งานวันชาติ 24 มิถุนายน “ประเพณีประดิษฐ์” ยุคคณะราษฎร

การเดินสวนสนาม งานวันชาติ ปี 2483 ยุค คณะราษฎร หนึ่งใน ประเพณีประดิษฐ์
การเดินสวนสนามในงานวันชาติ ปี 2483 ที่ถนนราชดำเนินกลาง (ภาพจาก : ผศ. ดร. ศรัญญู เทพสงเคราะห์)

“วันชาติ” ครั้งแรกของไทย เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2482 คราวนั้นประชาชนทั่วทุกสารทิศต่างมาร่วมเฉลิมฉลองกันอย่างรื่นเริงสนุกสนาน ซึ่งหากพิจารณาแล้ว “งานวันชาติ” ที่เกิดขึ้นในยุค “คณะราษฎร” ถือเป็น “ประเพณีประดิษฐ์” ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการสร้างอุดมการณ์ความเป็นชาติของรัฐบาล หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยมีการประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้อย่างครึกโครม

ผศ. ดร. ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าถึงประเด็นนี้ไว้ในบทความ “รัฐนาฏกรรมในงานวันชาติ พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๘๔” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2567 ไว้ตอนหนึ่งว่า

Advertisement

“งานวันชาติ” ถือเป็นประเพณีประดิษฐ์ของรัฐบาลคณะราษฎร หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เช่นเดียวกับการแต่งเพลงชาติและการออกระเบียบชักธงชาติ

ที่มาของการกำหนด “วันชาติ” เกิดจากการผลักดันของหลวงวิจิตรวาทการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ปี 2481 และที่ประชุมได้ลงมติกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ

จากนั้น รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 กรกฎาคม ปี 2481 ประกาศให้สาธารณชนรับทราบเรื่องการกำหนดวันชาติ 24 มิถุนายน อย่างเป็นทางการ

เมื่อหลวงพิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปลายปี 2481 จึงได้ริเริ่มให้จัดงานวันชาติครั้งแรกในวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2482

ผศ. ดร. ศรัญญู บอกว่า เมื่อพิจารณาช่วงเวลาการเสนอโครงการจัดงานวันชาติครั้งแรก ถือเป็นช่วงที่รัฐบาล คณะราษฎร มีความมั่นคงทางการเมืองมากขึ้น นับตั้งแต่การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของหลวงพิบูลสงครามในวันที่ 16 ธันวาคม ปี 2481 หลังจากรัฐบาลพระยาพหลฯ ยุบสภา

“รัฐบาลชุดใหม่ถือเป็นตัวแทนกลุ่มผู้นำรุ่นหนุ่มของคณะราษฎร และคณะรัฐมนตรีแทบทั้งชุดมาจากคณะราษฎรและผู้ใกล้ชิด อันทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลมีความสืบเนื่องกับรัฐบาลชุดเดิมตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร อาทิ การยกเลิกการเก็บเงินรัชชูปการ การปรับปรุงภาษีอากร การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม”

เรียกว่าเป็นความบังเอิญก็ว่าได้ ที่ช่วงเวลานับตั้งแต่การริเริ่มและการเตรียมงานวันชาติ ตรงกับช่วงเวลาที่รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามกระชับอำนาจรัฐผ่านการปราบปรามกลุ่มปฏิปักษ์ทางการเมือง ที่พยายามเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลนับตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ปี 2481 (ปี 2482 ตามปฏิทินใหม่) ทั้งการปลดและเนรเทศพระยาทรงสุรเดช พร้อมกับจับกุมและดำเนินคดีกับเจ้านาย ผู้แทนราษฎร และนายทหารอีกหลายรายในข้อหากบฏ

จนอาจกล่าวได้ว่า หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามมีเสถียรภาพทางการเมืองสูงจนสามารถผลักดันนโยบายชาตินิยมต่างๆ ของรัฐบาลได้อย่างราบรื่น

การจัดงานวันชาติครั้งแรก สำนักงานโฆษณาการได้เสนอให้รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามจัดในรูปแบบพิธีเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่กว่าวันนักขัตฤกษ์อื่นๆ ของทางราชการ มีการกำหนดให้หน่วยราชการประดับธงและตามประทีป มีการเลื่อนกิจกรรมหรือพิธีกรรมต่างๆ ของรัฐบาล อาทิ การทำบุญปีใหม่และการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลในวันที่ 1 เมษายน มาไว้วันที่ 24 มิถุนายน เพื่อขับเน้นความสำคัญของประเพณีใหม่ที่เพิ่งสร้างอย่าง “วันชาติ”

พิธีกรรมสำคัญในงานวันชาติ ได้กำหนดให้เหล่ายุวชนของชาติเข้าร่วมทำการแสดงสาธารณะ คือ การเดินแถวของยุวชนทหาร นักเรียนชายหญิง และลูกเสือของโรงเรียนต่างๆ เพื่อสร้างความประทับใจและปลุกเร้าให้ผู้คนเกิดความรักชาติ นอกจากนี้ ยังมีการจัดขบวนแห่ของทางราชการและเอกชน เพื่อนำเสนอผลงานความก้าวหน้าด้านต่างๆ ของรัฐบาลตามหลัก 6 ประการ คล้ายคลึงกับขบวนแห่ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ

“เนื่องจากงานวันชาติเป็นประเพณีประดิษฐ์ใหม่ที่ไม่เคยมีในสังคมไทยมาก่อน รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามจึงได้ใช้วิธีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้รับทราบ และปลุกเร้ากระแสสังคมให้ตื่นตัวกับการจัดงานวันชาติครั้งแรก

กล่าวคือ รัฐบาลได้มอบหมายให้กองโฆษณาในคณะกรรมการจัดงานวันชาติ จัดรายการวิทยุกระจายเสียง ‘บทสนทนาระหว่างนายมั่น ชูชาติ กับนายคง รักไทย’ นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2482 เพื่อประชาสัมพันธ์งานวันชาติ โดยมีพระราชธรรมนิเทศ และ นายสังข์ พัธโนทัย เป็นผู้จัดรายการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของวันชาติ รวมถึงแจ้งกิจกรรมต่างๆ ในงานวันชาติ

รายการวิทยุนี้เสมือนเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ชั่วคราว และเลิกจัดรายการเมื่องานฉลองวันชาติครั้งแรกสิ้นสุดลง แต่สุดท้ายรายการนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐ นับตั้งแต่เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนใน พ.ศ. 2484 จนถึงสิ้นสุดอำนาจของรัฐบาล จอมพล ป. ใน พ.ศ. 2487” ผศ. ดร. ศรัญญู ระบุ

“งานวันชาติ” ครั้งแรก ยังได้รับการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะนับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน ปี 2482 หนังสือพิมพ์ในประเทศส่วนใหญ่ต่างให้พื้นที่ข่าวและบทความเกี่ยวกับวันชาติ เพื่อปลุกกระแสสังคมให้เตรียมพร้อมกับประเพณีใหม่นี้ เช่น หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ได้ตีพิมพ์บทสนทนาระหว่างนายมั่นกับนายคงแบบย้อนหลัง การลงข่าวความคืบหน้าของกิจกรรมต่างๆ ในงานวันชาติ การซักซ้อมเดินแถวในพิธีกรรมวันชาติ เป็นต้น

การอธิบายความสำคัญของวันชาติในสื่อร่วมสมัย ปรากฏอย่างตรงไปตรงมาในบทความเรื่อง “วันชาติ” ของนายปริวัฏ ในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน ปี 2482 ที่กล่าวถึงวันชาติว่า เป็นวันสากลของประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลก ที่อารยประเทศต่างถือเป็นวันสำคัญที่สุดของชาติ มีการจัดงานมหกรรม มีการประกาศปลุกใจประชาชนให้รักชาติและคำนึงถึงประโยชน์ของชาติ

ทั้งยังบอกด้วยว่า วันชาติ 24 มิถุนายน เป็นวันของคนไทยทุกคน เนื่องด้วยเป็นวันที่ประชาชนทุกคนได้กลายเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และสามารถรวมชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น งานวันชาติจึงมีพิธีการบางอย่างใหม่ ที่ผิดแผกกว่าวันพิเศษอื่นๆ ของรัฐ อันแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติมากมาย

อาทิ การสละรายได้ของข้าราชการและประชาชนในการสร้างสาธารณกุศลให้แก่ชาติ การตกแต่งเคหสถานด้วยธงชาติและจุดโคมตอนกลางคืน การจัดงานมหกรรมและมหรสพทั่วประเทศ การเดินสวนสนามของทหาร ยุวชนทหาร และนักเรียน การวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การแสดงสุนทรพจน์ครั้งสำคัญของนายกรัฐมนตรี การบรรเลงเพลงชาติไทยที่ได้ประกวดขึ้นใหม่ การเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย เป็นต้น

วันชาติ 24 มิถุนายน มีการฉลองเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2482 กระทั่งเข้าสู่ยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เปลี่ยนวันชาติให้เป็นวันที่ 5 ธันวาคม เมื่อปี 2503

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2567