ม่านการเมือง เบื้องหลังกำเนิด “อุดรธานี”

กรมหลวงประจักษ์ เสด็จมาสร้างเมือง อุดรธานี
กรมหลวงประจักษ์ฯ เคลื่อนกำลังจากหนองคายมาสร้างเมืองอุดรธานี ภาพสีน้ำมันฝีมือครูสุนทร พรรณรัตน์ จัดแสดงภายในห้องพระประวัติกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ณ พิพิฑภัณฑ์เมืองอุดรธานี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2555)

“อุดรธานี” เมืองใหญ่ในภาคอีสานตอนบน เป็นเมืองที่ก่อร่างพัฒนามาจาก “บ้านเดื่อหมากแข้ง” โดยมี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นผู้วางรากฐาน ซึ่งเบื้องหลังของการกำเนิดเมืองอุดรธานีนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศ คือ กรณีความขัดแย้งระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ร.ศ. 112

กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม กับ อุดรธานี

กรมหลวงประจักษ์ฯ เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสังวาลย์ ประสูติในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2399 ทรงได้รับการศึกษาอย่างสมัยใหม่ ทรงศึกษาภาษาต่างประเทศกับแหม่มแอนนา และนายแพ็ตเทอร์สัน จนอ่านออกเขียนได้ และทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ มากมาย เช่น วิชากฎหมายจากขุนหลวงไกรศรี (หนู) ทำให้พระองค์ทรงเป็นเจ้านายในพระราชวงศ์คนสำคัญที่ต่อมาได้กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในราชสำนักรัชกาลที่ 5

บทบาทแรก ๆ ที่ทำให้กรมหลวงประจักษ์ฯ เข้ามาเกี่ยวข้องผูกพันกับหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ (ฝั่งเวียงจันทน์ และภาคอีสานตอนบน) คือ เมื่อราว พ.ศ. 2428 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงประจักษ์ฯ เสด็จฯ ยกกองทัพไปปราบฮ่อร่วมกับเจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสง-ชูโต) โดยกรมหลวงประจักษ์ฯ เสด็จไปปราบฮ่อที่เมืองพวน เสด็จฯ ผ่านทางเมืองหนองคาย และภายหลังเสร็จศึกปราบฮ่อ พระองค์รับสั่งให้สร้างอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในการนี้ไว้ที่เมืองหนองคายอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การศึกปราบฮ่อครั้งนี้ยังผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ความตึงเครียดมีมากโดยเฉพาะบริเวณหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญจุดหนึ่งเพราะมีเมืองสำคัญอย่าง เวียงจันทน์ หนองคาย ฯลฯ ดังนั้น ใน พ.ศ. 2434 รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงประจักษ์ฯ เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ประจำหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ ให้ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองหนองคาย

ระหว่างที่กรมหลวงประจักษ์ฯ ประทับอยู่ที่เมืองหนองคายราว 2 ปี ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจหลายประการ ทั้งการตั้งกรมการเมืองออกไปสำรวจเขตของแต่ละเมือง การประกาศให้มีการจัดเก็บภาษีอากรสุราในหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ และการฝึกหัดทหารใหม่

รูปปั้น กรมหลวงประจักษ์ ที่ อุดรธานี
พระรูปกรมหลวงประจักษ์ฯ ภายในห้องพระประวัติกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ณ พิพิฑภัณฑ์เมืองอุดรธานี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2555)

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 กับ อุดรธานี

กระทั่งเกิดกรณี ร.ศ. 112 หรือตรงกับ พ.ศ. 2436 ที่ทำให้ฝรั่งเศสเข้าครอบครองดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ทั้งนี้มีข้อตกลงหนึ่งระบุไว้คือ “คอเวอนแมนต์สยามจะไม่ก่อสร้างด่าน ค่าย คู ฤๅที่อยู่ของพลทหารในแขวงเมืองพระตะบอง แลเมืองนครเสียมราฐ แลในจังหวัด 25 กิโลเมตร (625 เส้น) บนฝั่งขวาฟากตะวันตกแม่น้ำโขง”

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ต้องย้ายที่ตั้งกองบัญชาการจากเมืองหนองคายไปยังสถานที่อื่นที่อยู่นอกรัศมี 25 กิโลเมตร กรมหลวงประจักษ์ฯ จึงทรงร่นย้ายที่ตั้งกองบัญชาการลงมาทางทิศใต้ ทรงเลือกเอาบริเวณ “บ้านเดื่อหมากแข้ง” โดยเหตุผลสำคัญที่ทรงเลือกเอาบริเวณนี้เนื่องจาก

1. อยู่นอกรัศมี 25 กิโลเมตร ตามข้อตกลงกับฝรั่งเศส

2. บ้านเดื่อหมากแข้ง “เป็นบ้านอยู่ในหว่างเมืองหนองคาย เมืองหนองหาร เมืองขรแก่น เมืองกุมภวาปี เมืองกมุทธาไสย” จึงเหมาะแก่การนำเสบียงของเมืองเหล่านั้นมาใช้ เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้เงินหลวง

3. หากฝรั่งเศสคิดยึดหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ คงจะยึดเมืองหนองคายก่อน เพื่อให้ทันต่อต้านฝรั่งเศส การตั้งกองบัญชาการที่บ้านเดื่อหมากแข้งจึงเหมาะสมสำหรับการเคลื่อนกำลัง

กรมหลวงประจักษ์ฯ นำกองทหารและข้าราชบริพารเสด็จฯ ถึงบ้านเดื่อหมากแข้ง เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2436 (ปฏิทินสากลตรงกับ พ.ศ. 2437)

นี่เป็นรากฐานการกำเนิดของเมือง “อุดรธานี”

กรมหลวงประจักษ์ เสด็จมาสร้างเมือง อุดรธานี
กรมหลวงประจักษ์ฯ เคลื่อนกำลังจากหนองคายมาสร้างเมืองอุดรธานี ภาพสีน้ำมันฝีมือครูสุนทร พรรณรัตน์ จัดแสดงภายในห้องพระประวัติกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ณ พิพิฑภัณฑ์เมืองอุดรธานี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2555)

นัยยะเปลี่ยนชื่อเรียกพื้นที่-ละความเป็นลาว

ก่อนหน้านี้มีการเรียกพื้นที่หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือหลายชื่อ โดยมีการเปลี่ยนชื่อเรียกมาครั้งด้วยกัน ไล่ตั้งแต่

เปลี่ยนจาก “หัวเมืองลาวพวน” เป็น “มณฑลลาวพวน” ในปี พ.ศ. 2435

เปลี่ยนจาก “มณฑลลาวพวน” เป็น “มณฑลฝ่ายเหนือ” ในปี พ.ศ. 2442

เปลี่ยนจาก “มณฑลฝ่ายเหนือ” เป็น “มณฑลอุดร” ในปี พ.ศ. 2443

และใน พ.ศ. 2450 มีการรวมเมืองกมุทธาไสย เมืองกุมภวาปี เมืองหนองหาน และบริเวณบ้านเดื่อหมากแข้ง เข้าด้วยกันโดยเรียกว่า “เมืองอุดรธานี”

กระทั่งเปลี่ยนจาก “เมืองอุดรธานี” เป็น “จังหวัดอุดรธานี” ใน พ.ศ. 2476

คำว่า “อุดรธานี” เป็นภาษาบาลี แยกได้ 2 คำ คือ คำว่า “อุตร” หรือ “อุดร” แปลว่า “เหนือ” หรือ “สูง” ส่วนอีกคำคือ “ธานี” แปลว่า “เมือง” แปลรวมกันได้ว่า “เมืองที่อยู่ทางเหนือ” 

เชิดชาย บุตดี ผู้เขียนบทความ “กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม และความรับรู้เกี่ยวกับการสร้างเมืองอุดรธานี” แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการเปลี่ยนชื่อเรียกพื้นที่บริเวณนี้ไว้ว่า

“การเปลี่ยนชื่อเรียกในแต่ละครั้ง ได้แสดงให้เห็นว่า ราชสำนักสยามที่กรุงเทพฯ รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในอำนาจของตนบริเวณแถบนี้ พวกเขาทราบดีว่าราษฎรแถบนี้ส่วนใหญ่คือผู้ที่อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (ประเทศลาวในปัจจุบัน) ดังนั้นทั้งเพื่อป้องกันการต่อต้านอำนาจของราชสำนักสยาม และเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่แก่ฝรั่งเศส ราชสำนักสยามจึงได้ปรับปรุงการปกครองโดยส่งคนจากส่วนกลางมาควบคุมและดูแล ซึ่งถือว่าเป็นการกระชับอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ที่สำคัญพวกเขาพยายามลดทอนความเป็นลาวของคนบริเวณแถบนี้โดยการเปลี่ยนชื่อเรียกหัวเมืองแถบนี้เรื่อยมา

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าการที่กรมหลวงประจักษ์ฯ ไปตั้งกองบัญชาการลาวพวนที่เมืองหนองคายก็ดี การย้ายที่ตั้งมาบ้านเดื่อหมากแข้งก็ดี ล้วนเป็นการปักหมุดสัญลักษณ์ทางการเมืองของราชสำนักสยาม เพราะพวกเขาตระหนักดีว่านอกจากการได้รับส่วยบรรณาการและแรงงานเป็นครั้งคราวแล้ว หัวเมืองแถบนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับราชสำนักสยามโดยตรงเลย ดังนั้น การปักหมุดสัญลักษณ์ทางอำนาจเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ ทั้งแก่ราษฎรและแก่ฝรั่งเศสจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อแสดงว่า ตนได้ปกครองและเกี่ยวข้องกับหัวเมืองแถบนี้อยู่”

อนุสาวรีย์ กรมหลวงประจักษ์ อุดรธานี
อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ฯ ณ บริเวณห้าแยกเยื้องมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี(ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2555)

นอกจากประเด็นการเปลี่ยนชื่อเรียกหัวเมืองลาวแล้ว ในประเด็น พยายามลดทอนความเป็นลาว” นี้ เห็นได้ชัดเจนจากการที่ราชสำนักสยามพยายามไม่ใช้คำว่า “ลาว” ในการกรอกชื่อเชื้อชาติในบัญชีสำมะโนครัวอีกด้วย โดยให้ใช้คำว่า “ไทย” แทน โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพรับสั่งให้แก้ไขเรื่องนี้ ทรงอธิบายว่า

“มีชาติที่จะแย่งไม่ได้อยู่อย่างหนึ่งคือที่จะแบ่งให้เป็นลาว เป็นไทย เพราะการกำหนดดังนั้น แม้ตามความเข้าใจของคนทั้งหลายก็ไม่มีหลัก ถ้าว่าด้วยภาษาลาว ภาษาไทย ก็เป็นภาษาเดียวกัน ต่างสำเนียงและถ้อยคำบางคำที่เป็นภาษาเก่า ภาษาใหม่ผิดกัน”

สอดคล้องกับพระดำริของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ที่ทรงเข้ามาปกครองดูแลมณฑลลาวกาว หรือหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ แถบเมืองอุบลราชธานี ดังที่ทรงกล่าวว่า

“แต่นี้สืบไปเจ้าหน้าที่แต่ละแผนกทุกเมืองน้อยใหญ่ ในมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อจะมีการสำรวจสำมะโนครัวหรือหากมีราษฎร มาติดต่อที่จะต้องใช้แบบพิมพ์ทางราชการให้ปฏิบัติใหม่ โดยกรอกในช่องสัญชาตินั้นว่า ชาติไทยในบังคับสยามทั้งสิ้น ห้ามมิให้ลงหรือเขียนช่องสัญชาติว่า ชาติลาว ชาติเขมร ส่วย ผู้ไทย ฯลฯ ดังที่เคยปรากฏมาแต่ก่อนเป็นอันขาด”

สรุป

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากรณีความขัดแย้งระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ร.ศ. 112 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้กรมหลวงประจักษ์ฯ ต้องทรงย้ายกองบัญชาการมาตั้งที่บ้านเดื่อหมากแข้ง จนต่อมาได้พัฒนาจนกลายเป็นรากฐานการกำเนิดของเมืองอุดรธานี

จนกระทั่งต่อมา หลังจากการปฏิรูประบอบการปกครอง การรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง รวมทั้งความ พยายามลดทอนความเป็นลาว” ดังที่กล่าวไปบางส่วนข้างต้น ทำให้เมืองอุดรธานีรวมทั้งเมืองต่าง ๆ ในหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือมีความใกล้ชิดกับราชสำนักสยามมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันฝรั่งเศสเป็นสำคัญ

นี่คือม่านการเมืองเบื้องหลังกำเนิด “อุดรธานี”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อุราลักษณ์ สิถิรบุตร. (2526). มณฑลอีสานและความสำคัญในทางประวัติศาสตร์, วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เชิดชาย บุตดี. (มกราคม, 2555). กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม และความรับรู้เกี่ยวกับการสร้างเมืองอุดรธานี. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 33 : ฉบับที่ 3.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2564