เปิดที่มา “อุดรธานี” จังหวัดแรกของไทย ที่มี “บ้านเชียง-ภูพระบาท” เป็นมรดกโลกถึง 2 แห่ง

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อุดรธานี ที่ตั้ง พระบาทบัวบก บ้านเชียงและภูพระบาท
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ. อุดรธานี

เป็นข่าวดีของคนไทยทั้งประเทศ เมื่อ องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศให้ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ที่กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ทำให้อุดรธานีเป็นจังหวัดแรกของไทย ที่มีมรดกโลกถึง 2 แห่ง คือ “บ้านเชียงและภูพระบาท” 

บ้านเชียงและภูพระบาท มรดกโลกทางวัฒนธรรม อุดรธานี
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งล่าสุดของไทย
“อุดรธานี” ที่ตั้งบ้านเชียงและภูพระบาท

แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ตั้งอยู่ในตำบลบ้านเชียง (ในเขตเทศบาลตำบลบ้านเชียง) อำเภอหนองหาน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากยูเนสโก เมื่อ พ.ศ. 2535 ส่วนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านผือ

อุดรธานี เป็นเมืองใหญ่ในภาคอีสานตอนบน ก่อร่างพัฒนามาจาก “บ้านเดื่อหมากแข้ง” โดยมี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นผู้วางรากฐาน ซึ่งเบื้องหลังของการกำเนิดเมืองอุดรธานีนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศ คือ กรณีความขัดแย้งระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ร.ศ. 112

กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสังวาลย์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2399 ทรงได้รับการศึกษาอย่างสมัยใหม่ ทรงศึกษาภาษาต่างประเทศกับแอนนา เลียวโนเวนส์ หรือ “แหม่มแอนนา” และนายแพ็ตเทอร์สัน จนอ่านออกเขียนได้

พระองค์ยังทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ มากมาย เช่น วิชากฎหมายจากขุนหลวงไกรศรี (หนู) ทำให้พระองค์ทรงเป็นเจ้านายคนสำคัญในพระราชวงศ์ ที่ต่อมาจะมีบทบาทสำคัญในราชสำนักรัชกาลที่ 5

บทบาทแรกๆ ที่ทำให้กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเข้ามาเกี่ยวข้องผูกพันกับหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ (ฝั่งเวียงจันทน์ และภาคอีสานตอนบน) คือ เมื่อราว พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเสด็จฯ ยกกองทัพไปปราบฮ่อ ร่วมกับเจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสง-ชูโต)

คราวนั้น กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมทรงไปปราบฮ่อที่เมืองพวน เสด็จฯ ผ่านทางเมืองหนองคาย ภายหลังเมื่อเสร็จศึกปราบฮ่อ พระองค์รับสั่งให้สร้างอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในการนี้ไว้ที่เมืองหนองคายด้วย

อย่างไรก็ตาม การศึกปราบฮ่อครั้งนี้ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เกิดความตึงเครียดขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะทางหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญจุดหนึ่ง เพราะมีเมืองสำคัญอย่าง เวียงจันทน์ หนองคาย ฯลฯ

ใน พ.ศ. 2434 รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ประจำหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ ให้ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองหนองคาย

ระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ที่เมืองหนองคายราว 2 ปี ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจหลายประการ ทั้งการตั้งกรมการเมืองออกไปสำรวจเขตของแต่ละเมือง การประกาศให้มีการจัดเก็บภาษีอากรสุราในหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ การฝึกหัดทหารใหม่ เป็นต้น

แหล่งโบราณคดี บ้านเชียง บ้านเชียงและภูพระบาท มรดกโลก อุดรธานี
หลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี
วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 กับการกำเนิด “อุดรธานี”

ความขัดแย้งระหว่างสยามกับฝรั่งเศสมาปะทุในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2436 ที่ทำให้ฝรั่งเศสเข้าครอบครองดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง โดยมีข้อตกลงหนึ่งระบุไว้คือ “คอเวอนแมนต์สยามจะไม่ก่อสร้างด่าน ค่าย คู ฤๅที่อยู่ของพลทหารในแขวงเมืองพระตะบอง แลเมืองนครเสียมราฐ แลในจังหวัด 25 กิโลเมตร (625 เส้น) บนฝั่งขวาฟากตะวันตกแม่น้ำโขง”

เหตุนี้เอง สยามจึงต้องย้ายที่ตั้งกองบัญชาการจากเมืองหนองคายไปยังสถานที่อื่นที่อยู่นอกรัศมี 25 กิโลเมตร

ตอนนั้น กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมทรงร่นย้ายที่ตั้งกองบัญชาการลงมาทางทิศใต้ ทรงเลือกเอาบริเวณ “บ้านเดื่อหมากแข้ง” เป็นฐาน ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทรงเลือกเอาบริเวณนี้เนื่องจาก

  1. อยู่นอกรัศมี 25 กิโลเมตร ตามข้อตกลงกับฝรั่งเศส
  2. บ้านเดื่อหมากแข้ง “เป็นบ้านอยู่ในหว่างเมืองหนองคาย เมืองหนองหาร เมืองขรแก่น เมืองกุมภวาปี เมืองกมุทธาไสย” จึงเหมาะแก่การนำเสบียงของเมืองเหล่านั้นมาใช้ เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้เงินหลวง
  3. หากฝรั่งเศสคิดยึดหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ คงจะยึดเมืองหนองคายก่อน เพื่อให้ทันต่อต้านฝรั่งเศส การตั้งกองบัญชาการที่บ้านเดื่อหมากแข้ง จึงเหมาะสมสำหรับการเคลื่อนกำลัง

กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมทรงนำกองทหารและข้าราชบริพารเสด็จฯ ถึงบ้านเดื่อหมากแข้ง เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2436 (ปฏิทินสากลตรงกับ พ.ศ. 2437)

นี่เองเป็นรากฐานการกำเนิดจังหวัดอุดรธานี ที่ตั้ง “บ้านเชียงและภูพระบาท” มรดกโลกทางวัฒนธรรมถึง 2 แห่งของประเทศไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


 อ้างอิง :

เสมียนอารีย์. “ม่านการเมือง เบื้องหลังกำเนิด ‘อุดรธานี’”


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กรกฎาคม 2567