“การซื้อ-ขายทาส” ในสมัย ร.5 เป็นอย่างไร เจ้านายก็เคยขายตัวเป็นทาส ได้ค่าตัวเท่ากับไพร่?

ทาส ชาวสยาม
ทาสชาวสยาม มีสภาพชีวิตแทบไม่ต่างจากไพร่สามัญในทัศนะของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 จากหอสมุดดำรงราชานุภาพ)

ในสมัย “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” หรือ “รัชกาลที่ 5” ถือเป็นยุคที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่ามีการยกเลิก “การซื้อ-ขายทาส” ในสยาม ทว่าในความเป็นจริง ซึ่งปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สังคมในช่วงนั้นยังซื้อ-ขายทาสอยู่เป็นจำนวนมาก โดยการค้าขายนี้ระบุอยู่ใน “เอกสารกรมธรรม์ซื้อทาส” เอกสารโบราณของทางราชการเมืองนครราชสีมา ซึ่งอธิบายวิธีการดังกล่าวไว้ละเอียดยิบ 

และไม่ได้มีแค่บุคคลทั่วไปเท่านั้นที่ขายตัวเป็นทาส เพราะยังมีเหล่าเจ้านายที่ขายตัวเองเป็นทาส ในราคาเทียบเท่าไพร่!

“เอกสารกรมธรรม์ซื้อทาส” เป็นเอกสารโบราณที่พบเมื่อ พ.ศ. 2538 ในบ้าน คุณยายยี่สุ่น ไกรฤกษ์ ซึ่งตั้งอยู่ในเทศบาลเมืองนครราชสีมา มีทั้งหมด 138 ฉบับ 

ภายในบันทึกด้วยอักษรไทยและลายมือโบราณ เต็มไปด้วยเรื่องราวของการค้าทาสของหัวเมืองนครราชสีมา โดยเล่มที่เก่าที่สุดมีเนื้อหาตรงกับ พ.ศ. 2399 และฉบับล่าสุดอยู่ในช่วง พ.ศ. 2445 

ในเรื่องนี้จะขอจำแนกเป็น 2 เรื่องหลัก ๆ คือ “การขายตัวเป็นทาส” และ “การไถ่ตัวทาส”

การขายตัวเป็นทาส ในสมัยนั้นแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท 

1. กรณียากจน จนต้องยอมขายตัวเองเป็นทาส เหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากความยากจน โดยเหล่าไพร่ทั้งหลายจะทำสารกรมธรรม์เพื่อขายตัวเองให้กับนาย บางกรณีถึงขั้นขายตัวเองและลูกเพื่อเป็นทาส

2. กรณีนายทาส (เจ้าของทาส) ต้องการขายทาสให้นายเงินคนอื่น ถ้าจะให้เห็นภาพชัดหน่อย คือ เจ้านายขายทาสตนเองให้คนอื่น ผัวขายเมีย หรือพ่อแม่ขายลูก ให้นายเงินนั่นแหละ กลุ่มนี้มักจะเจอไม่เยอะเท่าขายตัวเองหรือครอบครัว

3. กรณีขุนนางผู้ใหญ่ขายตัวเองให้เป็นทาส ประเภทนี้น่าสนใจมาก เพราะหลายคนอาจจะคิดว่าคนที่ได้เป็นใหญ่เป็นโตแล้วคงไม่กลับมาเป็นทาส แต่ในเอกสารดังกล่าวระบุไว้ว่า มีเจ้านายคนหนึ่งชื่อว่า หลวงภักดีสงคราม ท่านขายตัวเองและภรรยาให้ชาวจีน ในราคาปกติที่ค้าขายไพร่ทั่วไป คือประมาณ 2 ชั่ง 14 ตำลึง (ราคานี้คือทั้ง 2 คนรวมกัน)

ไม่แน่ชัดว่าท่านหลวงผู้นี้ยากจนมาได้อย่างไร แต่ก็ทำให้เห็นอีกด้านหนึ่งของ “การซื้อ-ขายทาส” ในยุคสมัยนั้นว่ามีความหลากหลาย

นอกจากนี้ยังมีขุนอินทร์ รายนี้ขายตัวเป็นทาสให้แม่เลื่อนนายเงิน เป็นจำนวน 1 ชั่ง 5 ตำลึง อีกด้วย

4. กรณีชาวจีนขายตัวเป็นทาส ในเอกสารพบว่ามีชาวจีนที่เข้ามาทำมาหากินและมีเมียเป็นคนไทย ค้าทาสอยู่ไม่น้อย โดยพบกรณีนี้มากมาย เช่น จีนปรั่งกับภรรยา ขายตัวเองเป็นทาส 2 คน ในราคา 1 ชั่ง 17 ตำลึง, จีนหมี แซ่จังกับภรรยา ขายตัวเป็นทาสทั้ง 2 คน ในเงิน 3 ชั่ง เป็นต้น 

5. กรณีทาสเพิ่มค่าตัวโดยขายตัวเป็นทาสกับนายเงินใหม่ กรณีนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะปรากฏเรื่องราวของนายจีนอิ่ม ชายผู้ขายตัวไปเป็นทาส (ซึ่งภรรยาเกลี้ยกล่อม) โดยแต่เดิมเขาเป็นทาสของพระศักดาเรืองฤทธิ์ ปลัดเมืองตาก มีค่าตัวอยู่ที่ 1 ชั่ง 1 ตำลึง

ก่อนที่จะขอเปลี่ยนนายเงินใหม่ คือ หลวงภักดีณรงค์ เขาได้เงินจากนายเงินใหม่ จำนวน 1 ชั่ง 10 ตำลึง ทำให้ได้เงินค่าตัวเพิ่ม 9 ตำลึง 

โดยการขายตัวเป็นทาส ผู้จะขายตัวให้นายจะต้องทำสิ่งที่เรียกว่า “หนังสือสารกรมธรรม์” หรือ “หนังสือสัญญาขายตัว” ก่อน ซึ่งจะมีกระบวนการขั้นตอน มีนายอำเภอ เจ้าเมืองหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พยาน รวมถึงเสมียน ในการสอบถามความยินยอนพร้อมใจ 

ถ้าหากว่าทั้ง 3 ฝ่ายเห็นว่าผู้ขายไม่ได้ถูกบังคับกดขี่ จึงจะประทับตราประจำตำแหน่ง ที่เป็นตราหนุมานทรงเครื่องให้อย่างน้อย 3 แห่งในเอกสาร บริเวณ วันเดือนปี, จำนวนเงินที่ซื้อขาย และชื่อทาส (ซึ่งอาจมีชื่อเมียหรือพ่อแม่ระบุไว้ด้วยก็ได้)

ส่วนที่ 2 คือ การไถ่ทาส จากเอกสารสารกรมธรรม์ ที่พบ ณ เมืองนครราชสีมา การไถ่ถอนนั้นมีระบบขั้นตอนเหมือนกับตอนขายตัวเองเป็นทาส โดยกลุ่มที่มาไถ่ทาสจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

กลุ่มแรกจะเป็น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เป็นผู้ไถ่ตัว อย่างที่ 2 คือ ผู้อื่นมาไถ่ตัวไป (ในบันทึกไม่ได้ระบุว่าเป็นญาติกับทาส) กรณีนีนี้มักจะไถ่ตัวทาสสาวเป็นส่วนใหญ่ อย่าง กรณีขุนรัตนามาไถ่อีเแก้วออกสารกรมธรรม์ 

พวกเขาจะส่งเงินบางส่วนหรือทั้งหมดมาที่นายเงิน และแจ้งกับทางเจ้าหน้าที่เพื่อให้บันทึกรายละเอียด ก่อนที่จะประทับตราเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ด้านหลังสัญญา เพื่อยืนยันการสิ้นสุดความเป็นทาส

การไถ่ทาสเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นง่าย ๆ เพราะบางคนต้องใช้เวลาเกือบค่อนชีวิตในการหาเงินเพื่อได้รับอิสระ ทว่าบางคนก็ต้องติดกับความเป็นทาสไปจนตาย เนื่องจากไม่มีสตางค์มามอบให้กับนายเงิน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://www.silpa-mag.com/history/article_95711


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2567