ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“ทาสอยุธยา” ชนชั้นต่ำสุดในสังคมจารีต ที่มีการแบ่งชนชั้น ข้อมูลและหลักฐานปรากฏชนชั้นต่างๆ ทั้งเจ้าขุนมูลนายที่อยู่ชนชั้นบนของสังคม และกลุ่มชนชั้นล่าง ก็มี “ไพร่” และทาส
นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ประจำเดือนสิงหาคม ปี 2532 อธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อ “ทาสอยุธยาในประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1” โดย ชาติชาย พณานานนท์ ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่า ในสังคมมนุษย์มีการใช้ทาสมานานแล้ว ดังที่มีหลักฐานชาวสุเมเรียนแห่งเมโสโปเตเมียใช้ทาสมาตั้งแต่ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล
สำหรับการศึกษาทาสในสมัยอยุธยานั้น ชาติชาย ใช้ข้อมูลหลักฐานจากศิลาจารึกสมัยอยุธยา บันทึกร่วมสมัยของชาวต่างชาติ และประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 เป็นหลักฐานในการศึกษา
เปิดสาเหตุการเป็น “ทาสอยุธยา”
ชาติชายระบุว่า หลักฐานทั้งสามชิ้นที่เขานำมาศึกษาพบว่า ศิลาจารึกในสมัยอยุธยาให้ข้อมูลเรื่องทาสได้ไม่มากนักแต่ก็พอใช้ตีความได้ ส่วนบันทึกร่วมสมัยของชาวต่างชาติมีไม่กี่คนที่บันทึกเกี่ยวกับ “ทาสอยุธยา” และก็เป็นการบันทึกเพียงสั้นๆ แต่สามารถนำมาใช้ประกอบเพื่อยืนยันกับหลักฐานฝ่ายไทยได้ ส่วนประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 ให้ข้อมูลเรื่องทาสมากที่สุด ซึ่งชาติชายใช้หลักฐานชิ้นนี้เป็นแกนกลางในการศึกษา
แต่มีปัญหาอยู่ว่า ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 ที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์จะยังคงเนื้อความของกฎหมายอยุธยาไว้มากน้อยเพียงใด อีกปัญหาที่มีการถกเถียงคือ กฎหมายของอยุธยาที่เขียนขึ้นมีการนำไปปฏิบัติกับทาสมากน้อยเพียงใด หรือเพียงแค่เขียนขึ้นไว้ในแผ่นกระดาษเท่านั้น
แม้มีการถกเถียงประเด็นดังกล่าว แต่ชาติชายก็ยังคงใช้ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 ในการศึกษาเรื่อง ทาสอยุธยา เขาระบุเหตุผลว่า สมัยรัชกาลที่ 1 ยังเป็นสังคมแบบอยุธยา คนก็เป็นคนจากอยุธยา ดังนั้น กฎหมายก็ควรเป็นกฎหมายที่สะท้อนให้เห็นภาพของอยุธยา ซึ่งชาติชายยืนยันว่า กฎหมายดังกล่าวต้องสะท้อนภาพของอยุธยาได้อย่างน้อยก็ในสมัยปลายอยุธยา และอีกประการคือ ส่วนใหญ่ประมวลกฎหมายของรัชกาลที่ 1 ยังคงใช้มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5
สาเหตุการเป็น “ทาสอยุธยา” มีด้วย 3 ประการ คือ
สาเหตุแรก เกิดจากการเมือง ซึ่งเป็นพวกที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองอื่นๆ หรือ “เชลย” นี่เป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองในการบั่นทอนกองกำลังฝ่ายตรงข้าม และเพิ่มกำลังให้ฝ่ายตน
สาเหตุที่สอง คือด้านเศรษฐกิจ แรงงานเป็นกำลังสำคัญในระบบเศรษฐกิจอยุธยา สังคมอยุธยาขาดแรงงานไม่ได้ ทาสจึงเป็นแรงงานที่สำคัญในการผลิตเพื่อป้อนผลผลิตให้อยุธยา
สาเหตุที่สาม เป็นเงื่อนไขทางสังคม เช่น บิดามารดาเป็นทาส ลูกที่ออกมาก็ต้องเป็นทาส บทลงโทษทางกฎหมายหากผู้ใดทำผิดก็ถูกลงโทษให้เป็นทาส อีกทั้งค่านิยมในสมัยนั้นยกย่องคนที่มีทาสเป็นจำนวนมากว่า เป็นคนที่มีเกียรติ คนเหล่านี้จึงต้องการทาสมาเสริมบารมี ทาสจึงเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
ประเภททาส
สำหรับประเภททาสในสมัยอยุธยาที่ชาติชายแบ่งมีหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็มีเกณฑ์การแบ่งที่แตกต่างกันไป มีดังนี้
ประเภทแรก แบ่งตามสภาวะความเป็นทาสได้เป็นสองกลุ่มคือ “ทาสถาวร” เป็นทาสไปชั่วชีวิต ไม่สามารถเป็นอิสระได้ แต่มีเงื่อนไขพิเศษที่จะมีอิสระคือ เมื่อนายปลดปล่อย หรือนายให้บวชเป็นพระ หรือเข้าร่วมสงคราม และ “ทาสชั่วคราว” เป็นทาสที่อยู่ภายใต้กฎหมายข้อตกลงระหว่างนายกับทาส ซึ่งสามารถเป็นอิสระได้ เช่น ทาสไถ่ไม่ขาดค่า
ประเภทที่สอง แบ่งตามลักษณะเจ้าของทาส แบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ “ทาสของกษัตริย์” ส่วนใหญ่เป็นทาสเชลย และผู้ถูกลงโทษให้เป็นทาส “ทาสของสถาบันศาสนา” เป็นทาสถาวรที่อุทิศให้ศาสนา รวมถึงคนทั่วไปที่อุทิศตนเองเพื่อการศาสนา และ “ทาสของเอกชน” เช่น ทาสสินไถ่ ทาสในเรือนเบี้ย ทาสเบ็ดเตล็ด
ประเภทที่สาม แบ่งตามหน้าที่ ทาสประเภทนี้อาศัยการทำงานเป็นตัวกำหนด ประกอบด้วย ทาสบริการคอยรับใช้เจ้านาย และทาสทำการผลิตทำหน้าที่ผลิตสินค้า
ทั้งนี้ ชาติชาย ได้สันนิษฐานเรื่องสถานะทางกฎหมายของทาสว่า ทำไมทาสจำยอมกับทาสเบ็ดเตล็ดถึงไม่มีสถานะทางกฎหมาย
ผู้ศึกษาสันนิษฐานว่า เป็นเพราะกฎหมายนั้นอาจสูญหายไปหรือรัชกาลที่ 1 อาจจะออกกฎหมายอื่นมาทดแทน หรือกฎหมายเกี่ยวกับทาสจำยอมและทาสเบ็ดเตล็ดอาจจะไม่มีก็ได้
ชาติชายระบุต่อโดยอ้างตามพระไอยการทาสที่กล่าวถึงทาสสินไถ่ประเภทชั่วคราว โดยระบุว่า จากประเภทและสถานะของทาสพอจะประมวลได้ว่า ทาสสินไถ่ประเภทชั่วคราวมีสถานะเป็นแรงงาน เพราะมีศักยภาพในการผลิต ทั้งนี้แรงงานยังมีสถานะเป็นสินค้าที่สามารถขายฝาก จำนำ หรือใช้หนี้ได้ กล่าวคือ ทาสมีสถานะเสมือนสิ่งของที่เจ้านายจะทำอะไรก็ได้
สถานะทางสังคมของทาส
ส่วนสถานะทางสังคมของ ทาสอยุธยา นั้นเป็นไปตามโครงสร้างทางสังคมที่ประกอบด้วย 2 ชนชั้นคือ ชนชั้นผู้ปกครอง และชนชั้นที่ถูกปกครอง แน่นอนว่า ทาสมีสถานะทางสังคมที่เป็นผู้ถูกปกครอง แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ทาสจะต้องรับใช้ทั้งชนชั้นผู้ปกครอง และชนชั้นที่ถูกปกครอง ดังนั้น ทาสจึงมีสถานะที่ต่ำที่สุดในสังคม
นอกจากนั้น ชาติชายยังกล่าวถึงบทบาท และหน้าที่ของทาสว่า ทาสเป็นเครื่องหมายแห่งเกียรติยศ ผู้ที่มียศถาบรรดาศักดิ์ หรือผู้ที่มีความมั่งคั่งเท่านั้นจึงจะมีทาส และทาสมีหน้าที่รับใช้พวกเจ้านายภายในบ้าน และหน้าที่ในการผลิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำงานในภาคเกษตรกรรม อีกทั้งทาสยังมีบทบาทเป็นฐานอำนาจในแง่จำนวนของกำลังคนภายในรัฐ
สำหรับทาสเชลย อันเป็นทาสที่ถูกกวาดต้อนมายังอยุธยาในวาระต่างกัน มีปรากฏในพงศาวดารหลายฉบับ บางส่วนพระมหากษัตริย์เก็บไว้เป็นของส่วนพระองค์ บางส่วนแจกจ่ายเป็นรางวัลแก่ข้าราชการ หรือแม่ทัพนายกอง จึงกล่าวได้ว่า การจับคนมาเป็นทาสมีนัยยะสำคัญทางการเมือง และเศรษฐกิจ ในแง่นามธรรมหมายถึงเกียรติยศ ส่วนรูปธรรมเจ้าของทาสก็ได้แรงงานบริการรับใช้ และหน้าที่ในการผลิตด้านเกษตรกรรม
ทาสอยุธยามีสภาพชีวิตอย่างไร?
สภาพชีวิต ทาสอยุธยา นั้น ชาติชายระบุว่า ในทางกฎหมายได้เขียนว่า เจ้าของทาสต้องเลี้ยงดูทาส การทอดทิ้งทาสจะทำให้เจ้าทาสสิ้นสุดการเป็นเจ้าของในตัวของทาสนั้น นอกจากนี้ กฎหมายก็ยังให้เจ้าของทาสสามารถลงโทษทาสได้ แต่หากกระทำรุนแรงมากไป เจ้าของทาสต้องจ่ายค่าตัวทาส หรือหากทำให้ทาสเสียชีวิต เจ้าของทาสจะต้องรับโทษถึงชีวิต
กิจกรรมการขายตัวเป็นทาสในอยุธยาดูเหมือนว่าจะเป็นกิจกรรมที่แพร่หลาย ซึ่งเรื่องนี้พบในบันทึกของชาวต่างชาติ การแพร่หลายดังกล่าวทำให้รัฐต้องออกมาควบคุมโดยออกกฎหมายพระไอยการทาส มีรายละเอียดอันรอบคอบเพื่อคุ้มครองทาส และควบคุมเกี่ยวกับการซื้อขายทาส พันธะของทาส และบทลงโทษต่างๆ
ชาติชาย กล่าวไว้ว่า แม้ภาพชีวิตของทาสอยุธยาที่กล่าวมาอาจดูสวยหรูไปสักหน่อย แต่ความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคงเป็นไปได้ยากที่ทาสจะไม่โดนกดขี่หรือถูกทำร้ายร่างกายเลย
ประเด็นที่นำมาศึกษาเพิ่มด้วยคือ มุมมองของชาวต่างชาติที่บันทึกไว้ว่า ทาสแม้จะเป็นทาสในเรือนเบี้ย แต่มักจะได้รับการปฏิบัติอย่างละมุนละม่อมและฉันมิตร บางคนตั้งข้อสังเกตว่า ดูเหมือนว่าเสรีภาพจะเป็นสิ่งที่หน้าเจ็บปวดกว่าการเป็นทาสเสียอีก ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า สภาพชีวิตของทาสอยุธยาไม่ได้เลวร้ายแต่มีชีวิตที่ดีพอสมควร จากตรรกะ และหลักฐานที่ปรากฏ ผู้เขียนมองว่า “สภาพชีวิตของทาสอยุธยามิได้เลวร้ายในสายตาคนอยุธยาและต่างชาติ”
แต่ในอีกแง่หนึ่ง เสรีภาพของทาสในมุมมองของผู้ศึกษาเรื่องทาสนั้น กลับมองว่าเป็นสิ่งที่เจ็บปวดกว่าการเป็นทาส กล่าวคือ คนที่มีเสรีภาพคือคนที่ไม่ใช่ทาส คนที่ไม่ใช่ทาสส่วนใหญ่เป็นไพร่
“เสรีภาพ” เป็นสิ่งที่เจ็บปวดสำหรับคนที่มีเสรีภาพ เป็นเพราะ ไพร่ (คนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ใช่ทาส) ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน หรือสิ่งชดเชยให้รัฐหรือกษัตริย์เป็นเวลา 6 เดือน ดังนั้น บันทึกของชาวต่างชาติที่กล่าวถึงทาสในทางบวก และเห็นได้ว่ากล่าวถึงไพร่ในทางลบและน่าสงสาร เช่นนี้ย่อมหมายความว่า ระบบไพร่ หรือการเกณฑ์ที่ใช้ในสมัยอยุธยาต่อจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์คือระบบที่ทำให้เสรีภาพ เป็นสิ่งที่น่า “เจ็บปวด”
การเกณฑ์แรง 6 เดือนต่อปีย่อมส่งผลต่อการผลิต โดยเฉพาะในยุคนั้นที่เป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพ ประชากรทำนาเป็นหลัก ยิ่งเมื่อถูกเกณฑ์ไปช่วงฤดูทำนาหรือเก็บเกี่ยวก็ยิ่งส่งผลต่อการผลิต ขณะที่การจ่ายเงินแทนเข้าเวรเกณฑ์แรงงาน 12-15 บาทต่อปี ก็ดูเหมือนเป็นทางเลือกหนึ่ง
แต่หากพิจารณาอัตราค่าเงินในเวลานั้น ชาวต่างชาติผู้หนึ่งบันทึกว่าเงิน 12 บาทในปลายศตวรรษที่ 17 เป็นจำนวนที่คนหนึ่งใช้ดำรงชีพได้ตลอดปี อีกรายหนึ่งบันทึกว่า โดยเฉลี่ยแล้วขายตัวกันในราคา 4-6 บาท ผู้เขียนจึงอธิบายว่า
“เงินที่จะจ่ายแทนการเข้าเวรเกณฑ์แรงจำนวน 12-15 บาทต่อปีจึงเป็นอัตราที่สูงมาก จนชาวไร่ชาวนาธรรมดาคงยากที่จะหามาจ่ายได้ ในขณะที่ไพร่ชายมีภาระดังกล่าวนี้ ทาสกลับได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์แรงงาน นี่เอง ‘เสรีภาพ’ จึงเป็นสิ่งที่ ‘เจ็บปวด’ กว่า”
อ่านเพิ่มเติม :
- ข้อมูลเรื่องข้าวปลายสมัยอยุธยายืนยัน “กรุงศรีอยุธยา” เมืองอู่ข้าวอู่น้ำตัวจริง
- คลายข้อสงสัย คนกรุงศรีอยุธยา “หน้าตา” เป็นอย่างไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ชาติชาย พณานานนท์. “ทาสอยุธยาในประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1, ใน“ ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2532.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ตุลาคม 2566