ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
ประมวลเหตุความขัดแย้ง “อังกฤษ-สเปน” สถานการณ์ที่พากองเรือ “อาร์มาดา” อันยิ่งใหญ่ของสเปนไปเสียท่าพ่ายแพ้ยับเยินที่ช่องแคบอังกฤษ
ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถือเป็นยุคทองของอังกฤษกับสเปน พวกเขาเป็นมหาอำนาจยุโรปที่มีความเจริญก้าวหน้าและมั่งคั่งกว่าประเทศอื่น ๆ ทั้งสองชาติมีความแตกต่างกันมากในหลาย ๆ มิติ ทำให้เป็นศัตรูคู่แข่งสำคัญของกันและกันเสมอ
ช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ปกครองอังกฤษคือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 (ค.ศ. 1558-1603) ประมุขผู้ประสบความสำเร็จในการปกครองและบริหารประเทศมากที่สุดองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์อังกฤษ
ส่วนผู้ปกครองสเปนคือ พระเจ้าฟิลิปที่ 2 (ค.ศ. 1556-1598) บุรุษผู้มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง และเคยเป็นพระราชาคู่ราชบัลลังสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 (ค.ศ. 1553-1558) แห่งอังกฤษ ผู้เป็นพระภคินีต่างพระราชชนนีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1
ทั้งสองพระองค์นับถือศาสนาคริสต์ต่างนิกาย สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 นับถือโปรเตสแตนต์ ส่วนพระเจ้าฟิลิปที่ 2 เป็นคาทอลิกผู้เคร่งครัด ความร้าวฉานระหว่างสองนิกายไม่เพียงความแตกต่างทางความคิดความศรัทธาเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยการเมืองระหว่างรัฐ เพราะทั้งสองพระองค์ถือเป็นผู้พิทักษ์ศาสนาในนิกายของตนด้วย
เหตุการณ์สำคัญครั้งใหญ่ ๆ ที่เป็นความขัดแย้งระหว่างอังกฤษ-สเปน คือการก่อกบฏของเนเธอร์แลนด์ (ฮอลแลนด์หรือฮอลันดาในเอกสารไทย) ดินแดนใต้ปกครองของสเปน เมื่อชาวดัตช์ในเนเธอร์แลนด์หันมานับถือโปรเตสแตนต์และเอาใจออกห่างราชสำนักสเปน พวกเขาก่อกบฏโดยมีอังกฤษให้ความช่วยเหลือ
ด้านสเปนเองก็พยายามแทรกแซงการเมืองภายในอังกฤษ ด้วยการสนับสนุนสมเด็จพระราชินีนาถแมรีแห่งสกอตแลนด์ เชื้อสายราชวงศ์ทิวดอร์ผู้นับถือคาทอลิก ให้ชิงราชบัลลังก์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 รวมถึงเห็นดีเห็นงามกับความพยายามลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 โดยพวกคาทอลิกหัวรุนแรงด้วย
ทั้งสองชาติยังมีผลประโยชน์ทับซ้อนกันใน “โลกใหม่” หรือทวีปอเมริกา สุมความบาดหมางระหว่างกันเรื่อยมา จนเป็นเหตุให้ความขัดแย้งของทั้งสองชาติปะทุเป็นสงครามระหว่างกัน
ค.ศ. 1587 สมเด็จพระราชินีนาถแมรีแห่งสกอตแลนด์ถูกสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 สำเร็จโทษ เพราะผลพวงจากแผนลอบปลงพระชนม์บาบิงตัน (Babington Plot) ปีต่อมา สเปนเปิดสงครามโดยส่งกองเรืออาร์มาดาบุกเกาะอังกฤษ แต่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
ยุทธนาวี “อังกฤษ-สเปน” ค.ศ. 1588
ก่อนกาลอวสานของกองเรืออาร์มาดา (Spanish Armada) ทัพเรืออันยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิสเปน พระเจ้าฟิลิปที่ 2 อยู่บนจุดสูงสุดทางพระราชอำนาจ พระองค์ปกครองทั้งสเปน โปรตุเกส จากการอ้างสิทธิเหนือราชบัลลังก์โปรตุเกสซึ่งว่างลงเพราะขาดรัชทายาทสายตรง ทำให้พระองค์เป็นกษัตริย์ของคาบสมุทรไอบีเรีย รวมถึงจักรวรรดิทางทะเล ดินแดนอาณานิคมของ 2 ราชอาณาจักร
ในขณะที่อังกฤษยังไม่เริ่มสำรวจทางทะเลหรือสร้างจักรวรรดิทางการค้าอย่างจริงจัง ความมั่งคั่งและแข็งแกร่งจึงยังตามหลังสเปนอยู่ก้าวใหญ่ ๆ
ช่วงเวลานั้น นอกจากอังกฤษจะให้การสนับสนุนกบฏในเนเธอร์แลนด์แล้ว สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ยังยั่วยุสเปนโดยทรงส่งเสริมนักเดินเรือไปค้าขายกับดินแดนต้องห้ามในโลกใหม่ แม้สเปนไม่อนุญาตให้ชาติอื่นทำการค้าได้ และยังอนุญาตให้เรือเอกชนของอังกฤษปล้นและจมเรือสเปนในมหาสมุทรแอตแลนติก ไม่ต่างจากพฤติกรรมของโจรสลัด ทั้งใช้ช่องแคบเส้นทางเดินเรือที่สเปนถือกรรมสิทธิ์อยู่ ล่วงล้ำเข้าไปในจักรวรรดิทางทะเลของสเปน
สถานการณ์ดังกล่าวท้าทายอำนาจของสเปนและโปรตุเกสที่ผูกขาดการค้าทางทะเลมาอย่างยาวนาน จนเกิด “แผนลอบปลงพระชนม์บาบิงตัน” ตามด้วยการสำเร็จโทษสมเด็จพระราชินีนาถแมรีแห่งสกอตแลนด์ พระเจ้าฟิลิปที่ 2 จึงตัดสินใจส่งกองเรืออาร์มาดาไปพิชิตอังกฤษใน ค.ศ. 1588
กองเรืออาร์มาดาประกอบด้วยเรือรบราว 150 ลำ เป็นทัพเรือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรปขณะนั้น และมีชื่อเสียงเป็นที่ครั่นคร้ามไปทั่ว กำลังพลที่ส่งไปอังกฤษคราวนั้น ประกอบด้วยทหารเรือ 8,000 คน ทหารบก 18,000 คน และทหารสเปนจากเนเธอร์แลนด์อีก 25,000 คน มี ดุ๊กมีดีนา ซิโดเนีย (Medina Sidonia) เป็นผู้บัญชาการ โดยออกจากท่าเรือกรุงลิสบอนในโปรตุเกสเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1588
ก่อนออกเดินทางมีการประกอบพิธีทางศาสนาแบบคาทอลิก ด้วยสรรพกำลังที่มี ชาวสเปนและคนในอาณัติดูจะมั่นใจเต็มประดาว่าพวกเขาจะชนะในศึกนี้แน่
เมื่อกองเรืออาร์มาดาจอดทอดสมอบริเวณช่องแคบอังกฤษ เพื่อรอทัพของดุ๊กแห่งปาร์มาที่จะมาสมทบ ปรากฎว่าเรืออังกฤษที่มีขนาดเล็กและปราดเปรียวกว่าสามารถดำเนินยุทธวิธีไล่ต้อน เพื่อขับกองเรืออาร์มาดาขึ้นเหนือให้พวกเขาโจมตีได้อย่างสะดวก ประกอบกับลมฟ้าอากาศอันแปรปรวนไม่เป็นใจต่อกองเรือขนาดใหญ่ ทำให้เรือรบลำโตและ “ล้าสมัย” ของสเปน เสียแนวรบแบบกระจุยกระจายจนพ่ายแพ้ยับเยิน
ทหารสเปนจำนวนมากบาดเจ็บล้มตายในยุทธนาวีครั้งนั้น เรือรบเสียหายเกินครึ่ง ที่เหลือสูญหายเพราะพายุและถูกทำลายระหว่างการสู้รบ ศักดิ์ศรีของจักรวรรดิสเปนที่ครองอำนาจทางทะเลมาอย่างยาวนานและความปรารถนาพิชิตอังกฤษ เปลี่ยนชาติโปรเตสแตนต์นี้เป็นคาทอลิกอีกครั้งของพระเจ้าฟิลิปที่ 2 มลายหายไปพร้อมซากเรือที่จมสู่ก้นสมุทร
แต่ทั้งหมดนี้คือชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่สร้างขวัญกำลังใจแก่ชาวอังกฤษ หลังจากนั้นพวกเขาได้เริ่มนโยบายสำรวจและบุกเบิกการค้าทางทะเลเพื่อแข่งขันกับสเปนอย่างจริงจัง จนสามารถผงาดเป็นมหาอำนาจในยุโรปที่ไม่มีใครทัดเทียมได้ และกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางทะเลในศตวรรษต่อมา
แม้สเปนจะเสียท่าอย่างน่าอดสูที่ช่องแคบอังกฤษ แต่กองทัพเรือของพวกเขายังครองความเป็นมหาอำนาจทางทะเลอยู่อีกระยะหนึ่ง ก่อนจะถูกรัศมีของอังกฤษกลบในเวลาต่อมา
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไมโปรตุเกสไม่รวมเป็นประเทศเดียวกับสเปน?
- กำเนิด “ราชวงศ์วินเซอร์” แห่งอังกฤษ เหตุใดจึงมีเชื้อสายเยอรมัน?
- เฟอร์ดินานด์ที่ 2 – อิซาเบลลาที่ 1 : พิธีสมรสครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์สู่การรวมชาติสเปน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://www.britannica.com/topic/Armada-Spanish-naval-fleet
https://www.rmg.co.uk/stories/topics/spanish-armada-history-causes-timeline
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2560). ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1492-1815. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2567