ทำไมเมื่อก่อน “ธรรมศาสตร์” ถึงได้ชื่อว่าเป็น “มหาวิทยาลัยเปิด”

ตึกโดม ธรรมศาสตร์
อาคารตึกโดม สัญลักษณ์อย่างไม่เป็นทางการของ มธก. (ภาพจาก “ปรีดี พนมยงค์ กับมหาวิทยสลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง”)

“มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” หรือ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ในปัจจุบัน เปิดเมื่อปี 2477 นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย กำหนดเป้าหมายสำคัญคือการเปิดโอกาสให้แก่ประชาชนมีเสรีภาพและเข้าถึงการศึกษาได้กว้างขวาง เพื่อให้ “ธรรมศาสตร์” เป็น “ตลาดวิชา” หรือ “มหาวิทยาลัยเปิด”

ธรรมศาสตร์ “มหาวิทยาลัยเปิด”

ดังนั้นจึงกำหนดเงื่อนไขในการเข้าศึกษาให้น้อยที่สุด และให้โอกาสในการเข้าเรียนมากที่สุด เช่น

กำหนดความรู้ขั้นของผู้สมัคร ว่าจะต้องจบชั้นมัธยมบริฐูรณ์เป็นหลัก แต่ก็เปิดโอกาสให้ผู้ที่สอบเทียบความรู้ และผู้สำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรต่างๆ

ในปีแรกของการเรียนการสอนก็ผ่อนผันให้ผู้ที่มิได้มีพื้นฐานความรู้ดังกล่าว ให้สามารถสมัครเข้าเรียนได้ หากผู้นั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้แทนตำบล, เป็นข้าราชการที่ได้รับการรับรองจากผู้บังคับบัญชา, เป็นนักเรียนของโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม ฯลฯ

กำหนดอายุผู้สมัครเรียน ว่าต้องไม่ต่ำกว่า 17 ปี หากผู้สมัครเรียนอายุน้อยกว่า 17 ปี แต่จบชั้นมัธยมบริบูรณ์ของกระทรวงธรรมการก็มีสิทธิเข้าเรียนได้ และไม่กำหนดอายุขั้นสูง เพื่อเปิดกว้างให้ผู้ที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติม

จัดเก็บค่าเล่าเรียนถูก มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเก็บค่าเล่าเรียนปีละ 20 บาท ขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเก็บปีละ 90 บาท, โรงเรียนมัธยมเก็บค่าเล่าเรียนชั้นมัธยมปลายปีละ 40 บาท

ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ประชาชนจำนวนมากเข้าถึงการศึกษาได้ง่าย ปรากฏในปี 2477 ที่เปิดทำการ มีผู้สมัครเข้าเรียนกว่า 7,000 คน ขณะนั้นประชากรทั้งประเทศมีประมาณ 12 ล้านคน, กรุงเทพฯ มีประชากรประมาณ 5 แสนคน 

 

ผู้สมัครเรียนส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยและมาจากครอบครัวชั้นกลางระดับล่างหรือระดับล่าง เป็นข้าราชการทหารและตำรวจชั้นประทวน ผู้สมัครเรียนจำนวนมากมีอายุระหว่าง 20-25 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เลยการเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วไป

เมื่อมีผู้สมัครเข้าเรียนจำนวนมาก ทำให้ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ จึงทำให้เป็นอิสระจากระบบราชการ หากภายหลังธรรมศาสตร์ “ถูกบิดเบี้ยว” และกลายเป็น “มหาวิทยาลัยปิด” ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นาวี รังสิวรารักษ์. รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ปรีดีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์ประการัง พิมพ์ครั้งที่ 2 พฤษภาคม 2567.


เผยแพ่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม 2567