ซื้อทาส สมัยรัชกาลที่ 5

ทาส ชาวสยาม
ทาสชาวสยาม มีสภาพชีวิตแทบไม่ต่างจากไพร่สามัญในทัศนะของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 จากหอสมุดดำรงราชานุภาพ)

จากความรู้เรื่องการเลิกทาสของสังคมไทยนั้น นักวิชาการและผู้รู้จะกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “ประเทศไทยเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5”

แต่ความจริงแล้ว ใน พ.ศ. 2445 ก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จสวรรคตไม่กี่ปี (รัชกาลที่ 5 สวรรคต พ.ศ. 2453) ยังมีการขายตัวเป็นทาสนายเงิน ดังเอกสารโบราณลำดับที่ 23 เป็นสัญญาขายตัวของอ้ายเพชร เมื่อวันที่ 6 กันยายน ร.ศ. 121 หนังสือสัญญาดังกล่าวเรียกว่า “สารกรมธรรม์” เป็นแบบฟอร์มที่พิมพ์จำหน่ายจากโรงพิมพ์หลวง (ตะพานเหล็กโรงหวย) แบบฟอร์มดังกล่าวพิมพ์ข้อความสำคัญไว้เกือบทั้งสิ้น และมีส่วนว่างให้เติมข้อความสำคัญอื่นๆ เช่น ชื่อทาส ชื่อนายเงิน จำนวนเงิน และตำแหน่งพนักงานที่จดทะเบียน สารกรมธรรม์ พร้อมกับประทับตราประจำตำแหน่ง ฯลฯ

เอกสารกรมธรรม์ซื้อทาสดังกล่าวเป็นเอกสารโบราณของทางราชการเมืองนครราชสีมา เพิ่งค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2538 จำนวน 138 ฉบับ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

การซื้อทาสขายทาส รวมทั้งยอมขายตนเองเป็นทาสแก่นายเงินนั้น มีกฎหมายบังคับก่อนที่จะมี พ.ร.บ. เลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามที่ทราบกันอยู่ทั่วไปนั้น แต่ยังไม่พบหลักฐานการทำหนังสือสัญญายอมขายตัวเป็นทาส รวมทั้งขบวนการเข้าสู่ระบบทาส ซึ่งมีการสอบถามความยินยอมพร้อมใจของทาสผู้ยอมขายตัวเองต่อหน้าข้าราชการผู้ใหญ่ และพยานดีแล้ว ทางราชการจึงจะทำหนังสือสารกรมธรรม์ หรือหนังสือสัญญาขายตัว โดยมีนายอำเภอ (เจ้าเมืองหรือข้าราชการผู้ใหญ่) มีพยาน และเสมียน นั่งพร้อมกันสอบถามความสมยอมพร้อมใจของผู้ขายตัวเป็นทาส และนายเงิน เมื่อเห็นว่าไม่ได้บังคับกดขี่คดโกงกัน จึงจะประทับตราประจำตำแหน่ง (ตรารูปหนุมานทรงเครื่อง) ไว้เป็นสำคัญอย่างน้อย 3 แห่ง คือ 1. ศก (วัน เดือน ปี) 2. เรือนเงิน (คือจำนวนเงินที่ซื้อขาย) 3. ชื่อทาส (ชื่อทาส ชื่อเมีย และพ่อแม่ถ้ามี)

เอกสารโบราณว่าด้วยสารกรมธรรม์การขายตัวเป็นทาสนี้ พบจำนวนมาก (ประมาณ 138 ฉบับ) ที่บ้านคุณยายยี่สุ่น ไกรฤกษ์ บ้านอยู่ถนนมหาดไทยในเขตเทศบาลนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2538 (ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของนางเสริมศรี โชรัมย์ ทายาท) และได้มอบให้สำนักศิลปวัฒนธรรมสถาบันราชภัฏนครราชสีมา ต่อมา พ.ศ. 2545 สำนักศิลปวัฒนธรรมได้พิมพ์เผยแพร่ชื่อว่า “เอกสารโบราณ เล่ม 1 สารกรมธรรม์” มีเอกสารโบราณจำนวน ณ 138 ฉบับ ฉบับเก่าสุดลงศักราชตรงกับ พ.ศ. 2399 และฉบับล่าสุดลงศักราช พ.ศ. 2445 ซึ่งเอกสารโบราณดังกล่าวเป็นสารกรมธรรม์ขายตัวเองเป็นทาสส่วนใหญ่ มีบางส่วนเป็นสารกรมธรรม์นายเงินขายทาสให้นายเงิน โดยความยินยอมของนายเงินและทาส และบางส่วนเป็นสัญญากู้เงิน

เอกสารโบราณดังกล่าว เขียนด้วยอักษรไทย ลายมือโบราณส่วนหนึ่ง (สารกรมธรรม์ พ.ศ. 2399-พ.ศ. 2429) ส่วนเอกสารทำหลัง พ.ศ. 2429 ถึง พ.ศ. 2445 จะมีแบบฟอร์มพิมพ์จากโรงพิมพ์หลวง และมีคำชี้แจงด้านหลังว่า “กระดาษที่จะใช้ทำหนังสือสัญญาต่างๆ ที่ทำเพื่อใช้เป็นพยานในโรงศาลทั้งปวง ที่มีสารกรมธรรม์สัญญาเป็นต้น ควรใช้กระดาษหลวงที่มีตราหลวงสำหรับการนั้นๆ ให้ผู้ทำพิเคราะห์จงดี จึงจะเป็นการมั่นคงดี ที่อำเภอจะต้องใช้กระดาษต่างๆ และกระดาษต่างๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการทุกสิ่งทุกอย่างนี้ จำหน่ายที่โรงพิมพ์หลวง แลที่ตึกแถวถนนใหม่ที่สุดริมตะพานเหล็กโรงหวย แลบ้านอำเภอทุกๆ แห่ง”

จากหลักฐานเอกสาร “สารกรมธรรม์” ข้างต้นนั้น เป็นหลักฐานว่า ในหัวเมืองนครราชสีมา ยังมีการขายตัวเป็นทาสจนถึง พ.ศ. 2445 แม้ว่าทางราชธานีจะประกาศเลิกทาสแล้วก็ตาม อีกประการหนึ่ง ในตอนต้นรัชสมัยของพระจุลจอมเกล้าฯ ที่ยังมิได้ประกาศเลิกทาสนั้น ทางราชการยังพิมพ์แบบฟอร์มสัญญาสารกรมธรรม์ขายตัวเองเป็นทาส ซึ่งมีรายละเอียดรูปพรรณของตัวทาส และมีพยาน มีการสอบถามความสมัครใจทั้งสองฝ่าย ลงชื่อ ประทับตราประจำตำแหน่งกันอย่างเป็นระบบ

1. กรณีการขายตัวเป็นทาส

จากการศึกษาเอกสารโบราณที่พบอยู่บ้านคุณยายยี่สุ่น ไกรฤกษ์ ในเขตเทศบาลเมืองนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2538 นั้น ทำให้เข้าใจขบวนการขายตัวเป็นทาสนายเงินหลายกรณี นั่นคือ 1. กรณีเกิดยากจนเป็นหนี้สิน จึงยอมขายตนเองเป็นทาส 2. กรณีนายทาส (เจ้าของทาส) มีความประสงค์จะขายทาสให้นายเงินคนอื่น 3. กรณีเป็นคดีความ ถูกศาลสั่งปรับไหมเป็นเงินจำนวนมาก (1 ชั่ง 2 ชั่ง) จึงต้องขายตนเองและลูกเมียเป็นทาส เพื่อนำเงินไปใช้ค่าปรับไหม 4. กรณีมูลนายขายตนเองเป็นทาสนายเงิน 5. กรณีทาสขอเพิ่มค่าตัวโดยเปลี่ยนนายเงินใหม่

1.1 กรณียากจนยอมขายตนเองเป็นทาส

กรณีขายตนเองเป็นทาสนายเงินนั้นมักจะมีสาเหตุมาจากความยากจน ในสารกรมธรรม์จะบันทึกว่า “ข้าอีทรัพย์มีทุกข์ยากมาทำหนังสือสารกรมธรรม์ขายตัวเองอยู่กับท่าน…” หรือ “ข้าอ้ายแดงมีอาสน (ปรารถนา) มาทำหนังสือสัญญาขายตัวเอง และขอรับเงินตราสองชั่งของท่านจีนทองคำผัวพลับภรรยา…” (เอกสารโบราณลำดับที่ 8 หน้า 15) หรือ “ตูข้าอ้ายปลูกผู้ผัวอีสา…มีความทุกข์ยากพร้อมใจกันทำ (หนัง) สือสารกรมธรรม์ขายตัวเองอยู่กับท่านจีนปุกผัวนางมาภรรยา…” (เอกสารโบราณลำดับที่ 30 หน้า 53)

บางกรณียอมทำสารกรมธรรม์ขายตัวเองและลูกเต้าเป็นทาสนายเงิน ดังเช่นเอกสารโบราณลำดับที่ 68 หน้า 93 ลงวันเดือนปีว่า วันพุธ เดือนเจ็ด แรมสี่ค่ำ จ.ศ. 1233 ปีมะแมตรีศก (พ.ศ. 2414) บันทึกว่า “ตูข้าอ้ายเสือผู้ผัว อีแจ่มผู้เมีย อีอั้ว อีจีบ อีพวง อ้ายอิ่ม ผู้ลูก มีความทุกข์ยากพร้อมใจกันทำหนังสือสารกรมธรรม์ขายตัวเองอยู่กับท่านทองอิน แต่ต้นเป็นเงินห้าชั่งสองตำลึง ตูข้ายอมตัวเข้ารับใช้สอยการงานต่างกริยาดอกเบี้ย ถ้าตูข้าขัดแข็งบิดพลิ้ว หลบหลีกหนีหาย ท่านจะใช้สอยการงานของท่านมิได้ ให้ท่านคิดเอาต้นเงินและค่าป่วยการแก่ตูข้าจงเต็ม ถ้าตูข้าขัดแย้งบิดพลิ้วไปมามิให้ต้นเงินและค่าป่วยการของท่านไซร้ ให้ท่านเอาหนังสือสารกรมธรรม์ขายตัวใบนี้ ออกร้องเรียกว่ากล่าวเอาตามความแผ่นดินเมืองของท่านนั้นเถิด ตูข้าอ้ายเสือ อีแจ่มเมีย อีอั้ว อีจีบ อีพวง อ้ายอิ่มลูก ขีดแกงได (เครื่องหมายแทนลงลายมือ) ให้ไว้แก่ท่านนายเงินเป็นสำคัญ”

หนังสือสารกรมธรรม์ขายตนเองเป็นทาส หรือขายตนเองและครอบครัวเป็นทาสนายเงินจะมีข้อความสำคัญตามเอกสารโบราณลำดับ 64 ทุกฉบับ (อาจจะมีข้อความบางส่วนต่างไปเล็กน้อย) แต่กระนั้นก็ตามต้องมีตราประจำตำแหน่ง (นายอำเภอ หรือขุนนางผู้ใหญ่เป็นประธาน) ประทับไว้บริเวณวัน เดือน ปี จำนวนเงิน ชื่อทาส อย่างน้อย 3 แห่ง ซึ่งข้อความดังกล่าวจะบันทึกไว้ด้านหลังของหนังสือสารกรมธรรม์ ว่า “หนังสือขายตัวใบนี้ อ้ายเสือ อีแจ่ม จ้างขุนสนิทเขียน เป็นอักษร 7 บรรทัด บุบสลายหลายแห่ง ๐วันอังคาร แรมห้าค่ำ เดือนเจ็ด ปีมะแมตรีนิศก แม่ทองอินนายเงิน นำเอาตัวทาสกับสารกรม ธรรม์มาให้พระพิพิธภักดีประทับตรา ได้ถามทาสรับ (ว่า) ถูกต้องตามสารกรมธรรม์แล้ว พระพิพิธภักดีจึงประทับตรารูปหนุมานทรงเครื่องประจำ ชื่อ-เรือนเงิน-ศก ไว้เป็นสำคัญ” (เอกสารโบราณลำดับ 68 หน้า 93)

1.2 กรณีเจ้าของทาสขายทาสให้นายเงินคนอื่น รวมทั้งผัวขายเมียหรือพ่อแม่ขายลูกเป็นทาส

กรณีเจ้าของทาสนำทาสมาขายตัวให้นายเงินคนอื่น พบอยู่บ้างไม่มากเหมือนขายตนเอง และครอบครัวเป็นทาสนายเงิน ได้แก่เอกสารโบราณลำดับที่ 46 หน้า 71 ในหนังสือสารกรมธรรม์มีสาระโดยสรุปว่า เมืองจันทร์ (ตำแหน่งข้าราชการหัวเมืองภาคอีสานและล้านช้าง) เมืองทองคำใหญ่ เอาทาสชื่ออ้ายออง อ้ายกอม เป็นชาวข่าดัด มาขายให้หลวงภักดีณรงค์ (สามี) นางมา (เมีย) ลงศักราชวันพุธ เดือนสิบสอง ขึ้นสามค่ำ จุลศักราช 1238 ปีชวดอัฐศก (พ.ศ. 2419)

บางกรณีสามีนำเมีย หรือพ่อแม่นำลูกมาขายเป็นทาสของนายเงิน ในกรณีดังกล่าวพบอยู่หลายสารกรมธรรม์ เช่น เอกสารโบราณลำดับที่ 86 หน้า 111 ได้บันทึกสาระโดยสรุปว่า “วันพุธ เดือนหก ขึ้นเก้าค่ำ จุลศักราช 1236 ปีจอฉศก (พ.ศ. 2417) พ่อแสง (ไม่ใช้คำหน้าชื่อว่าอ้าย) ผู้ผัวทำหนังสือสารกรมธรรม์เอาอีศรีเมียมาขายฝากไว้กับท่านพระภักดีนุชิตผัว อ้นภรรยา แต่ต้นเป็นเงินตราสิบสองตำลึง บาทหนึ่ง (49 บาท) มอบตัวอีศรีให้ท่านใช้สอยงานต่างกระยาดอกเบี้ย…”

หมายเหตุ ในกรณีนายแสงนำนางศรีมาขายฝาก ตามหนังสือสารกรมธรรม์ข้างต้นนี้ พบหลักฐานว่าได้นำเงิน 49 บาทมาไถ่ค่าตัวภรรยาอีก 2 ปีต่อมา และได้บันทึกด้านหลังหนังสือสารกรมธรรม์ฉบับนี้ว่า “วันอาทิตย์ เดือนสาม ขึ้นเจ็ดค่ำ จุลศักราช 1238 ปีชวดอัฐศก (พ.ศ. 2419) นายแสงได้เอาเงินค่าตัวอีศรีส่งไว้เป็นเงินสิบสองตำลึงบาท ได้รับไว้ สักหลังไว้เป็นสำคัญ”

ในกรณีพ่อแม่นำลูกมาขายเป็นทาสแก่นายเงิน พบสารกรมธรรม์บางฉบับได้กล่าวถึงแม่นำลูกมาขายเป็นทาสนายเงิน โดยเฉพาะเอกสารโบราณลำดับที่ 92 หน้า 117 ต้นฉบับเป็นอักษรพิมพ์ดีดโบราณ (ขนาดอักษรโตกว่าปัจจุบัน) และเว้นช่องให้ใส่รายชื่อบุคคล (ทาส นายเงิน) เอกสารสารกรมธรรม์ดังกล่าวทำขึ้น เมื่อ จ.ศ. 1240 ปีขาลสัมฤทธิ์ศก (พ.ศ. 2421) มีสาระโดยสรุปว่า อำแดงมาก (แม่) เอาอ้ายแก้ว (ลูก) มาขายฝากไว้กับท่านนายช้าง (ผัว) จัน (ภรรยา) ทองอยู่ (บุตร) เป็นเงินตรา 1 ชั่ง 7 ตำลึง มีข้อสังเกตว่าอ้ายแก้ว (ทาส) มีความรู้เขียนหนังสือได้ดี ดังความตอนท้ายว่า “ข้าพเจ้าอ้ายแก้ว ตัวทาสเขียนลงชื่อเอง และลงชื่อแทนแม่ให้ไว้เป็นสำคัญ”

ส่วนด้านหลังเป็นลายมือเขียนรับรองสารกรมธรรม์ฉบับนี้ โดยประทับตราดอกบัวบานประจำตัวรองหมื่นรามพลแผ้ว (นายอิน) มีใจความว่า “วันประหัส เดือนเจ็ด สองค่ำ จุลศักราช 1240 ปีขาลสัมฤทธิศก ท่านนายอินรองหมื่นรามพลแผ้ว ได้ซักถามปากคำท่านแม่จันนายเงิน อำแดงมากผู้ขาย อ้ายแก้วตัวทาส ให้ถ้อยคำว่า ข้าพเจ้าอำแดงมากแม่ เอาอ้ายแก้วลูก มาขายฝากไว้กับท่านช้างผัว (แม่) จันภรรยา ทองอยู่บุตรนายเงิน เป็นเงินตราชั่งเจ็ดตำลึง ข้าพเจ้าผู้ขาย-ตัวทาส จ้างนายจวด เขียนด้วยเส้นดำน้ำหมึก ตามระยะหนังสือพิมพ์ขายฝากฉบับนี้แล้ว นายอินรองหมื่นรามพลแผ้ว ได้ประทับตราบัวบานประจำศก-ชื่อ เงิน-ตำหนิ ไว้เป็นสำคัญ ตำหนิอำแดงมากเป็นแผลใต้รักแร้ข้างขวา อ้ายแก้วเป็นแผลใต้ลูกคาง”

1.3 กรณีขุนนางผู้ใหญ่ขายตนเองเป็นทาส

ในกรณีขุนนางผู้ใหญ่ขายตนเองและเมียเป็นทาส นายเงินที่เป็นชาวจีน ไม่มีรายละเอียดว่าท่านหลวงภักดีสงครามยากจนเพราะเหตุใด และเงินค่าขายตัวเพียง 2 ชั่ง 14 ตำลึง (ทั้งสองคนผัวเมีย) ก็ไม่ได้สูงกว่าไพร่เลวอื่นๆ ที่ขายตัวเป็นทาสในสมัยเดียวกัน (พ.ศ. 2416) และไม่พบรายละเอียดเกี่ยวกับตัวท่านหลวงภักดีสงคราม และนางคล้าย (ภรรยา) ว่ามีอายุมากน้อยเท่าใด อยู่ในราชการหรือถูกปลดออกจากราชการ เงินเบี้ยหวัดทรัพย์สมบัติสูญสิ้นไปไหนหมด จึงสิ้นเนื้อประดาตัว จนต้องขายตนเองเป็นทาสแก่จีนทองจีน และนางนกแก้วภรรยา ซึ่งนายเงิน (จีนทองจีนและนางนกแก้ว) พบชื่ออยู่ในสารกรมธรรม์สมัยเดียวกันนี้หลายฉบับ แสดงว่ามีบ้านเรือนอยู่ที่เมืองนครราชสีมา ส่วนหลวงภักดีสงครามและนางคล้าย (ภรรยา) คงเป็นขุนนางตกยากของเมืองนครราชสีมา และน่าจะถูกปลดประจำการเพราะพบในสารกรมธรรม์ บางแห่งเขียนว่า “อ้ายหลวงภักดีสงคราม” สารกรมธรรม์ฉบับนี้อยู่ในเอกสารโบราณลำดับที่ 24 หน้า 109 มีใจความดังนี้

“๐ วันพุธ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสามค่ำ จุลศักราช 1235 ปีระกาเบญจศก (พ.ศ. 2416) ตูข้าอ้ายหลวงภักดีสงคราม อีคล้ายผู้เมีย ทุกข์ยาก พร้อมใจกันทำหนังสือสารกรมธรรม์ ขายตัวเองอยู่กับท่านจีนทองจีนผัว นางนกแก้วเมีย (แต่ต้น) เป็นเงินตราสองชั่งสิบสี่ตำลึง ตูข้าเข้าอยู่รับใช้สอยการงาน ต่างกิริยาดอกเบี้ยของท่าน ถ้าตูข้าขัดแข็งบิด (พลิ้ว) หลบ (หนีไป) มามิให้ท่านใช้สอยการงานต่างกิริยาดอกเบี้ยของท่านไซร้ ให้ท่านคิดเอาต้นเงินและดอกเบี้ยกับตูข้าจงเต็ม (ถ้า) ตูข้าขัดแข็งบิดพลิ้วไปมามิให้ต้นเงินและค่าป่วยการของท่านไซร้ ให้ท่านเอาหนังสือสารกรมธรรม์ (ขายตัว) เองใบนี้ ออกร้องเรียกว่ากล่าวเอาตามความแผ่นดินกะบิลเมืองของท่านเถิด ตูข้าหลวงภักดีสงครามผัว คล้ายผู้เมีย ขีดแกงได ให้ไว้แก่ท่านเป็นสำคัญ”

อีกกรณีหนึ่ง ขุนอินทร์ อายุสี่สิบห้าปีขายตัวเองเป็นทาสของแม่เลื่อนนายเงิน เป็นเงิน 1 ชั่ง 5 ตำลึง เมื่อวันอาทิตย์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีระกานพศก จุลศักราช 1259 (วันที่ 26 กันยายน ร.ศ. 116/ พ.ศ. 2440) โดยมีพระเจริญราชกิจ นายอำเภอเป็นผู้ออกหนังสือสารกรมธรรม์

รูปแบบหนังสือสารกรมธรรม์ฉบับนี้ เป็นฉบับพิมพ์จากโรงพิมพ์หลวง เป็นแบบฟอร์มที่มีรายละเอียดมากกว่าสารกรมธรรม์ที่เขียนด้วยลายมือ เช่น ลงชื่อพระเจริญราชกิจ-ผู้นั่ง (ประธาน) นายยอด-เสมียน ขุนอินทร์-ตัวทาส จีนทองคํา-มาแทนนายเงิน นายหมา-พยาน ส่วนตอนท้ายของสัญญาจะมีตารางบันทึกรายละเอียดของตัวทาส ได้แก่ ชื่อผู้สัญญา-อ้ายขุนอินทร์ตัวทาส บิดามารดาหรือบุตรภรรยา-เมียชื่อสาย ราย อายุ-สี่สิบห้าปี ตำหนิ-มีไฝริมจมูกขวา ผิวเนื้อ-ดำแดง รูปพรรณ-สันทัด ลงชื่อ-อ้ายขุนอินทร์ นายหมา-พยาน

หมายเหตุ หลังจากทำสารกรมธรรม์ฉบับนี้เพียง 11 วัน ขุนอินทร์ก็เอาเงินมาคืน 15 ตำลึง คงค้างค่าตัวอีก 10 ตำลึง ดังปรากฏบันทึกด้านหลังสารกรมธรรม์ว่า “วันที่ 7 ตุลาคม ร.ศ. 116 ขุนอินทร์ ตัวทาส ได้เอาเงินมาส่งแม่เลื่อนนายเงิน 15 ตำลึง ต้นเงินยังคงค้างอยู่ในสารกรมธรรม์เป็นเงิน 10 ตำลึง จึงให้สลักหลังสารกรมธรรม์ไว้เป็นสำคัญ”

การที่ขุนนางที่ยอมขายตัวเองเป็นทาสนายเงิน ทั้งหลวงภักดีสงคราม และขุนอินทร์ แสดงให้เห็นว่าขุนนางจำนวนหนึ่งที่ยากจนเพราะถูกออกจากราชการ หรือถูกลงโทษ และมีความประพฤติเสื่อมเสีย มีหนี้สินมากมายถึงขั้นขายตัวเป็นทาส และไม่ได้มีค่าตัวมากกว่าไพร่เลว นั้นคือ หลวงภักดีสงครามกับภรรยาขายตัวเองเป็นเงิน 2 ชั่ง 14 ตำลึง ส่วนขุนอินทร์ (คนเดียว) ขายตัวเองเป็นเงิน 1 ชั่ง 5 ตำลึง ซึ่งเป็นราคาที่ขายตัวเองเป็นทาสกันในสมัยนั้น

1.4 กรณีชาวจีนขายตัวเองเป็นทาส

จากการศึกษาเอกสารโบราณว่าด้วยสารกรมธรรม์ขายตัวเป็นทาสของเมืองนครราชสีมานั้น พบว่าชาวจีนที่เข้ามาทำมาหากินและมีเมียเป็นคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ยอมขายตัวเองเป็นทาสนายเงิน ซึ่งไม่พบหลักฐานว่าเหตุใดชาวจีนเหล่านั้นต้องประสบกับความยากจนถึงขั้นขายตัวเป็นทาสตามกฎหมายไทย ดังเช่น จีนปรั่งสามี (อายุ 67 ปี) อีทองเมีย อายุ 32 ปี ได้ทำสารกรมธรรม์ขายตัวเองทั้งสองคน เป็นเงิน 1 ชั่ง 17 ตำลึง ยอมเป็นทาสนายเงิน (แม่สายทอง) เมื่อ พ.ศ. 2433 (เอกสารโบราณลำดับที่ 3 หน้า 5) หรือกรณีจีนหมี แซ่จัง ผัว อายุ 38 ปี อีขำ เมีย อายุ 28 ปี ได้ทำสารกรมธรรม์ขายตัวเองทั้งสองคนเป็นเงิน 3 ชั่ง ยอมเป็นทาส นายเงิน (พระยาศรีสิงหเทพ คุณหญิงมา) เมื่อ พ.ศ. 2436

ส่วนกรณีจีนห่อ นางมา พร้อมด้วยลูก จีนมั่น จีนเสือ อ้ายยง (หลาน) ได้ทำสารกรมธรรม์ขายตัวทั้งครอบครัว และบ้านตึก 2 ห้องในเมืองร้อยเอ็ด เป็นเงิน 33 ชั่ง ยอมเป็นทาสแม่อิน (นายเงิน) เมื่อ พ.ศ. 2407 กรณีจีนห่อ นางมา นี้น่าจะเป็นคนที่มีฐานะมีทรัพย์สิน ภายหลังมีปัญหาทางด้านการเงินถึงขั้นขายตัวพร้อมกับสมบัติ จากการศึกษาใบสัญญาสารกรมธรรม์นี้ มีการเขียนลงลายมือเป็นอักษรจีน น่าจะเชื่อได้ว่าจีนห่อเป็นคนมีความรู้ (อ่านเขียนอักษรจีนได้) แต่ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจึงตกยากเข็ญใจถึงขั้นต้องขายตัวเป็นทาสนายเงินทั้งครอบครัวและบ้านเรือนเป็นเงินถึง 33 ชั่ง (2,640 บาท)

จากการศึกษาสารกรมธรรม์ฉบับนี้ พบว่าผู้ออกหนังสือสารกรมธรรม์ คือ พระพิพิธภักดี (ข้าราชการเมืองนครราชสีมา) ส่วนแม่อิน นายเงินน่าจะมีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองนครราชสีมา

1.5 กรณีทาสเพิ่มค่าตัวโดยขายตัวเป็นทาสกับนายเงินใหม่

ในการศึกษาเอกสารสารกรมธรรม์ ลำดับที่ 93, 94 มีเอกสาร 4 ฉบับด้วยกัน (ไม่นับรวมสลักข้อความด้านหลัง อีก 2 ฉบับ) ซึ่งเป็นหนังสือสารกรมธรรม์ขายตัวของจีนอิ่ม ผัว (นางฤทธิ์ เมีย เป็นผู้ขายผัวเป็นทาส และยังยอมบันทึกค้ำประกันจีนอิ่มด้วย) กับพระศักดาเรืองฤทธิ์ ปลัดเมืองตาก นางสวาทภรรยา เป็นเงิน 1 ชั่ง 1 ตำลึง เมื่อ จ.ศ. 1243 (พ.ศ. 2424) ครั้นต่อมา พ.ศ. 2425 พระศักดาเรืองฤทธิ์ ได้ขายจีนอิ่ม (ส่วนนางฤทธิ์ไม่ได้ขายตัวเป็นทาส) ต่อให้หลวงภักดีณรงค์ นางมาภรรยา เป็นเงิน 1 ชั่ง 10 ตำลึง โดยสลักหลังหนังสือสารกรมธรรม์ว่า อ้ายจีนอิ่มมารับเงินจากหลวงภักดีณรงค์ 9 ตำลึง เมื่อวันเสาร์ เดือน 8 ขึ้น 7 ค่ำ จ.ศ. 1244 (พ.ศ. 2425)

ในการขายตัวเป็นทาสของจีนอิ่มครั้งหลังนี้ มีการบันทึกหลักฐานไว้ถึง 4 ฉบับ คือ 1. บันทึกปากคำของจีนอิ่ม พ.ศ. 2425 2. สารกรมธรรม์ขายตัวจีนอิ่มให้พระศักดาเรืองฤทธิ์ 3. บันทึกปากคำรับประกันของนางฤทธิ์ภรรยาจีนอิ่ม 4. สารกรมธรรม์ขายตัวจีนอิ่มให้หลวงภักดีณรงค์

1. หนังสือบันทึกปากคำของจีนอิ่ม ในกรณีจีนอิ่มขายตัวเองให้กับหลวงภักดีณรงค์ (เมืองนครราชสีมา) มีการสอบสวนให้ปากคำของจีนอิ่ม และนางฤทธิ์ด้วย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าจีนอิ่ม ได้ขายตัวเป็นทาสของพระศักดาเรืองฤทธิ์ (ปลัดเมืองตาก และขอเปลี่ยนนายเงินใหม่) โดยขอขึ้นค่าตัวอีก 9 ตำลึง (รวมเป็นเงินค่าตัว 1 ชั่ง 10 ตำลึง) อีกประการหนึ่ง การขายตัวเป็นทาสครั้งนี้เป็นกรณีพิเศษ เพราะจีนอิ่มขายตัวให้พระศักดาเรืองฤทธิ์เมื่อ พ.ศ. 2424 นั้น ทำสารกรมธรรม์ที่เมืองกำแพงเพชร โดยมีหลวงต่างใจราช มหาดไทย เมืองกำแพงเพชร ออกหนังสือสารกรมธรรม์ให้ ภายหลังได้มาขอเงินค่าตัวจากหลวงภักดีณรงค์ เมืองนครราชสีมา จำนวน 1 ชั่ง 10 ตำลึง เพื่อจะนำเงินไปไถ่ตัวจากพระศักดาเรืองฤทธิ์นายเงินเก่า เป็นเงิน 1 ชั่ง 1 ตำลึง จึงต้องมีการสอบปากคำจีนอิ่มว่ามิได้เป็นคนหลวงหมู่ไพร่หลวงที่ต้องห้ามแต่อย่างใด โดยมีขุนศรีนคร นายอำเภอ (เมืองนครราชสีมา) เป็นผู้สอบปากคำ เมื่อวันพฤหัส เดือน 5 แรม 4 ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ. 2425 และประทับตรารูปมนุษย์ผมมวยมือถือหนังสือกฎหมาย (ตราประจำตัวของขุนศรีนคร) ในที่นี้อยากแสดงรายละเอียดบันทึกปากคำจีนอิ่ม ดังนี้

๐ วันประหัส เดือนแปด อุตราษาฒ (แปดหลัง) แรม 4 ค่ำ จ.ศ. 1244 ปีมะเมียจัตวาศก (พ.ศ. 2425) ขุนศรีนคร อำเภอ-เสมียนชุน ได้ถามปากคำนายวัต มาแทนหลวงภักดีณรงค์สามี (นาง) มาภรรยา-อ้ายจีนอิ่มตัว (ทาส) อีฤทธิ์เมีย ให้ถ้อยคำว่า อ้ายจีนอิ่มผัวอีฤทธิ์ เมียหาได้เป็นหนี้เป็นทาสของท่านผู้ใด แต่หาได้เป็นคนหลวงหมู่ไพร่หลวงที่ต้องห้ามไม่เดิมข้าฯ อ้ายจีนอิ่มมาขายตัวเองอยู่กับท่านพระศักดาเรืองฤทธิ์ ปลัดเมืองตากสามี สวาทภรรยา แต่ต้นเป็นเงินตรา 1 ชั่ง 1 ตำลึง ข้าฯ อ้ายจีนอิ่มผัว อีฤทธิ์เมีย มาหาเงินท่าน หลวงภักดีณรงค์สามี-มาภรรยา ไปวาง (ค่าตัว) ข้าฯ อ้ายจีนอิ่มผัว อีฤทธิ์เมีย ขึ้นเงินตราอีก 9 ตำลึง กับท่านหลวงภักดีณรงค์สามี มาภรรยา รวมทั้งเงินขึ้น-เงินเดิมมาทำสารกรมธรรม์เปลี่ยนไป ข้าฯ อ้ายจีนอิ่มผัว อีฤทธิ์เมีย พร้อมใจกันมาขายตัวเองอยู่กับท่านหลวงภักดีณรงค์สามี-มาภรรยา แต่ต้นเป็นเงินตรา 1 ชั่ง 10 ตำลึง ข้าฯ อ้ายจีนอิ่มผัว อีฤทธิ์เมีย จ้าง ข้าฯ เสมียนชุนเขียนด้วยเส้นหมึกน้ำดำลงรายวัน เดือน ปี ศักราช ชื่อ เงิน ตำหนิ ไว้ถูกต้องตามหนังสือพิมพ์ฉบับนี้แล้ว ขุนศรีนคร อำเภอ ได้ประทับตรารูปมนุษย์ผมมวยถือหนังสือกฎหมายประจำศก ชื่อ เงิน ตำหนิ :-

ส่วนหนังสือสารกรมธรรม์ขายตัวอ้ายจีนอิ่มกับหลวงภักดีณรงค์ เมืองนครราชสีมานั้น ทำเมื่อวันประหัส เดือนแปดหลัง ขึ้นสี่ค่ำ จ.ศ. 1244 ปีมะเมียจัตวาศก (2425) คือเดือนปีเดียวกับบันทึกปากคำของจีนอิ่ม และผู้เป็นเจ้าหน้าที่ทำสารกรมธรรม์ คือ ขุนศรีนคร-อำเภอ เพราะใช้เป็นฉบับพิมพ์ดีดโบราณ มีช่องว่าเติม วัน เดือน ปี ชื่อบุคคล และเงินค่าตัว ส่วนตอนล่างสุดเป็นอักษรจีน 2 ตัว และมีอักษรไทยเขียนกำกับว่า “อ้ายจีนอิ่มเขียนหนังสือจีนลงชื่อตัวเอง เขียนหนังสือจีนลงชื่อแทนเมีย”

กรณีที่จีนอิ่ม เขียนหนังสือจีนได้นั้น แสดงให้เห็นว่า จีนอิ่มเป็นบุคคลที่มีความรู้ เขียนหนังสือจีนได้ดี ส่วนนางฤทธิ์คงจะเป็นหญิงฉลาดเจ้าเล่ห์ เพราะโดยจารีตบ้านเมืองนั้น สามีจะเป็นผู้นำภรรยาไปขายเป็นทาส แต่ในกรณีนี้นางฤทธิ์คงเกลี้ยกล่อมจีนอิ่มซึ่งไม่รู้จารีตไทยดี จึงยอมให้เมียนำตัวไปขายเป็นทาส ฉะนั้นจึงพบว่าสารกรมธรรม์ฉบับนี้ จึงมีการบันทึกปากคำตัวทาส ดังกล่าวข้างต้น และยังพบว่า นางฤทธิ์ (ภรรยา) ยังต้องทำหนังสือรับประกันจีนอิ่ม (ผัว) ตัวทาส ด้วยว่า

“ถ้าอ้ายจีนอิ่ม ตัวทาสหลบหนีไปเกี่ยวข้องต้องคดีอยู่ใน ณ โรงศาล กรมใดๆ เจ้านายขัดไว้และว่าอ้ายจีนอิ่มเป็นคนหลวงหรือคนในบังคับต่างประเทศที่ต้องห้ามต่างๆ ท่าน (นายเงิน) เอาตัวอ้ายจีนอิ่มตัวทาสมิได้ ก็ให้ท่านเกาะ (จับกุม) เอาตัวข้าพเจ้าผู้นายประกัน มาเร่งรัดจำจองเอากว่าจะได้ตัวอ้ายจีนอิ่มนั้นเถิด ถ้าท่านไปเกาะตัวข้าผู้นายประกันมิพบ พบแต่บุตรแลผู้คนซึ่งอยู่เรือนข้าพเจ้า ก็ให้ท่านเกาะเอามาคนหนึ่งสองคน เป็นจำนำแทนตัวข้าพเจ้าๆ เขียนหนังสือไม่ได้ ข้าฯ วานขุนไชยเสนาเขียนแทนข้าพเจ้า (ชื่ออำแดงฤทธิ์) ไว้เป็นพยาน” (มีตรารูปเทวดาถือดอกบัว ประทับ 3 แห่ง)

2. การไถ่ตัวทาส

จากการศึกษาเอกสารสารกรมธรรม์ที่พบ ณ เมืองนครราชสีมานั้น ทำให้เข้าใจขั้นตอนการขายตัวเองเป็นทาส นายเงิน และการไถ่ถอนทาสอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะเอกสารสารกรมธรรม์นั้น มีการบันทึกข้อความด้านหลังเพิ่มเติม เช่น เมื่อพ่อแม่ ญาติพี่น้อง นำเงินมาส่งค่าตัวทาสบางส่วนหรือทั้งหมด ก็จะบันทึกจำนวนเงิน วันเดือนปีที่รับเงินพร้อมทั้งมีพยานลงลายมือเป็นหลักฐาน

การไถ่ตัวทาส หรือการส่งเงินค่าตัวทาสบางส่วน นายเงินดังกล่าวนั้น พบจำนวนน้อย แสดงให้เห็นว่าคนที่ขายตนเองเป็นทาสแก่นายเงินแล้ว มักจะไม่มีโอกาสที่จะมีเงินทองมาไถ่ตนเอง ญาติพี่น้องก็คงอยู่ในฐานะยากจนเช่นเดียวกัน จากการศึกษาการบันทึกด้านหลังหนังสือสารกรมธรรม์ พบว่ามีการขายที่ดินนำเงินมาไถ่ตัวทาสบ้าง ดังเช่น

1. หนังสือสารกรมธรรม์ ลำดับที่ 65 หน้า 90 ลง ศักราช 1233 ปีมะแมตรีนิศก (พ.ศ. 2414) “จีนจุด (ผัว) อีสาวพา (เมีย) อ้ายพูน (ลูก) ขายตัวพร้อมกับที่บ้านสวน ตึกหลังหนึ่งสามห้อง ที่เมืองศรีภูมิ แก่แม่ทองอิน เป็นเงิน 32 ชั่ง” สารกรมธรรม์ฉบับนี้ลงชื่อพระพิพิธภักดี ประทับตราหนุมานทรงเครื่อง

ด้านหลังสารกรมธรรม์มีบันทึก (ในสารกรมธรรม์ เรียกว่าสักหลังบ้าง สลักหลังบ้าง) ว่า “วันอังคาร เดือน 4 ขึ้น 12 ค่ำ จ.ศ. 1247 ปีระกาสัปตศก (พ.ศ. 2428) จีนพูนได้ เอาเงินค่าตัว 9 ชั่ง 10 ตำลึงเป็นแล้วแก่กัน ข้าฯ วานหลวงวิชิตมาสักหลังไว้ให้แต่ท่านเป็นสำคัญ :-”

ตามบันทึกด้านหลังสารกรมธรรม์ฉบับนี้ แสดงให้เห็นการไถ่ตัวทาส (จีนจุด อีสาวพา อ้ายพูนลูก) เป็นเงิน 9 ชั่ง 10 ตำลึง ส่วนที่บ้านสวน ตึกสามห้องนั้น (เป็นเงิน 22 ชั่ง 10 ตำลึง) ยกให้นายเงินไป แต่กระนั้นก็ตาม กว่าจะมีเงิน 9 ชั่ง 10 ตำลึง มาไถ่ตัวทาสทั้งสามคน ต้องใช้เวลาถึง 14 ปี ส่วนในกรณีที่จีนพูน (ลูก) ซึ่งถูกระบุว่าขายตัวเป็นทาสด้วย เมื่อ พ.ศ. 2414 นั้น สามารถจะไถ่ตัวออกไปก่อนได้ หรือจีนพูนอาจจะผูกดอกเบี้ยออกไปทำงานหาเงินมาไถ่พ่อแม่ไปก่อนได้ ดังที่ได้พบในสารกรมธรรม์ลำดับที่ 60 หน้า 45 ที่อ้ายเพชร (ผัว) นางแจ่ม (เมีย) อ้ายรุ่ง อ้ายลูก ขายตัวกับหลวงภิรมย์ เป็นเงิน 3 ชั่ง 19 ตำลึง 3 บาท เมื่อ จ.ศ. 1229 ปีเถาะนพศก (พ.ศ. 2410) และภายหลังต่อมาอีก 11 ปี คือ ปีขาลสัมฤทธิศก (ตรงกับ พ.ศ. 2421) อ้ายรุ่งนำเงินค่าตัวมาไถ่ 1 ชั่ง เพื่อออกจากสารกรมธรรม์ฉบับนี้ ดังมีบันทึกด้านหลังว่า “วันอังคาร เดือน 12 ขึ้นสี่ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก อ้ายรุ่งได้รับเงิน ออกไปจากกรม (ธรรม) ใบนี้ เงินชั่ง (หนึ่ง) ยังค้างอยู่เงิน 2 ชั่ง 19 ตำลึง 3 บาท เอามาแจ้งจึงมีตรา (รูปแพะบนแท่นบัลลังก์) ประทับเรือนเงินไว้เป็นสำคัญ” ลักษณะดังกล่าวแสดงว่าอ้ายรุ่งได้ผูกดอกเบี้ย (คือเสียค่าดอกเบี้ยแทนการเป็นทาสรับใช้) ออกไปประกอบอาชีพทำมาหากินจนได้เงิน 80 บาท (1 ชั่ง) จึงนำเงินมาไถ่ตัวเองออกจากสารกรมธรรม์ ซึ่งต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ออกสารกรมธรรม์ จึงประทับตราไว้เป็นหลักฐาน

2. ในกรณีไถ่ตัวทาสบางคนออกจากสารกรมธรรม์ บางสารกรมธรรม์ได้บันทึกหลังสารกรมธรรม์ว่ามีผู้อื่นมาไถ่ตัวทาสบางคนออกไป เช่น สารกรมธรรม์ลำดับที่ 69 หน้า 94 ใจความว่า อ้ายเอี่ยม (พ่อ) อ้ายนาก อีแก้ว (ลูก) ได้ขายตัวเป็นทาสแม่ทองอิน เมื่อวันพุธ เดือน 7 แรม 5 ค่ำ จ.ศ. 1233 ปีมะแมตรีนิศก (พ.ศ. 2414) เป็นเงิน 4 ชั่ง 10 ตำลึง ต่อมาอีก 4 เดือน ขุนรัตนาได้นำเงินมาไถ่ตัวอีแก้ว ออกจากสารกรมธรรม์เพียงคนเดียว ดังที่บันทึกหลังสารกรมธรรม์ว่า “วันพุธ เดือน 11 ขึ้น 10 ค่ำ ข้าฯ ขุนรัตนา ได้เอาเงินค่าตัวอีแก้วมาวางกับท่านแม่มา (แทนนายเงิน) เป็นเงินตรา (2 ชั่ง) 2 บาทส่วนตัวอีแก้วเป็นแล้วแก่กัน ข้าฯ ได้ สลักสารกรมธรรม์ไว้แก่ท่านเป็นสำคัญ”

ในกรณีคนอื่นมาไถ่ตัวทาสนั้น มักจะไถ่ตัวทาสสาวเป็นส่วนใหญ่ เพราะในการบันทึกไว้หลังสารกรมธรรม์นั้น มิได้บอกว่าเป็นเครือญาติกับทาสสาวแต่อย่างใด เช่นกรณีขุนรัตนามาไถ่อีแก้วออกสารกรมธรรม์ข้างต้น แต่กระนั้นก็ตามส่วนใหญ่พบว่าทาสที่จะเป็นอิสระจากสารกรมธรรม์นั้น มักจะเป็นระยะเวลานาน 10-30 ปี นั่นคือทาสอายุมากแล้ว คงมีบุตรหลานที่สามารถรวบรวมเงินทองมาไถ่ตัวได้ เช่น

กรณีนางหนู (แม่) อีทรัพย์ อีแปะ อ้ายโมก (ลูก) ขายตัวเป็นทาสแม่อ้น เป็นเงิน 5 ชั่ง 6 ตำลึง (ทาส 4 คน) เมื่อวันพุธ เดือน 7 แรม 3 ค่ำ จ.ศ. 1233 ปีมะแมตรีนิศก (พ.ศ. 2414) แต่กว่าจะไถ่ตัวกันได้ก็ล่วงเลยมาถึง พ.ศ. 2441 เป็นเวลานาน 27 ปี ดังพบบันทึกหลังสารกรมธรรม์ ฉบับนี้ว่า

“๐ วันที่ 1 มิถุนายน ร.ศ. 117 นายปอดได้นำเอาเงิน 1 ชั่ง 12 ตำลึง ส่วนค่าตัวอีแปะ มาส่งให้นายเงินเสร็จแล้ว จึงวาน (ผู้) ใหญ่บ้านสลักหลังสารกรมธรรม์ไว้เป็นสำคัญ วันที่ 1 มิถุนายน ร.ศ. 117 นายโปนได้เอาเงินค่าตัวอีทรัพย์มาให้เงิน 1 ชั่ง 10 ตำลึง ค่าลูก 3 ตำลึง ค่ากระทะแตก 2 ตำลึง รวมเงิน 1 ชั่ง 15 ตำลึง เสร็จแล้วไปส่วนค่าตัวอีทรัพย์สลักหลังไว้เป็นสำคัญ”

จะเห็นได้ว่าการไถ่ตัวทาสให้เป็นอิสระจากสารกรมธรรม์นั้นต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะเก็บเงินทองได้พอค่าตัวทาสแต่ละคน แม้ว่าทาสทั้งครอบครัวจะอยู่ในหนังสือสารกรมธรรม์เดียวกัน แต่สามารถจะไถ่ทาสให้เป็นอิสระตามรายบุคคลได้

แต่กระนั้นก็ตามหนังสือสารกรมธรรม์ที่พบอยู่ที่เมืองนครราชสีมาชุดนี้ ก็มีจำนวนน้อยที่มีการบันทึกด้านหลังว่าทาส หรือญาติกาของทาสได้นำเงินค่าตัวทาสมาส่งนายเงิน หรือไถ่ตัวทาสให้เป็นอิสระ แสดงให้เห็นว่าบุคคลที่ขายตัวเป็นทาสนายเงินแล้ว มักจะต้องรับสภาพเป็นทาสไปจนตลอดชีวิต

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

1. กรมศิลปากร. กฏหมายตราสามดวง, กรุงเทพฯ : อุดมศึกษา (แผนกการพิมพ์), 2512 (พิมพ์ครั้งที่ 7)

2. สำนักศิลปวัฒนธรรมสถาบันราชภัฏนครราชสีมา, เอกสารโบราณ เล่ม 1 สารกรมธรรม์. เอกสารสำเนา, พ.ศ. 2545.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2565