“เจ้านาย” ที่ ร.4 ยินดีให้เป็นกษัตริย์ต่อจากพระองค์ มิได้เจาะจงแค่ “เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์”

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นบำราบปรปักษ์ กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ 4 เจ้านาย ใน ราชวงศ์จักรี
(ซ้ายไปขวา) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์, กรมหมื่นบำราบปรปักษ์, กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ และกรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ (ภาพจาก Wikimedia Commons และ Wellcomecollection)

4 เจ้านาย ที่รัชกาลที่ 4 ยินดีให้เป็นกษัตริย์ต่อจากพระองค์ มีใครบ้าง?

จริงอยู่ที่ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์” หรือภายหลังคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงเป็นพระราชโอรสองค์โตใน รัชกาลที่ 4 แต่รู้หรือไม่ว่า พระองค์มิได้ทรงเป็น “รัชทายาท” ผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดามาแต่แรก หากแต่มี “เจ้านาย” หรือพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงอีกหลายพระองค์ที่รัชกาลที่ 4 ทรงวางไว้ให้เสวยราชสมบัติได้

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงถือคติตามพระราชประเพณีที่เรียกว่า “มหาชนนิกรสโมสรสมมติ” อย่างหนักแน่น คือให้อำนาจเลือกพระเจ้าแผ่นดิน (องค์ถัดไป) แก่ที่ประชุมของพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ และพระราชาคณะ แล้วแต่ว่าจะลงความเห็นให้เลือกเจ้านายองค์ใด พระองค์จึงไม่ทรงตั้งพระราชโอรสเป็นพระมหาอุปราช หรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) แม้จะล่วงเข้าสู่ปลายพระชนมชีพ

ทั้งยังทรงเปิดกว้างโดยระบุถึงเจ้านายหลายพระองค์ที่ทรงมีพระราชวินิจฉัยเห็นว่า หากได้ครองสิริราชสมบัติสืบต่อจากพระองค์แล้วจะเป็นคุณแก่ราชอาณาจักร ดังที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เล่าไว้ในหนังสือ โครงกระดูกในตู้ เป็นเหตุการณ์ครั้งทรงสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5) เป็น “กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ” เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2409  ความว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงกระทำสัตย์ปฏิญาณ ต่อพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต แล้วแสดงความในพระราชหฤทัยว่า ในเวลาต่อไปถ้าเจ้านายทรงกรมเป็นกรมหมื่นสี่พระองค์ คือ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ กรมหมื่นบำราบปรปักษ์ กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ และรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ พระองค์ใดพระองค์หนึ่งจะได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพมหานครแล้ว จะมิได้ทรงรังเกียจเดียดฉันท์เลย”

กล่าวได้ว่า แม้แต่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ) พระราชโอรสองค์โตของพระองค์ ก็ไม่แน่ว่าจะได้ขึ้นครองราชสมบัติ

ดังจะเห็นชื่อของ “เจ้านาย” ที่ทรงกรมอีกถึง 3 พระองค์ ที่ “มิได้ทรงรังเกียจเดียดฉันท์” หากได้ครองราชสมบัติสืบต่อพระองค์ในกาลข้างหน้า ได้แก่ กรมหมื่นบำราบปรปักษ์ ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (พ.ศ. 2362-2429), กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ ภายหลังคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ (พ.ศ. 2359-2415) ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 2

และ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ ที่ต่อมาคือ สมเด็จพะรเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ (พ.ศ. 2396-2446) ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 3

รัชกาลที่ 4 ใน พระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
พระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (ภาพจากหนังสือ “ประมวลภาพพระปิยมหาราช” โดย เอนก นาวิกมูล. 2532)

ความในพระราชหฤทัยข้างต้นเผยว่า รัชกาลที่ 4 ทรง “ยินดี” ให้เจ้านายเหล่านี้เสวยราชสมบัติ สืบราชสันตติวงศ์พระบรมราชวงศ์จักรี โดยมิได้เจาะจงว่าจะต้องสืบสายพระโลหิตจากพระองค์ “โดยตรง”

เพราะกรมหมื่นบำราบปรปักษ์ กับกรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ ล้วนเป็นพระอนุชาธิราชต่างพระชนนี หรือน้องชายต่างมารดา ขณะที่กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ คือพระราชนัดดา หรือหลานอาของพระองค์

ในทัศนะของรัชกาลที่ 4 นั้น ทุกพระองค์ล้วนมีโอกาสได้รับเลือก หรือถูกอัญเชิญขึ้นครองราชย์ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพระองค์ทรงพระประชวรหนักใน พ.ศ. 2411 ได้มีการปรึกษาหารือเป็นการภายในระหว่างบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ข้อสรุป (อย่างไม่เป็นทางการ) คือการอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ขึ้นครองราชสมบัติ

เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงทราบ แม้จะทรงยืนยันให้พิจารณาเลือกเอาเจ้านาย “ที่มีสติปัญญา” เป็นปฐม ทั้งทรงพระราชดำรัสว่า “ลูกข้ายังเด็กอยู่” แต่เมื่อขุนนางที่เข้าเฝ้าทราบบังคมทูลถึงความเหมาะสมของเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ก็มิได้ทรงขัดข้องมติดังกล่าว

ทันทีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต การประชุมอย่างเป็นทางการเพื่อเลือกพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่จึงเกิดขึ้น โดยองค์ประชุมประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังสี เจ้าอาวาศวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธาน, เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้ดำเนินการประชุม ท่ามกลางพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนข้าราชการชั้นพระยา และเจ้าพระยา

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ช่วง บุนนาค
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

ที่ประชุมครั้งนั้นมีมติให้ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลที่ 5 ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการจนกว่าพระเจ้าแผ่นดินจะมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา

ส่วนตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่ว่างเว้นอยู่นั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เห็นควรให้กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสองค์โตในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นวังหน้า

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ธนกฤต ก้องเวหา, silpa-mag.com. ย้อนดูการเลือก ร.5 เป็นกษัตริย์ แม้แต่พระราชโอรส ร.2 ยังต้องยอมอำนาจเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์. 2 กรกฎาคม 2562. (ออนไลน์)

จุลจักรพงษ์, พระองค์เจ้า. (2536). พิมพ์ครั้งที่ 4. เจ้าชีวิต สยามก่อนยุคประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : ริเวอร์บุ๊คส์.

วุฒิชัย มูลศิลป์. “มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ” : พระราชปะเพณีการสืบราชสมบัติสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2429. ใน วารสารราชบัณฑิต ปีที่ 39 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มี.ค. 2557.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มิถุนายน 2567