รัชกาลที่ 5-กรมพระยาวชิรญาณวโรรส “ทรงเห็นต่าง” ในการสร้างวัดเบญจมบพิตร

วัดเบญจมบพิตร เมื่อแรกก่อสร้าง

เมื่อรัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริให้สร้างวัดเบญจมพิตรฯ [สังกัดมหานิกาย] สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงเป็นผู้อำนวยการจัดการศึกษา ทรงมีลายพระหัตถ์ทูลเกล้าฯ ถวายกลับไป ภายหลังได้รับพระราชทานพระราชหัตถเลขา ที่ 11/501 เรื่องการสร้างวัดเบญจมบพิตร โดยทรงถวายความเห็นในการนี้เป็น 2 ส่วน คือ “ความเห็นสาธารณะ” และ “ความเห็นเกี่ยวกับตน”

ในส่วนของ “ความเห็นเกี่ยวกับตน” นั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ความตอนหนึ่งว่า [จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

Advertisement

“เพราะตนเองเปนธรรมยุติกา ไม่สามารถจะตั้งเปนสูญกลาง ธรรมการที่เปนน่าที่หรือเกี่ยวกับมหานิกาย อาตมาภาพจะรับฉลองตามพระเดชพระคุณได้แต่เพียงให้อยู่ใต้เปรเสเดนซีของธรรมยุติกา ถ้าการนั้นจะเปนไปเพื่อตัดเปรวิเลชของธรรมยุติกาแล้ว ได้ตั้งใจไว้ว่าจะไม่ทำเลย…เมื่อว่าทั่วไปแล้ว อาตมาภาพย่อมเหนชอบตามคดีโลก คือ Patriotism แลตามคดีธรรมคือความปฏิบัติเพื่อประโยชน์ทั้งฝ่ายตน ฝ่ายท่านเป็นดี แต่การนี้เปนพอเหมาะแก่กำลัง

ในสมัยนี้อาตมาภาพมีความชอกช้ำ เกือบเรียกว่าสิ้นกำลังที่จะรับราชการฉลองพระเดชพระคุณด้วยประการทั้งปวง ตั้งแต่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เปนเจ้าคณะรองในธรรมยุติกนิกายมาจนบัดนี้ได้ 18 ปีแล้ว ไม่ได้มีเวลาผ่อนอารมณ์เลยตั้งแต่ศก 101 อาตมาภาพอาพาธที่น่ากลัวอายุจะไม่ยืน ไปได้ถึงสามปีมาแล้ว ในปีนี้เปนมาก…ตั้งแต่บอบช้ำลง

อาตมาภาพสังเกตเหนว่าเชาวน์ไม่ไหวเหมือนอย่างก่อน ความคิดเนือยไป จะแต่งหนังสือหรือคิดอไรไม่ใคร่ออกคล่อง ชักวนเวียนไป จะพูดตอบแก่ใครก็รู้สึกไม่พอใจเมื่อภายหลังว่า พูดเช่นนั้นก็จะดีกว่า การเช่นนี้ไม่เคยมีแต่ก่อน เหนว่ากำลังความคิดหมดลง แต่ผู้อื่นจะเหนอย่างไรไม่ทราบ” [หจช. ร. 5 8/1, ที่ 176 “ลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรยาณวโรรสทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” วันที่ 15 พฤศจิกายน  ร.ศ. 118]

วันถัดมา รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึงเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ถึงเรื่องการสร้างและตกแต่งวัดเบญจมบพิตร ในตอนท้ายของพระราชหัตถเลขามีเนื้อความที่น่าสนใจ โดยรัชกาลที่ 5 ทรงเขียนไว้ว่า [จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

“เรื่องสร้างวัดนี้ ฉันไปเกิดมีทิฐิขึ้นมาเสียแล้ว แรกที่คิดจะสร้าง ได้เล่าให้กรมหมื่นวชิรญาณฟัง ดูท่านเข้ามาพลอยกุลีกุจอด้วย แต่ไปภายหลังจะไปคิดเหนอย่างไร เมื่อหารือเรื่องจะจัดการเล่าเรียน ท่านออกสบัดๆ ไป เหมือนกับจะรแวงว่าเปนพลอยช่วยเกื้อกูลความรุ่งเรืองของมหานิกาย จึงเปนอันว่าได้ตั้งใจเสียแล้วว่าจะไม่ให้มหานิกายขึ้นหน้าธรรมยุติ ที่จะช่วยจัดการอย่างไรไม่ได้ เว้นไว้แต่อยากเรียนก็ให้มาอยู่วัดรังษี วัดพลับพลาไชย ฤวัดอนงค์ [วัดทั้ง 3 เป็นวัดในมหานิกาย]

เมื่อเป็นเช่นนั้นจะสร้างวัดนี้ขึ้นทำไม ถ้าจะเดินทางนั้นก็ต้องไปรับเปนกระโถนวัดมงกุฎกระษัตริย ฉันทนไม่ไหว ที่ว่าทั่งนี้ก็เหนด้วยว่ามหานิกายคงจะจัดการเล่าเรียนไม่ได้ ฉันก็เกิดทิฐิขึ้นมาบ้าง จะจัดการมหานิกายล้วน ไม่ให้เกี่ยวกับธรรมยุติเลย ถ้าจะรอช้าไป จะเหนผลช้า” [พระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, น.12-13 เป็นพระราชหัตถเลขาที่ 19/509 วันที่ 16 พฤศจิกายน ร.ศ. 118.]

ท้ายที่สุดปัญหาเรื่องวัดเบญจมบพิตรฯ ก็ยุติลงด้วยการเป็นวัดในสังกัดมหานิกาย หากทว่ากรณีดังกล่าวต้องการอธิบายให้เห็นว่าแม้จะมีความคับข้องใจในการทำงานร่วมกัน แต่ถึงที่สุดก็สามารถทำให้ปัญหาผ่านไปได้ อาจพิจารณาได้จากพระราชประสงค์ที่ทรงแสดงไว้อย่างชัดเจน ในการกระทำเพื่อ “กลุ่มตน” อันมีที่มาจากสปิริต ความเป็นอุดมการณ์ ดังลายพระหัตถ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่ทรงมีไปถึงพระยาวุฒิการบดี ความว่า

“เมื่อได้รับจดหมายหารือมาด้วยเรื่องกำหนดวันแปลพระปริยัติธรรมในศกนี้ ขอแจ้งให้ทราบว่า ในการทั้งปวงที่จะต้องเกี่ยวข้องกับฉัน ขอให้เฉภาะตัวหรือเปนการที่จะทำได้ด้วยความเป็นราชตระกูล ไม่อยากทำการอันเปนน่าที่เฉภาะเจ้าคณะ เพราะฉะนั้นในการแปลพระปริยัติธรรม ถ้าจะนั่งได้เฉภาะตัวหรือตามฐานที่เปนราชตระกูล ก็พอจะเข้าใจไม่ แลขอเจ้าคุณให้เจ้าพนักงานประพฤติในฉันอย่างราชตระกูล แลชื่อที่จะใช้ ไม่พอใจให้ใช้คำว่า สมเด็จพระราชาคณะข้างท้ายในประกาศนียบัตรที่จะออกไป ถ้าจะพลอยออกชื่อฉันเหมือนที่เคยเป็นมาแล้ว ขอให้ยกคำว่าที่สมเด็จพระราชาคณะออกเสียง” [หจช. ร. 5 8/1, ที่ 41/130 “ลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรยาณวโรรสทรงมีไปถึงถึงพระยาวุฒิการบดี” วันที่ 26 มกราคม ร.ศ. 122]

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ปฐม ตาคะนันท์. คณะสงฆ์สร้างชาติ สมัยรัชกาลที่ 5, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ธันวาคม 2564