ใครว่าทาสมีแต่ชาวสยาม สมัยรัชกาลที่ 5 ชาวจีนก็ขายตัวเป็น “ทาสนายเงิน”

สมัย รัชกาลที่ 5 ชาวจีน ขายตัว เป็น ทาส นาย เงิน
ชาวสยามสมัยรัชกาลที่ 5

เรามักคิดว่า สังคมไทยในอดีต “ทาส” ทั้งหมดคือชาวสยาม แต่ที่จริงยังมีทาสเรียกว่าทาสเชลย ที่ผู้ชนะจะกวาดต้อนเชลยศึกกลับมาเป็นทาส และยังมีชาวต่างชาติที่ขายตัวเองเป็น “ทาสนายเงิน” อย่าง ชาวจีน ปรากฏหลักฐานสมัยรัชกาลที่ 5

ธวัช ปุณโณทุก เล่าประเด็นเรื่อง “ทาส” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2547 ตอนหนึ่งว่า

Advertisement

จากการศึกษาเอกสารโบราณ ว่าด้วยสารกรมธรรม์ขายตัวเป็นทาส ที่เมืองนครราชสีมา ในรัชกาลที่ 5 พบว่า ชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินในสยาม และสร้างครอบครัวโดยมีเมียเป็นคนไทย

ชาวจีนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยยอมขายตัวเองเป็น “ทาสนายเงิน”

ย้อนไปยุคนั้นก็มีเช่น จีนปรั่ง ผู้เป็นสามี อายุ 67 ปี กับ ทอง เมียชาวไทย อายุ 32 ปี ได้ทำสารกรมธรรม์ขายตัวเองทั้ง 2 คน เป็นเงิน 1 ชั่ง 17 ตำลึง โดยยอมเป็นทาสนายเงิน (แม่สายทอง) เมื่อ พ.ศ. 2433

หรือ จีนหมี แซ่จัง ผู้เป็นสามี อายุ 38 ปี กับ ขำ เมียชาวไทย อายุ 28 ปี ทำสารกรมธรรม์ขายตัวเองทั้ง 2 คน เป็นเงิน 3 ชั่ง ยอมเป็นทาสนายเงิน (พระยาศรีสิงหเทพและคุณหญิงมา) เมื่อ พ.ศ. 2436

ข้างต้นคือกรณีผัวเมียขายตัวเอง แต่บางครั้งก็พบกรณีชาวจีนขายตัวเป็นทาสทั้งครอบครัว

อย่างกรณี จีนห่อและนางมา สองผัวเมีย พร้อมด้วยลูกๆ คือ จีนมั่นและจีนเสือ รวมทั้งหลานชื่อยง ทำสารกรมธรรม์ขายตัวทั้งครอบครัว และยังขายบ้านตึก 2 ห้องในเมืองร้อยเอ็ด รวมเป็นเงิน 33 ชั่ง ยอมเป็นทาสนายเงิน (แม่อิน) เมื่อ พ.ศ. 2407

กรณีจีนห่อและนางมา น่าจะเป็นคนที่มีฐานะ มีทรัพย์สิน แต่ภายหลังน่าจะมีปัญหาทางการเงิน จนถึงขั้นขายตัวพร้อมกับสมบัติ

ธวัช บอกว่า จากการศึกษาใบสัญญาสารกรมธรรม์นี้ มีการเขียนลงลายมือเป็นอักษรจีน น่าจะเชื่อได้ว่า จีนห่อเป็นคนมีความรู้ ดูจากการอ่านเขียนอักษรจีนได้ แต่ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมถึงตกยากเข็ญใจ ถึงขั้นต้องขายตัวเป็น “ทาสนายเงิน” ทั้งครอบครัวและบ้านเรือน เป็นเงินถึง 33 ชั่ง ซึ่งนับว่าเป็นเงินจำนวนมากในยุคนั้น

การศึกษาสารกรมธรรม์การขายตัวเป็นทาสของจีนห่อและนางมา พบว่า ผู้ออกหนังสือสารกรมธรรม์ คือ พระพิพิธภักดี ข้าราชการเมืองนครราชสีมา ส่วนนายเงินคือ แม่อิน น่าจะมีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองนครราชสีมา

แม้จะพบหลักฐานชาวจีนขายตัวเป็น “ทาสนายเงิน” แต่สิ่งที่ยังเป็นข้อสงสัยมาถึงทุกวันนี้ คือ อะไรที่ทำให้ชาวจีนเหล่านั้นต้องประสบความยากจน ถึงขั้นต้องขายตัวลงเป็นทาสตามกฎหมายไทย ซึ่งหากรู้ก็น่าจะช่วยทำให้เห็นสภาพของสังคมไทยสมัยนั้นได้มากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤษภาคม2567