษาสยามเป็นภาษามคธ เถฏร เป็นคำใช้เรียกหัวหน้าพระสงฆ์ผู้บุคคลพึงนับถือโดยความรู้ทางศาสนา”

จึงทำให้ทราบได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงใช้ “วชิรญาณ” เป็นพระฉายานามเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ศานติ ภักดีคำ. “เจ้าฟ้ามงกุฎ” พระนามอย่างเป็นทางการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เมื่อทรงผนวชในรัชกาลที่ 3 ใน หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมไทย. ฉบับที่ 9 (กันยายน 2555-สิงหาคม 2556).


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 สิงหาคม 2567