ยาพิษ ต้นเหตุรัชกาลที่ 2 สวรรคตจริงหรือ?

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประดิษฐานภายในโรงเรียนราชินี กรุงเทพฯ (ภาพจากจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก เล่ม 1, จัดพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง พ.ศ. 2536)

ในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 2 พระองค์ทรงพระประชวรกะทันหัน พระอาการทรุดลงหนักในไม่กี่วัน และเพียงไม่นานก็เสด็จสวรรคต ด้วยเหตุนี้จึงนำมาสู่ข้อสงสัยว่าจะทรงถูกลอบปลงพระชนมชีพด้วย “ยาพิษ”

ทว่าเรื่องนี้ จากหลักฐานร่วมสมัยนั้น ไม่มีข้อความระบุชี้ชัดว่า รัชกาลที่ 2 ถูกลอบปลงพระชนมชีพด้วยยาพิษ 

แต่กลับปรากฏอยู่ในหลักฐานสมัยหลัง คืองานเขียนของ ส.ธรรมยศ “ฆาตกรรมวังหลวง” ในหนังสือ “Rex Siamen Sium หรือพระเจ้ากรุงสยาม” ที่ออกจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2495 มีข้อความว่า

“ข้าพเจ้าไม่อยู่ในฐานะที่จะเขียนว่า เจ้าจอมมารดาเรียมคือผู้ที่กระทำให้พระบรมราชสวามีเสด็จสวรรคตเร็วผิดปรกติ แต่อาจจะเขียนได้ว่า เจ้าจอมมารดาเรียมคือผู้วางแผนการเปลี่ยนพระมหากษัตริย์ครั้งกระนั้น ตลอดจนจัดการให้เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงอุปสมบทโดยทันทีทันใด แม้พระราชกำหนดมณเฑียรบาลและข้าราชการครั้งนั้นจะแจ้งแก่ใจเป็นอย่างดีว่า สิทธิแห่งพระราชบัลลังก์สยามจะต้องเป็นของเจ้าฟ้ามงกุฎฯ มิใช่ของพระองค์เจ้าทับก็ตาม”

และ

“แต่หากจะทรงสวรรคตด้วยยาพิษจริง ก็หาใช่การกระทำของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ไม่ นอกจากจะทรงรู้เห็น และทรงอุทานแต่ ‘ตามบุญตามกรรม’ บ้างไม่มากก็น้อย เพราะเชื่อกันว่าการเร่งให้รัชกาลที่ 2 สวรรคตเร็วผิดปรกตินั้น เป็นการกระทำของพระราชมารดาของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์โดยปริยาย”

ไม่ทราบแน่ชัดว่า ส.ธรรมยศ ได้ข้อมูลเรื่องนี้มาจากไหน แต่ข้อความที่ระบุข้างต้นนั้นมีบางส่วนไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่นเรื่องที่บอกว่าเจ้าจอมมารดาเรียม “จัดการให้เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงอุปสมบทโดยทันทีทันใด” นั้น แท้จริงแล้วคือ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ (หรือรัชกาลที่ 4) ทรงพระผนวชก่อนหน้านั้นแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนที่รัชกาลที่ 2 จะเสด็จสวรรคต

ไม่มียาพิษ ไม่มีลอบปลงพระชนม์

เหตุการณ์การสวรรคตของรัชกาลที่ 2 ในเอกสารร่วมสมัยต่างก็ไม่ได้ระบุข้อความระบุชี้ชัดว่า รัชกาลที่ 2 ทรงถูกลอบปลงพระชนมชีพด้วยยาพิษ 

อย่างใน “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2” ของเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ) กล่าวไว้แต่เพียงว่า

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรงราชสมบัติมาตั้งแต่ปีมะเส็งเอกศก มาถึง ณ วันพุธ เดือนแปด แรมสี่ค่ำ ปีวอกฉศก ทรงพระประชวรให้มึนเมื่อยพระองค์ เรียกพระโอสถชื่อจารในเพชรข้างที่ ที่เคยเสวยนั้นมาเสวย ครั้นเสวยแล้วให้ร้อนเป็นกำลัง เรียกทิพยโอสถมาเสวยอีก พระอาการก็ไม่ถอยให้เชื่อมซึมไป แพทย์ประกอบพระโอสถถวายก็เสวยไม่ได้ มิได้ตรัสสิ่งไร มาจนถึง ณ วันพุธ เดือนแปด แรมสิบเอ็ดค่ำ เวลาย่ำค่ำแล้วห้าบาท (21 กรกฎาคม 2367) เสด็จสู่สวรรคต”

บทความ “ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ กรณีสวรรคตพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ของ รศ. นพ. เอกชัย โควาวิสารัช ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2556 ได้วิเคราะห์พระอาการ และตัวยาสำคัญสองชนิดคือ “จารในเพชร” และ “ทิพยโอสถ”

รศ. นพ. เอกชัย วิเคราะห์ส่วนผสมของตัวยาทั้งสอง พบว่าไม่มีส่วนผสมที่เป็นอันตราย และได้เขียนสรุปไว้ว่า “ส่วนใหญ่ผู้ที่แพ้ยามักจะมีอาการผื่นคัน อาจมีคลื่นไส้อาเจียน หรือท้องเสียได้ ซึ่งอาการดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแก่พระองค์เลย แต่อย่างไรก็ตาม ผมคงจะสรุปด้วยข้อมูลที่มีอยู่เพียงเท่านี้ว่าพระองค์ทรงแพ้พระโอสถไม่ได้ แม้ว่าจะไม่ค่อยเหมือนมากนักก็ตามที”

รศ. นพ. เอกชัย สรุปว่า ตัวยาทั้งสองไม่อาจเป็นต้นเหตุของการเสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 2 ไม่น่าจะทรงแพ้ยา และไม่ทรงถูกวางยาพิษแน่นอน เพราะทรงมีพระอาการประชวรมาก่อนที่จะเสวยยาเสียอีก 

และจากการวิเคราะห์พระอาการ ทำให้ รศ. นพ. เอกชัย สรุปว่า “ผมคิดว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยน่าจะทรงพระประชวรและสวรรคตด้วยพระโรคติดเชื้อของสมอง ซึ่งอาจเป็นโรคสมองอักเสบที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมากที่สุด”

(อ่านส่วนหนึ่งของบทความ รศ.นพ.เอกชัย โควาวิสารัช ต่อได้ที่ : https://www.silpa-mag.com/history/article_24626

รัชกาลที่ 2 พระโรคชรา ธาตุ อสรพิษ

ในบทความ “ฆาตกรรมวังหลวง : คดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 2 จริงหรือลือ?” ของ ปรามินทร์ เครือทอง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2555 ได้ยกพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 4  ถึงเหตุการณ์สวรรคตของพระราชบิดา จากเอกสาร “พระราชนิพนธ์ภาษาบาลี ว่าด้วยพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์” ระบุความว่า

“พระราชาที่สอง พระองค์นั้น ตั้งอยู่แล้วในราชสมบัติ สิ้นปีทั้งหลายสิบยิ่งด้วยปีหก อันพระชราโรคเกิดแต่ธาตุ ประหนึ่งอสรพิษทั้งสี่ถูกต้องแล้ว ไม่ทันได้มอบแม้ซึ่งพระราชสมบัติของพระองค์ พระราชทานแก่ผู้ใด ก็เสด็จสวรรคตโดยพลันเทียว.”

ปรามินทร์ วิเคราะห์ว่า พระราชนิพนธ์นี้ดูเป็นเรื่องของธรรมะ ซึ่งชี้ว่ารัชกาลที่ 2 ทรงพระประชวรด้วยพระโรคชรา อันถึงกาลเสื่อมแห่งธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ปฐวีธาตุ (ดิน) อาโปธาตุ (น้ำ) วาโยธาตุ (ลม) และเตโชธาตุ (ไฟ) ที่เมื่อถึงกาลเสื่อมแล้วก็ประดุจ “อสรพิษ” ที่หันมาทำร้ายตัวเจ้าของธาตุนั้น 

ธาตุ คือ “อสรพิษ” หากตีความตามตัวอักษร ก็จะหมายความว่า ไม่มียาพิษ ไม่มีการลอบปลงพระชนม์

แต่ปรามินทร์ กล่าวว่า หากพิจารณาอีกด้านหนึ่งก็ดูเหมือนจะมี ‘กลอักษร’ ซ่อน ‘เงื่อนงำ’ อยู่หรือไม่ เมื่อทรงกล่าวถึงต้อง ‘หนีบวช’ ก่อนพระราชบิดาจะสวรรคตนั้นเรื่องหนึ่ง การเห็นว่าพระราชบิดาที่มีพระชนมพรรษา 56 พรรษา ทรงพระชราด้วยธาตุก็อีกเรื่องหนึ่ง และสุดท้ายทรงยกอุปไมย ‘อสรพิษ’ เป็นเหตุให้พระราชบิดาทรงพระประชวรกะทันหัน จนไม่สามารถตรัสมอบราชสมบัติให้กับผู้ใดได้ ถ้าตีเป็นเช่นนี้ เห็นทีเรื่องนี้ยังจบไม่ได้!”

(อ่านส่วนหนึ่งของบทความ ปรามินทร์ เครือทอง ต่อได้ที่ : https://www.silpa-mag.com/history/article_89111

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม 2567