ผู้เขียน | ธงชัย อัชฌายกชาติ |
---|---|
เผยแพร่ |
รู้หรือไม่? เมื่อ 80 กว่าปีก่อน “วันชาติ” ของเรานั้นตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน และมีการฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ทั้งกิจกรรมมากมายตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ว่าแต่จะมีอะไรบ้าง วันนี้เราจะพาทุกคนมาตะลุยเพื่อซึบซับบรรยากาศในวันวานกัน!
ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจัดงานเฉลิมฉลองวันชาติ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีลงมติเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 กำหนดให้วันที่คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองถือเป็นวันชาติ
วันชาติปีแรกเต็มไปด้วยความสนุกสนานคึกครื้น ราษฎรทั้งจากพระนคร ธนบุรี และต่างจังหวัด มุ่งหน้าเข้ามาร่วมงานวันชาติอย่างคึกคัก รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ด้วยการประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ในวันนี้ จึงทำให้ในปีเดียวกันมีการจัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติใหม่ ซึ่งยังคงทำนองเดิม
โดยการประกวดแต่งคำร้องเพลงชาติใหม่นี้มีผู้เข้าร่วมมากถึง 614 คน และผู้ชนะประกวดคือ หลวงสารานุพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ที่ส่งในนามกองทัพบก และภายหลังการบรรเลงขับร้องในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 คณะรัฐมนตรีก็ลงมติให้ใช้เป็น เพลงชาติไทย มาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ก็นับเป็นวันร่วมเฉลิมฉลองสนธิสัญญาใหม่ ที่คณะราษฎรสามารถต่อรองเจรจากับเหล่าประเทศอำนาจจนสามารถแก้ไขให้เป็นธรรมได้สำเร็จ และถือเป็น 1 ในหลัก 6 ประการที่คณะราษฎรใช้เป็นหมุดหมายในการพัฒนาบ้านเมือง นั่นก็คือหลัก “เอกราช” นั่นเอง
แม้งานจะเริ่มตั้งแต่ตี 5 ถึงเที่ยงคืนของวันที่ 24 แต่หนังสือพิมพ์ประชาชาติก็มีรายงานว่า
“มีคนจำนวนมากที่ออกเที่ยวเตร่เอาฤกษ์กันตั้งแต่วันงาน 2 วัน มีทั้งหนุ่มสาว และผู้เฒ่าผู้แก่พาหลานออกไปเดินดูไฟและธงทิวที่ตกแต่งประดับตามอาคารพุ่มพฤกษ์ในย่านงาน ถนนราชดำเนิน อย่างสราญใจ ไม่ผิดอะไรกับวันงานจริงๆ”
ภายในงานมีทั้งตลาดนัดทั้งฝั่งธนบุรี และฝั่งพระนคร ซึ่งผู้คนจำนวนมากออกมาเที่ยวชมตั้งแต่เช้าตรู่ มีการเดินขบวนสวนสนาม ประกวดเพลงปลุกใจ ประกวดเรียงความวันชาติ และหนังสือพิมพ์ประชาชาติยังได้ตีพิมพ์หนังสือที่ระลึกซึ่งปรากฏคติพจน์ของรัฐบุรุษคณะราษฎรบางคน และสุนทรพจน์ฉบับเต็มของนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้นคือหลวงพิบูลสงคราม) ที่ได้กล่าวในค่ำของงานฉลองวันชาติ
รัฐบาลเองก็ตีพิมพ์หนังสือที่ระลึกวันชาติอย่างหรูหราด้วยกระดาษอาร์ตมันปกแข็งหุ้มด้วยผ้ากระสอบป่าน ซึ่งมีเนื้อหาแสดงผลงานที่ผ่านมาของรัฐบาล พร้อมภาพประกอบ ตัวเลขสถิติต่าง ๆ รวมไปถึงความรู้เรื่องการตกลงข้อสนธิสัญญาใหม่
อีกหนึ่งไฮไลต์ของงาน “วันชาติ” คงหนีไม่พ้น “พิธีลงหลักศิลาฤกษ์สำหรับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” ที่ทำให้ผู้คนเดินตลาดนัดตั้งแต่เช้า ถึงกับต้องหยุดเพื่อมามุงดูพิธีก่อฤกษ์นี้ ซึ่งในวันชาติปี 2483 คนไทยก็ได้เข้าร่วมพิธีเปิดและเฉลิมฉลองอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เสร็จสมบูรณ์
ความสนุกสนานของ “วันชาติ” ในอดีตยังไม่หมดเพียงเท่านี้ แต่ยังมีการแสดงไฟสวยงาม ธงทิวที่ปลิวไสวประดับประดาไปทั่วอาคาร ถนนราชดำเนิน รวมถึงมีการสวนสนามจากกองทหาร เรียกได้ว่างานนี้เป็นช่วงเวลาแห่งความรื่นเริง ชื่นบาน หรรษาของประชาชนทุกชนชั้นจริง ๆ
อ่านเพิ่มเติม :
- สำนักนายกฯ ประกาศให้วันที่ “5 ธันวาคม” เป็นวันชาติ-วันพ่อแห่งชาติ ต่อไป
- จาก “อุตสาหกรรมน้ำตาล” ยุคคณะราษฎร สู่ “อุตสาหกรรมความหวาน” ในความทรงจำของคนไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
นริศ จรัสจรรยาวงศ์. 2475 ราสดรส้างชาติ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2566.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 28 มิถุนายน 2566