ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
“อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” หรือ “มหาชนนิกรสโมสรสมมติ” คือพระราชประเพณี “การสืบสันตติวงศ์” ของ “ราชวงศ์จักรี” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่าง พ.ศ. 2325-2429 หรือช่วงต้นกรุงฯ
หากถอดความหมายของทั้ง 2 คำ จะได้ความหมายตรงกันคือ การตกลงยินยอมของหมู่ชนเป็นอันมากที่ชุมนุมกัน โดย “อเนกชน” กับ “มหาชน” มีความหมายเดียวกันคือ คนจำนวนมาก, ผู้คนมากมาย “นิกร” คือ กลุ่ม, หมู่, เหล่า “สโมสร” คือ ที่ประชุม, การรวมกัน และ “สมมติ” คือ การรับรู้ (โดยพร้อมกัน) หรือการยอมรับร่วมกัน
เมื่อทั้ง 2 คำมาเกี่ยวข้องกับพระราชประเพณี เกี่ยวเนื่องกับการสืบราชสมบัติของพระมหากษัตริย์ จึงมีความหมายสื่อถึงผู้ได้รับการยกให้เป็นกษัตริย์จากที่ชุมนุมของหมู่ชนจำนวนมาก หรือเป็นผู้ที่คนทั้งหลายเห็นพ้องต้องกันให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินนั่นเอง
พระราชประเพณีดังกล่าวจะใช้ “เสียง” ของเจ้านาย และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ที่มาประชุมปรึกษากันเพื่อลงความเห็นแต่งตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ด้วยการเลือกพระบรมวงศานุวงศ์องค์ใดองค์หนึ่ง หรือเจ้านายที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด ให้ขึ้นครองราชสมบัติ หลังพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อนเสด็จสวรรคต โดยมีพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ร่วมเป็นสักขีพยาน
พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์โดย “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ”
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนถึงพระราชประเพณีไว้ในหนังสือ โครงกระดูกในตู้ ความว่า “สมเด็จพระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 นั้น ได้ขึ้นเสวยศิริราชสมบัติด้วยการเลือกตั้งจากเจ้านาย ขุนนาง และพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันทั้งสามรัชกาล”
ด้าน รศ. วุฒิชัย มูลศิลป์ อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และราชบัณฑิตสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ชี้ว่า การสืบราชสมบัติสมัยรัตนโกสินทร์ถือเป็นลักษณะพิเศษประการหนึ่ง โดยพระราชประเพณีมหาชนนิกรสโมสรสมมตินั้นเริ่มสมัยรัชกาลที่ 1 และยึดถือกันเรื่อยมา ธรรมเนียมนี้ชัดเจนอย่างมากจากกรณีการเลือกรัชกาลที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ขึ้นเสวยราชย์
นับได้ว่าคติข้างต้นทำให้ได้พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง และพสกนิกรอย่างใหญ่หลวง
ทั้งนี้ คำว่า มหาชนนิกรสโมสรสมมติ เพิ่งมีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยสะกดว่า “มหาชนนิกรสโมสรสมมุต” เป็นสร้อยพระนามในพระสุพรรณบัฏของพระองค์
รัชกาลที่ 4 ยังทรงอธิบายพระราชประเพณีนี้ว่าเป็นแนวทาง “การสืบสันตติวงศ์” ของสยาม ด้วยการถือว่าพระเจ้าแผ่นดินคือผู้ปกครองที่ได้รับความยินยอมจากผู้ใต้ปกครองแล้ว ต้องปกครองราชอาณาจักรโดยธรรม เป็น “ธรรมิกราชาธิราช” เพื่อความผาสุกของพสกนิกร หากพระเจ้าแผ่นดินไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม จะถูกถอดถอนเอาได้
จะเห็นว่าแม้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่ก่อนการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ แต่พระราชประเพณีนี้เพิ่งถูกนิยามหรือถูกอธิบายขยายความอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 4
อาจกล่าวได้ว่า การสืบราชสันตติวงศ์ด้วยคติ “มหาชนนิกรสโมสรสมมติ” เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ (รัชกาลที่ 1) แล้ว เพราะหลังการปราบจลาจลในกรุงธนบุรี รัชกาลที่ 1 หรือเวลานั้นคือ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เนื่องด้วย “สมณะชีพราหมณ์เสนาพฤฒามาตย์ราษฎรทั้งปวง” ได้ทูลเชิญให้เสด็จขึ้นปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์
เมื่อรัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ซึ่งดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ได้ครองราชสมบัติสืบต่อ เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) โดยพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะร่วมกันอัญเชิญเช่นกัน
หลังจากสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ วังหน้าในรัชกาลที่ 2 สวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2360 พระองค์ก็ไม่ได้ทรงสถาปนาวังหน้าอีกเลยจวบจนเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2367 ทำให้พระบรมวงศ์ เสนาบดี และพระสังฆราช มาประชุมกันเพื่อเลือกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ตามคติมหาชนนิกรสโมสรสมมติอีกครั้ง
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ว่า รัชกาลที่ 2 ทรงพระประชวร และเสด็จสวรรคตในระยะเวลาเพียง 8 วัน และไม่ได้ตรัสไว้แต่แรกว่าจะมอบราชสมบัติให้แก่เจ้านายพระองค์ใด จึงวิเคราะห์ได้ว่า การที่ไม่ทรงสถาปนาวังหน้านั้นเพื่อแสดงให้เห็นอย่างกลาย ๆ ว่า ทรงต้องการให้พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี พระสังฆราช และพระราชาคณะ มาประชุมเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่
ในการณ์นั้น ที่ประชุมพร้อมใจอัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ขึ้นครองราชสมบัติ เป็น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ด้วยเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ ทรงสติปัญญาเฉลียวฉลาด และทรงรับราชการต่างพระเนตรพระกรรณมาอย่างช้านาน แม้จะประสูติในเจ้าจอมมารดาเรียม พระสนมเอก ไม่ใช่พระอัครมเหสี เช่น เจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
รัชกาลที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์ที่ทรงปล่อยให้ตำแหน่งวังหน้าว่างเว้นในปลายรัชสมัย หลังจากสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ 3 สวรรคต ทั้งที่รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชโอรสอยู่แล้ว แต่เมื่อทรงพระประชวร และทรงเห็นว่าเหลือกำลังแพทย์จะเยียวยา ทรงมีพระราชดำรัสให้ขุนนางน้อยใหญ่ปรึกษากันว่า พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดเหมาะสมแก่การเสวยราชสมบัติสืบต่อ โดย “สุดแต่เห็นพร้อมเพรียงกัน”
ที่ประชุมจึงอัญเชิญ “เจ้าฟ้าใหญ่” สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งผนวชอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ขึ้นครองราชสมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พร้อมมีสร้อยพระนามปรากฏคำว่า “มหาชนนิกรสโมสรสมมุต” เป็นครั้งแรก
รัชกาลที่ 4 เองก็ไม่ได้ทรงตั้งพระราชโอรสเป็นวังหน้าเช่นกัน เมื่อทรงพระประชวรหนักยังมีพระราชหัตถเลขาถึงพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางทั้งหลายว่า “พระราชดำริทรงเห็นว่าซึ่งจะสืบพระราชสุริยวงศ์ต่อไปภายหน้านั้น พระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอก็ได้ ให้ปรึกษากันจงพร้อมแล้วแต่จะเห็นผู้ใดมีปรีชาควรรักษาแผ่นดินได้ ก็ให้ยกขึ้น”
จึงเป็นอีกครั้งที่คณะประชุมได้ปรึกษาหารือกัน ก่อนจะได้ข้อสรุปว่าสมควรอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นกรมขุนพินิตประชานาถ ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)
ทั้งนี้ ก่อนรัชกาลที่ 4 จะเสด็จสวรรคต ที่ประชุมอย่างไม่เป็นทางการได้ลงความเห็น (ให้เลือกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ) เป็นเบื้องต้น แล้วให้พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ (วร บุนนาค) เข้าไปกราบบังคมทูล เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงทราบก็มีพระราชดำรัสว่า “เจ้านายที่เป็นผู้ใหญ่ผู้น้อยที่มีสติปัญญาก็มีอยู่เป็นอันมาก ให้เลือกเอาเถิด ลูกข้ายังเด็กอยู่…” แต่เมื่อพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์กราบบังคมทูลถึงความเหมาะสมต่าง ๆ นานา ก็มีพระราชดำรัสตอบกลับว่า “อย่างนั้นก็ตามใจเจ้าสิ”
จะเห็นว่าสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงยึดถือธรรมเนียมพระราชประเพณี “มหาชนนิกรสโมสรสมมติ” อย่างหนักแน่นทีเดียว
สิ้นสุดคติเดิม เริ่มคติใหม่ “สยามมกุฎราชกุมาร”
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดพระราชประเพณีนี้ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ. 2429 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 จากความไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ต่าง ๆ ของบ้านเมืองในช่วงเวลานั้น ดังมีเจ้านาย และข้าราชการจำนวนหนึ่งร่วมกันกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 เป็นความว่า
“ต้องมีพระราชประเพณีแน่นอน ที่จะสืบสันตติวงษ์ ที่มิต้องให้พระสงฆ์แลข้าราชการผู้ใหญ่น้อยเลือกเมื่อเวลาถึงแก่กาล แต่ให้รู้เป็นแน่นอนทั่วกัน เพื่อในเวลาถึงคราวเปลี่ยนแผ่นดิน การบ้านเมืองก็จะไม่เปนที่ระส่ำรสาย แลเปนทางป้องกันเสนาบดีผู้หนึ่งใดที่จะคิดเอาอำนาจเข้าใส่ตัวเองได้ด้วย”
(8 ม.ค. จ.ศ. 1246) เอกสาร ร.5 บ.14/1 : สำนักงานหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
แต่ก็เป็นที่ทราบกันว่า รัชกาลที่ 5 เองทรงไม่เห็นด้วยกับพระราชประเพณีข้างต้นอยู่แล้ว ประกอบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ในรัชสมัยของพระองค์ จึงทรงตอบรับ และเปลี่ยนแปลงธรรมเนียม “การสืบสันตติวงศ์” ทันที นำมาสู่การแต่งตั้งตำแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” อันเป็นการกำหนดรัชทายาทไว้อย่างชัดเจน
คติการเลือกพระเจ้าแผ่นดินที่ “พระสงฆ์แลข้าราชการผู้ใหญ่น้อยเลือกเมื่อเวลาถึงแก่กาล” หรือมหาชนนิกรสโมสรสมมติ ซึ่งปฏิบัติสืบกันมาตั้งแต่การเสวยราชย์ของรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 จึงเป็นอันต้องถูกยุติลง
แม้จะนับเฉพาะ 3 รัชกาลใน “ราชวงศ์จักรี” (รัชกาลที่ 3-5) ที่สืบราชสมบัติจากคติดังกล่าวชัดเจนที่สุด คือตั้งแต่ พ.ศ. 2367 จนถูกยกเลิกใน พ.ศ. 2429 เป็นเวลาถึง 62 ปี ถือได้ว่า “มหาชนนิกรสโมสรสมมติ” เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มั่นคง และส่งผลต่อประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยรัตนโกสินทร์อยู่ไม่น้อย
อ่านเพิ่มเติม :
- “สีประจำพระองค์” ของพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์จักรี จากวันเสด็จพระราชสมภพ
- พระนาม ร.1 กับ ร.2 มาจากนาม “พระพุทธรูปฉลองพระองค์” ที่สร้างสมัย ร.3 ?
- ปริศนาของการสืบต่อตำแหน่งรัชทายาทสมัยรัตนโกสินทร์ และการแก้ปมในสมัยร.6
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ชมรมธรรมธารา. อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ (บาลีวันละคำ 1,600). 21 ตุลาคม 2559. (ออนไลน์)
สุรพศ ทวีศักดิ์. “พระสงฆ์กับการเมืองในอุษาคะเนย์”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2548. (ออนไลน์)
วุฒิชัย มูลศิลป์. “มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ” : พระราชปะเพณีการสืบราชสมบัติสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2429. ใน วารสารราชบัณฑิต ปีที่ 39 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มี.ค. 2557.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มิถุนายน 2567