วิวัฒนาการจาก “หินตั้ง” สู่ “เสมา” ผีและพุทธใน “ภูพระบาท” อุดรธานี มรดกโลกแห่งล่าสุดของไทย

เสมา ภูพระบาท
"กู่นางอุสา" เป็นเพิงหินขนาดเล็กที่มีใบเสมามาปักล้อมรอบทั้ง 8 ทิศ จึงเป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 (หรือราว1000 ปีมาแล้ว) (ภาพ : fb อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท)

เป็นข่าวดีล่าสุด เมื่อ ยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียน “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี เป็น “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” โดยเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ซึ่งนอกจากภูพระบาทจะค้นพบร่องรอยมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์แล้วนั้น ยังปรากฏวิวัฒนาการเรื่อง “ศาสนา” จากผีไปเป็นพุทธ ดังเห็นจาก “หินตั้ง” และ “เสมา”

“หินตั้ง” คือวัฒนธรรมที่มีการนับถือหิน เรียกอีกชื่อหนึ่งคือ “วัฒนธรรมหิน” ในภาษาอังกฤษมักเรียกวัฒนธรรมนี้ในคำรวม ๆ และใช้สลับกันไปมาคือ “megalith” แปลว่าหินใหญ่ และ “standing stone” แปลว่าหินตั้ง เนื่องจากหินที่นำมาใช้มักจะมีขนาดใหญ่ มักนำมาจับตั้งมุมฉากกับพื้นโลก หรือตั้งวางตามแนวนอน ทว่าบางครั้งหินที่นำมาใช้ก็ไม่ได้ใหญ่ จึงใช้ทั้ง 2 คำ

Advertisement

วัฒนธรรมนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้หินในการบูชาผี (หรือที่เรียกกันว่าศาสนาผี) หวังให้บรรพบุรษที่เคารพนับถือมาสิงสู่ที่หิน ช่วยปกปักรักษาให้ลูกหลานปลอดภัยและช่วยเรื่องการทำกินเป็นสำคัญ 

วัฒนธรรมหินที่ว่านี้มีมาหลายพันปีแล้วทั่วโลกและอุษาคเนย์ พบมากที่อีสาน รวมถึงภาคกลางบางแห่ง หนึ่งในนั้นคือ “ภูพระบาท” จ. อุดรธานี 

ยิ่งไปกว่านั้นที่ “ภูพระบาท” ยังพบ “เสมา” ที่ว่ากันว่าดัดแปลงมาจาก “หินตั้ง” อีกทีหนึ่ง

เสมา ที่ภูพระบาท

เสมาหรือสีมา เป็นภาษาบาลี กรมศิลปากร ให้ข้อมูลว่า เสมาหมายถึง “เขต ตามคัมภีร์พระพุทธศาสนา (พระวินัยปิฎก มหาวรรค ปฐมภาค อุโบสถขันธกะ และคัมภีร์สมันตปาสาทิกา) ได้กล่าวว่าพระพุทธองค์ให้สงฆ์กำหนดแนวเขตเพื่อทำสังฆกรรมร่วมกันอย่างน้อย 3 ตำแหน่ง ให้สามารถล้อมเป็นวงรอบพื้นที่ได้

โดยใช้นิมิต 8 อย่าง ได้แก่ ภูเขา หิน ป่า ต้นไม้ หนทาง จอมปลวก แม่น้ำ และน้ำที่ขัง คติการปักใบเสมาในพุทธศาสนาจึงเป็นเสมือนการกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้ในการทำพิธีกรรมทางศาสนา”

จากข้อมูลของสุจิตต์ วงษ์เทศ ในบทความของมติชนสุดสัปดาห์ ชื่อ “สุจิตต์ วงษ์เทศ : หินก่ายฟ้า และอุสา-บารส ที่ภูพระบาท อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี” และ “สุจิตต์ วงษ์เทศ : ‘หินตั้ง’ ในผี ‘เสมาหิน’ ในพุทธ” ได้กล่าวว่า “เสมา” เป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธ โดยดัดแปลงมาจากวัฒนธรรมหินตั้งเป็นหลัก เสมานั้นไม่ปรากฏในอินเดียหรือลังกา เป็นงานที่เกิดขึ้นมาจากอีสานโดยแท้ และเสมาในภูพระบาทที่เห็นกันนั้นก็ได้อิทธิพลมาจากหินตั้งหลังจากรับพุทธศาสนานั่นเอง

“บนภูพระบาท อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี มีหินตั้งในศาสนาผีราว 3,000 ปีมาแล้ว หลังรับศาสนาพุทธ ได้ดัดแปลงหินตั้งเป็นเสมาหิน ต้นแบบใบเสมาปักรอบโบสถ์ทุกวันนี้ (ไม่มีในอินเดีย, ลังกา) เป็นงานสร้างสรรค์โดยแท้ๆ เนื้อๆ จากอีสาน”

เสมา ภูพระบาท
“กู่นางอุสา” เป็นเพิงหินขนาดเล็กที่มีใบเสมามาปักล้อมรอบทั้ง 8 ทิศ จึงเป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 (หรือราว1000 ปีมาแล้ว) (ภาพ : fb อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท)

นอกจากเสมาจะดัดแปลงมาจากหินตั้งแล้ว… หินตั้งที่เคยเป็นวัฒนธรรมในอดีตก็ถูกกลืนกลาย หลังจากที่ศาสนาพุทธเข้ามาในพื้นที่ จะเห็นว่าหินหลากหลายชิ้นได้ถูกดัดแปลงมาเป็นพื้นที่เพื่อประกอบศาสนกิจ ประดิษฐานพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อสักการบูชา รวมถึงเป็นพื้นที่อาศัยของพระภิกษุในเวลาต่อมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.matichonweekly.com/sujit/article_464006

https://www.matichon.co.th/columnists/news_133570

https://www.finearts.go.th/phuphrabathistoricalpark/view/34648-ใบเสมาบนภูพระบาท

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. “หินตั้ง 3 แบบ ในศาสนาผี 2,000 ปีมาแล้ว ที่ อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี” ใน มติชนรายวัน, ปีที่ 36 ฉบับที่ 12989. หน้า 20


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กรกฎาคม 2567