ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี แล้ว “พี่น้องรัชกาลที่ 5” ที่ร่วมสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชินีมีกี่พระองค์
คำตอบคือ 4 พระองค์ โดยรัชกาลที่ 5 ทรงเป็น “พี่คนโต” และทรงมีสมเด็จพระราชโสทรกนิษฐภคินี (น้องสาว) และสมเด็จพระราชโสทรานุชา (น้องชาย) อีก 3 พระองค์
“พี่น้องรัชกาลที่ 5” เรียงลำดับ 3 พระองค์ ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์
พระองค์ประสูติเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2398 ทรงเป็นที่รักของสมเด็จพระบรมชนกนาถอย่างยิ่ง โดยรัชกาลที่ 4 ทรงเรียกพระราชธิดาพระองค์นี้ว่า “นางหนูลูกรำเพย”
แอนนา เลียวโนเวนส์ ที่เข้ามาสอนภาษาอังกฤษสมัยรัชกาลที่ 4 บันทึกไว้ว่า
“สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงองค์น้อยผู้งดงามราวเทพธิดา ทรงเป็นที่รักใคร่โปรดปรานของพระองค์หญิงละม่อมและสมเด็จพระราชบิดามาก ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระราชบิดามักโปรดให้ประทับอยู่ใกล้ ๆ เมื่อเวลาเสวยพระกระยาหาร โปรดให้ประทับบนพระเพลา และโปรดให้ตามเสด็จพระราชดำเนินไปไกล ๆ ถึงอยุธยา”
อย่างไรก็ตาม เมื่อพระองค์เจริญพระชันษาได้ราว 8 ปี ก็เกิดอหิวาตกโรคระบาดขึ้นในกรุงเทพมหานคร พระองค์ประชวรด้วยโรคดังกล่าว และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2406
รัชกาลที่ 4 โปรดให้จัดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2406 (นับตามปฏิทินแบบเก่า) โดยออกพระเมรุพร้อมกับพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้ากนิษฐน้อยนารี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 2
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์
“พี่น้องรัชกาลที่ 5” พระองค์ถัดมา คือ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ประสูติเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2399
เมื่อครั้ง พ.ศ. 2439 รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำรัสแสดงพระราชประสงค์ในการเสด็จประพาสยุโรป และตั้งพระราชกำหนดให้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และที่ปรึกษาผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ก็ทรงเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีบทบาทในการพัฒนาสยามให้ก้าวหน้า ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ วางระบบการดูแลจัดเก็บภาษีอากร อีกด้วย
เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2443 สิริรวมพระชันษา 44 ปี พระนามของพระองค์คุ้นหูมาถึงปัจจุบัน เพราะชื่อ “ถนนจักรพรรดิพงษ์” ตั้งตามพระนามของท่าน
สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
พระองค์ประสูติเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2402 ทรงมีบทบาทในการพัฒนาบ้านเมืองเช่นเดียวกับพระเชษฐา
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ก็ทรงเป็นหนึ่งคณะที่ปรึกษาผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ทั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุทธนาธิการ เสนาบดีกระทรวงกลาโหม
นอกจากนี้ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์พระองค์แรกของประเทศ ทรงปรับปรุงกิจการไปรษณีย์ให้ทันสมัย กระทั่งทรงได้รับการยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งการไปรษณีย์ไทย”
เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2471 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 7 สิริรวมพระชันษา 69 ปี
อ่านเพิ่มเติม :
- รู้จัก เจ้าฟ้าจันทรมณฑล “ลูกที่เรารักที่สุด” ของรัชกาลที่ 4
- สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ “ผู้สำเร็จราชการฯ หญิง” คนแรกของไทย
- 13 มิถุนายน 2471 วันทิวงคต สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ “พระบิดาแห่งการไปรษณีย์ไทย”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 สิงหาคม 2567