ปริศนาของการสืบต่อตำแหน่งรัชทายาทสมัยรัตนโกสินทร์ และการแก้ปมในสมัยร.6

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงฉายกับพระราชโอรส (จากซ้ายไปขวา) สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

“…ลูกแม่กลางกับลูกแม่เล็ก ให้นึกว่าเหมือนแม่เดียวกัน เรียงพี่เรียงน้องในการสืบสันตติวงศ์…” เป็นพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ตำแหน่งรัชทายาทพระองค์แรก ซึ่งเป็นพระราชโอรสประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา หรือที่ทรงเรียกอย่างสามัญว่า “แม่กลาง” ได้เสด็จสวรรคต และมีพระราชประสงค์จะสถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระราชโอรสซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระขนิษฐาร่วมพระชนนีกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ซึ่งทรงเรียกอย่างสามัญว่า “แม่เล็ก” ขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมาร รัชทายาทพระองค์ใหม่

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงฉายกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

รัชกาลที่ 1

การสถาปนารัชทายาทในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนขึ้นอยู่กับคุณสมบัติที่พระมหากษัตริย์ทรงเห็นว่าเหมาะสม เช่นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ที่หมายว่าจะได้ตำแหน่งรัชทายาทเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อไป คือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชา ซึ่งร่วมกรำศึกสร้างบ้านแปลงเมืองมาด้วยกัน แต่มีพระชนมายุสั้นเสด็จสวรรคตเสียก่อน ราชสมบัติจึงตกอยู่กับพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรสุนทร (แก้ไขพระนามและพระอิสริยยศ ในฉบับออนไลน์) ภายหลังคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

รัชกาลที่ 2 

ในรัชสมัยนี้โปรดสถาปนากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พระอนุชาเป็นองค์รัชทายาท แต่องค์รัชทายาทก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ยังมิทันได้ตั้งผู้ใดเป็นองค์รัชทายาท และเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตก็มิได้มีรับสั่งถึงผู้จะสืบราชสมบัติต่อ เสนาบดีทั้งปวงจึงประชุมหารือลงความเห็นต้องกันว่า ผู้ที่สมควรจะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติต่อไปคือ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (แก้ไขพระนามและพระอิสริยยศ ในฉบับออนไลน์) พระราชโอรสซึ่งแม้จะประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเรียม แต่ก็ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้บริหารบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณตลอดรัชสมัยสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในขณะที่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งเป็นพระราชโอรสประสูติแต่พระมเหสี แต่ยังทรงพระเยาว์ ประสบการณ์การบริหารบ้านเมืองยังน้อย กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยนี้โปรดสถาปนาพระองค์เจ้าอรุโณทัย พระปิตุลา เป็นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ องค์รัชทายาท แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อน

รัชกาลที่ 3 

และเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตก็มิได้ตรัสมอบราชสมบัติแก่เจ้านายพระองค์ใด

เสนาบดีทั้งปวงจึงพร้อมกันถวายราชสมบัติแด่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยนี้โปรดสถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี (แก้ไขพระนามและพระอิสริยยศ ในฉบับออนไลน์) พระราชอนุชา ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีฐานะเทียบเท่าพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง เป็นตำแหน่งรัชทายาท แต่ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเตรียมพระองค์ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชโอรสซึ่งประสูติแต่พระอัครมเหสีสำหรับเป็นองค์รัชทายาทสืบต่อ แต่ยังมิได้โปรดสถาปนาอย่างเป็นทางการ ครั้นเสด็จสวรรคตเสนาบดีทั้งปวงจึงพร้อมกันถวายราชสมบัติแด่สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ตามพระราชเจตนารมณ์ เป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเลยถือโอกาสตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ตำแหน่งรัชทายาท

รัชกาลที่ 5 

ในต้นรัชสมัยมีความขัดแย้งกันระหว่างวังหลวงกับวังหน้า จนนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่าวิกฤติการณ์วังหน้า เมื่อเหตุการณ์สงบเรียบร้อยแล้ว จึงมีพระราชดำริถึงความยุ่งยากของการไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนในการสถาปนาองค์รัชทายาท เพื่อให้การสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปตามขนบประเพณีที่ชัดเจนตามหลักเกณฑ์ที่นิยมกันในอารยประเทศ ครั้งนั้นโปรดให้ตั้งตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นเป็นตำแหน่งรัชทายาท โดยมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ผู้ที่โปรดสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งนี้เป็นพระองค์แรกคือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแก่องค์รัชทายาท จึงโปรดสถาปนาพระราชมารดาขึ้นเป็นพระอัครมเหสี

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกเสด็จสวรรคตเมื่อพระชันษาเพียง 17 ปี ทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาทอยู่ 8 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระน้องนางร่วมพระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ซึ่งเป็นที่มาของพระราชดำรัสที่ว่า “…ลูกแม่กลางกับลูกแม่เล็ก ให้นึกว่าเหมือนแม่เดียวกัน เรียงพี่เรียงน้องในการสืบสันตติวงศ์…” พระราชดำรัสนี้น่าจะเป็นที่เข้าใจกันว่า รัชทายาทพระองค์ต่อไปน่าที่จะเป็นพระราชโอรสพระองค์ต่อมาของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา แต่การสืบต่อตำแหน่งรัชทายาทมิได้เป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ไม่มีผู้ใดทราบถึงเหตุผล เพียงแต่เล่าลือกันว่า สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ทรงขอพระราชทานพรว่า ขอให้โปรดสถาปนาพระราชโอรสและพระราชนัดดาสายตรงในพระองค์ ซึ่งขณะนั้นมีอยู่ถึง ๕ พระองค์เป็นองค์รัชทายาท จนสิ้นสายจึงจะสลับไปยังพระราชโอรสของพระมเหสีสายอื่นต่อไป ซึ่งก็โปรดพระราชทานพรตามที่ทรงทูลขอ

รัชกาลที่ 6 

เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมองเห็นความยุ่งยากอันเกิดจากความไม่ชัดเจนและช่องว่างของหลักปฏิบัติการสถาปนาองค์รัชทายาท ดังปรากฏพระราชดำรินี้ในความข้างต้นของกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ ซึ่งโปรดให้ตราขึ้นใหม่ในพุทธศักราช 2467 ความตอนหนึ่งว่า

“…สมัยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเลือกแลประดิษฐานพระรัชทายาทขึ้นไว้อย่างเช่นที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นผลให้บังเกิดมีเหตุยุ่งยากแก่งแย่งกันขึ้น ในเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลง การแก่งแย่งช่วงชิงพระราชอำนาจกันก็ย่อมเป็นโอกาสให้บุคคลผู้มิได้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติคิดขัดขวางต่อความเจริญแห่งราชอาณาจักร…”

หลักการของกฎมนเทียรบาลฉบับนี้ จึงย้ำถึงผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ตามลำดับ คือ จากพระมหากษัตริย์สู่พระราชโอรส ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชโอรส ราชสมบัติตกอยู่กับพระอนุชาพระองค์โตก่อน หากพระอนุชาพระองค์นั้นเสด็จสวรรคตก่อน ราชสมบัติเป็นของพระราชโอรสของพระอนุชาพระองค์นั้น หากไม่มีพระราชโอรส ราชสมบัติจึงจะตกไปสู่พระอนุชาพระองค์ต่อไป แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือข้อระบุที่ว่า การที่จะโปรดให้ใครเป็นรัชทายาทนั้นย่อมถือเป็นสิทธิ์ขาดขององค์พระมหากษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียว

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงฉายกับพระราชโอรส (จากซ้ายไปขวา) สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

และด้วยหลักเกณฑ์นี้เอง เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมิทรงมีวี่แววจะมีองค์รัชทายาท จึงได้โปรดสถาปนาพระราชอนุชาพระองค์โต คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถเป็นองค์รัชทายาทไปพลางก่อน แต่การณ์กลับเป็นว่าองค์รัชทายาทได้เสด็จทิวงคตไปก่อน

ส่วนพระโอรสซึ่งควรมีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ก็เป็นเจ้าชายที่ประสูติแต่พระมารดาเป็นนางต่างด้าว จึงต้องผ่านเลยไปถึงพระราชอนุชา 3 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก และสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ แต่พระอนุชา 2 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ และสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกได้ทยอยสิ้นพระชนม์ไปก่อน สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธไม่มีพระโอรส ในส่วนสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกมีพระโอรส 1 พระองค์ แต่ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงตั้งพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกเป็นองค์รัชทายาท อันน่าจะเกิดจากการที่เจ้านายพระองค์นี้มีพระมารดาเป็นสามัญชน

ดังนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตโดยไม่มีพระราชโอรสสืบราชสันตติวงศ์ คงเหลือพระอนุชาพระองค์สุดท้ายคือ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์จึงได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และไม่มีพระราชโอรสสืบราชสันตติวงศ์จนทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลสมัยนั้นได้ประชุมหารือพิจารณาเจ้านายที่อยู่ในข่ายจะได้รับราชสมบัติตามลำดับคือ ในสายสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีเหลือเพียงพระราชนัดดา 2 พระองค์ คือ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ต้องถูกข้ามไปด้วยเหตุผลที่มีพระมารดาเป็นนางต่างด้าว ส่วนพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชก็ถูกข้ามไปด้วยเหตุผลที่มีพระมารดาเป็นสามัญชน จึงเท่ากับเป็นการสิ้นสุดสายสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี

ตามกฎมนเทียรบาลกำหนดให้กลับมาพิจารณาสายพระมเหสีพระองค์ที่ใกล้ชิดกับสายเดิม ยังผลให้การสืบสายย้อนกลับมาสู่สายสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาอีกครั้ง ซึ่งสายนี้ก็ปรากฏว่าพระราชโอรสสิ้นพระชนม์หมดทุกพระองค์ คงเหลือแต่พระราชนัดดาเพียง 2 พระองค์ คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล (แก้ไขพระนามและพระอิสริยยศ ในฉบับออนไลน์) และพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช สภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้นจึงมีมติให้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระราชนัดดาพระองค์ใหญ่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประทานของขวัญและทรงแก้ประทานเองให้กับพระราชนัดดาทั้ง ๒ พระองค์ (ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และ (ขวา) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ภาพจากหนังสือ “เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์”)

ซึ่งในที่สุดก็เป็นไปตามพระราชดำรัสที่ตรัสไว้ว่า “…ลูกแม่กลางกับลูกแม่เล็ก ให้นึกว่าเหมือนแม่เดียวกัน เรียงพี่เรียงน้องในการสืบสันตติวงศ์…”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : มีปรับปรุงแก้ไขพระนามและพระอิสริยยศ ปรับปรุงเมื่อ 28 ตุลาคม 2562