ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เขตภาษีเจริญ ทำไมได้ชื่อนี้? แรกทีเดียวชื่อเขตนั้นตั้งตาม “คลองภาษีเจริญ” แล้วคลอง “ภาษีเจริญ” ล่ะ มาจากไหน?
คลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ ขุดขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดย พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม พิศลยบุตร) เป็นแม่กองขุดคลอง ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ดังนี้
“…เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2410 โปรดฯ ให้พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม) เจ้าภาษีฝิ่น เปนแม่กลองขุดคลอง กว้าง 7 วา ลึก 5 ศอก (ตั้ง) แต่คลองบางกอกใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่ริมวัดปากน้ำออกไปเมืองนครไชยศรี ที่ตำบลดอนไก่ดี เปนระยะทาง 620 เส้น หักเงินภาษีฝิ่นพระราชทานเปนค่าจ้างขุดคลอง 112,000 บาท พระราชทานนามว่า คลองภาษีเจริญ…”
นอกจากใช้เงิน “ภาษีฝิ่น” ที่ปกติจะต้องส่งให้พระคลังเป็นค่าจ้างขุดแล้ว พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ยังมีการเรี่ยไรเพิ่มเติม และกราบบังคมทูลขอ “1. เก็บเงินจากเรือแพที่เดินเข้าออก 2. ตั้งโรงหวยที่เมืองนครไชยศรี และเมืองสมุทรสาคร 3 ปี” ในกรณีที่เงินส่วนแรกไม่เพียงพอ รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการขุดได้
คลองภาษีเจริญจึงเกิดจากค่าจ้างแรงงานเป็น “ภาษีฝิ่น” อากรเรือแพ และรายได้จากโรงหวยเมืองนครไชยศรี
การเกิดคลองภาษีเจริญนัยเป็นผลสืบเนื่องจากข้อกำหนดในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ที่ทำให้การค้าขายส่งออกต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในผลผลิตทางการเกษตรของไทย ซึ่งเป็นที่ต้องการในต่างประเทศคือ น้ำตาล โดยมีแหล่งรับซื้ออยู่ที่สิงคโปร์ บอมเบย์ และอังกฤษ
ไทยมีแหล่งปลูกอ้อย และผลิตน้ำตาลสำคัญ คือบริเวณตะวันตกของพระนคร โดยเฉพาะริมแม่น้ำนครชัยศรี ที่มีจำนวนโรงงานน้ำตาลมากถึง 23 แห่ง การลำเลียงน้ำตาลจากแหล่งผลิตมายังท่าเรือในกรุงเทพฯ ต้องอาศัยคลองต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา นำมาสู่การขุดคลองในครั้งนี้
นอกจากนี้ คนสำคัญผู้ผลักดันโครงการดังกล่าวอย่าง พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ ยังเป็นเจ้าของกิจการโรงจักรหีบอ้อยที่บ้านดอนไก่ดี (ดอนกะฎี) ริมแม่น้ำนครชัยศรี แขวงเมืองสมุทรสาคร โดยเหตุผลหลัก ๆ ที่นำกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 4 ขอให้มีการขุดคลองขึ้นนั้น ก็เพื่อให้การขนส่งน้ำตาลมายังกรุงเทพฯ สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
การเกิดขึ้นของ “คลองภาษีเจริญ” ยังส่งผลให้พื้นที่ทางตะวันตกของพระนครเจริญก้าวหน้ามากขึ้น พระภาษีสมบัติบริบูรณ์จึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์” ในเวลาต่อมา
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดที่มา “คลองสาน” ย่านดังฝั่งธนบุรี “สาน” นี้คืออะไร?
- “ย่านหัวกระบือ” ในเขตบางขุนเทียน กทม. มีที่มาจากไหน?
- เปิดประวัติเขต (คลอง) บางบอน ฤๅเกี่ยวกับใบบอน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
บัณฑิต จุลาสัย และรัชดา โชติพาณิช. (2565). “เขตคลองฝั่งพระนคร : เขต(คลอง)ลาดกระบัง”. กรุงเพทฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มิถุนายน 2567