ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เป็นวันครบรอบ 200 ปี แห่งการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โดยในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นไม่นาน ได้เกิดเหตุการณ์ลางร้ายก่อนวันสวรรคตขึ้นหลายประการ บรรดาไพร่ฟ้าก็เล่าลือกันไปทั่ว แม้แต่พระองค์รัชกาลที่ 2 ก็ทรงทราบเรื่องนี้ และไม่สบายพระราชหฤทัยช่นเดียวกัน
พระยาช้างเผือกล้ม
ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งได้ทรงตรวจสอบและชำระจากพระราชพงศาวดารฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) มีบันทึกถึงเรื่องพระยาช้างเผือกล้ม อันเป็นเหตุการณ์ลางร้ายเอาไว้ว่า
“ถึงเดือน 7 ปีวอก ฉศก เมื่อขึ้น 7 ค่ำ พระยาเศวตไอยราล้มช้างหนึ่ง ครั้นถึงแรม 7 ค่ำในเดือนเดียวกันนั้น พระยาเศวตคชลักษณ์ล้มอีกช้างหนึ่ง เหตุที่พระยาช้างเผือกอันเป็นศรีพระนคร นับว่าเป็นคู่พระบารมีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 2 ล้มไปในคราวเดียวกันถึง 2 ช้างเช่นนั้น เป็นเหตุให้เกิดรู้สึกกันทั่วไปว่า เป็นอุปัทวเหตุอันสำคัญมีขึ้น จนถึงไม่สบายพระทัยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
สำหรับพระยาเศวตไอยรา เป็นช้างลูกเถื่อนเผือกเอก คล้องได้ที่ป่าแขวงเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระยาเศวตคชลักษณ์ เป็นช้างพลายลูกเถื่อนเผือกเอก คล้องได้ที่ป่าแขวงเมืองน่าน ซึ่งทั้งสองช้างเป็นพระยาช้างเผือกที่ได้ในแผ่นดินรัชกาลที่ 2
ต่อมา เมื่อถึงคราวที่เจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ 4 ในเวลาต่อมา) จะทรงพระผนวช รัชกาลที่ 2 ก็ทรงทราบดีถึงลางร้ายเมื่อตอนพระยาช้างเผือกล้ม แต่ก็ทรงให้จัดพระราชพิธีทรงพระผนวชของเจ้าฟ้ามงกุฎต่อไป โดยไม่ต้องรั้งรอให้ลางร้ายจบสิ้นไปเสียก่อน ดังที่ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 บันทึกว่า
“ครั้นถึงเดือน 8 ปีวอก ฉศก มีพระราชดำรัสว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ พระชนมายุครบอุปสมบท แต่เป็นเวลาพระเคราะห์ร้าย เสียช้างสำคัญศรีบ้านศรีเมือง ให้จัดการทรงผนวชแต่โดยควร อย่าให้เสียปีเสียเดือน”
เหตุการณ์ลางร้ายก่อนวันสวรรคต
อีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่เป็น “อุปัทวเหตุ” หรือเหตุที่ไม่เป็นมงคลอันสร้างความวิตกกังวลให้กับคนโดยทั่ว นั่นคือ พระยาช้างร้องดังสนั่น กับพระยาม้าและพระยาโคสังวาสกัน
เรื่องนี้มีบันทึกอยู่ในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี (พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี เป็นพระขนิษฐาต่างพระชนนีในรัชกาลที่ 1) ความว่า
“ณ วันเสาร์ แรม 7 ค่ำ เดือน 8 เสด็จออกถวายทรงประเคน เสด็จขึ้น วันนั้นพระยาปราบไตรจักรกอดเสาเบญภาษร้องก้องสนั่นไม่จับหญ้า ยกงวงฟาดงาน้ำตาไหล ทั้งพระยาสินธพชาติกับโคอุศุภราชสโมสรสังวาศกัน ที่ศาลาสารบาญชี คนดูอื้ออึงเสียงแซ่ กับพระยาปราบร้องเพลาเดียวกัน แต่พระยาปราบร้องอยู่จนวัน แรม 10 ค่ำ เดือน 8 เพลาค่ำเสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ 14 ปีกับ 10 เดือน ๚”
เหตุการณ์พระยาช้างเผือกล้ม เกิดเหตุขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน เป็นระยะเวลาราวเดือนกว่าก่อนที่รัชกาลที่ 2 จะเสด็จสวรรคต และลางร้ายในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี เกิดขึ้นในวันที่ 17 กรกฎาคม ก่อนที่อีกไม่กี่วันต่อมา คือวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 รัชกาลที่ 2 ก็เสด็จสวรรคต
ทั้งสองเหตุการณ์ถือเป็นลางร้ายที่สร้างความวิตกให้กับทุกคนในบ้านเมือง ไม่เว้นแม้แต่พระองค์รัชกาลที่ 2 เองก็ทรงตระหนักถึงเรื่องนี้ดี
“อุปัทวเหตุอันสำคัญมีขึ้น จนถึงไม่สบายพระทัยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
อ่านเพิ่มเติม :
- กรณีสวรรคต ของรัชกาลที่ 2 ที่เล่าลือกันว่า “ฆาตกรรม”
- ยาพิษ ต้นเหตุรัชกาลที่ 2 สวรรคตจริงหรือ?
- รัชกาลที่ 1-3 ทรงคัดเลือก “ขุนนางวังหน้า” อย่างไร ไม่ให้ตีกับขุนนางวังหลวง?
- ขัติยราชปฏิพัทธ หนังสือรักเร้นของรัชกาลที่ 2 “พงศาวดารกระซิบ” เล่าราวกับตาเห็น
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กรกฎาคม 2567