ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงมีพระชันษายืนยาวถึง 6 แผ่นดิน คือตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 9 ทั้งยังทรงเป็นเหลน “เจ้าอนุวงศ์” แห่งเวียงจันทน์ โดยสืบเชื้อสายผ่านทางพระมารดาของพระองค์ คือ “เจ้าจอมมารดาดวงคำ”
หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล เรียบเรียงพระประวัติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ในโอกาสพระราชทานเพลิงศพพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี เมื่อ พ.ศ. 2505 ไว้ว่า
พระองค์เจ้าประดิษฐาสารีเป็นพระราชธิดาลำดับที่ 74 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาดวงคำ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2408 ในพระบรมมหาราชวัง ทรงมีพระเชษฐภคินีร่วมเจ้าจอมมารดา 1 พระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านารีรัตนา
รัชกาลที่ 4 พระราชทานพระนามพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี พร้อมด้วยคาถา มีคำแปลดังนี้
“กุมารีธิดาของเรานี้ เกิดในวงศ์พระเจ้าแผ่นดินใหญ่ จงปรากฏโดยพระนามว่า ประดิษฐาสารี จงเป็นผู้มีอายุยืนยาว ปราศจากโรค มีความสุข นฤทุกข์ ไม่มีอุปัทวันตราย และจงมั่งคั่งมีทรัพย์มาก เฉลียวฉลาดในสรรพการงานต่างๆ และจงมีศรัทธาเชื่อถือเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้ง ๓ รัตนะ อันเป็นแก้วอย่างบริสุทธิ์ ขอให้อำนาจพระไตรรัตนนั้นปกครองรักษาราชธิดาของเรานี้จงทุกเมื่อเทอญ”
เจ้าจอมมารดาดวงคำ พระมารดาในพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี เป็นหลานปู่ “เจ้าอนุวงศ์” แห่งเวียงจันทน์ และเป็นหลานตา “เจ้าอุปราช” เมื่อเจ้าอนุวงศ์ก่อการช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าอุปราชไม่ได้ร่วมด้วย และพาครอบครัวเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ พำนักในย่านบางยี่ขัน ซึ่งเป็นถิ่นเกิดของเจ้าจอมมารดาดวงคำ
แต่เดิม เจ้าจอมมารดาดวงคำมีนามว่า “เจ้าหนูมั่น” เมื่อถวายตัวเป็นพระสนมในรัชกาลที่ 4 พระองค์ได้พระราชทานนามใหม่ให้ว่า “ดวงคำ”
พระองค์เจ้าประดิษฐาสารีเจริญพระชันษาได้เพียง 3 ปี รัชกาลที่ 4 ก็สวรรคต ถึงอย่างนั้นพระองค์ก็ทรงจำได้ว่า ครั้งหนึ่งได้เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมชนกนาถ คราวนั้นทรงมีพระราชดำรัสเรียกพระราชธิดาพระองค์นี้ว่า “ลูกลาวเล็ก” และทรงป้อนขนมจีบพระราชทาน
เมื่อทรงเจริญพระชันษา ได้ทรงเรียนหนังสือไทย ทั้งยังตรัสภาษาชาวเวียงจันทน์ได้ดีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ด้วยเจ้าจอมมารดาดวงคำเป็นผู้สอน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินที่ใด บางครั้งพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ซึ่งเป็นพระกนิษฐภคินีในรัชกาลที่ 5 ก็โดยเสด็จด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อโสกันต์แล้วก็ไม่ได้โดยเสด็จอีก แต่เสด็จขึ้นเฝ้าพร้อมเจ้านายพระองค์อื่นที่ “ห้องน้ำเงิน” ซึ่งเป็นด้านตะวันออกของพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ที่ประทับเล่นของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
หลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ประพาสยุโรปใน พ.ศ. 2440 พระองค์โปรดให้เริ่มสร้าง “พระราชวังดุสิต” สำหรับเป็นสถานที่แปรพระราชฐาน เพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ และโปรดให้สร้างตำหนักพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ ที่เป็นพระพี่นางเธอและพระน้องนางเธอ รวม 6 ตำหนัก ซึ่งพระองค์เจ้าประดิษฐาสารีได้ประทับ ณ ตำหนักหลังหนึ่งในนั้นด้วย
เมื่อรัชกาลที่ 5 สวรรคต พระองค์เจ้านารีรัตนาและพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ทรงย้ายจากตำหนักเก่ามาประทับ ณ ตำหนักเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ผู้กราบถวายบังคมลาไปอยู่เมืองเชียงใหม่ ตำหนักนี้ใหญ่โตมาก มีถึง 3 ชั้น ทั้ง 2 พระองค์ประทับอยู่ตลอดพระชนมชีพ
อ่านเพิ่มเติม : “ตำหนักเจ้าดารารัศมี” ในพระบรมมหาราชวัง หน้าตาเป็นอย่างไร
พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ทรงเป็นที่เคารพยกย่องในพระจริยวัตรอันงดงาม และทรงมีส่วนร่วมในพระราชพิธีต่างๆ อยู่เสมอ
ครั้งสำคัญ เช่น พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในรัชกาลที่ 9 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี) และพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ในฐานะพระบรมวงศ์ฝ่ายในที่มีพระอาวุโสสูงสุด (รองจากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ทรงทำหน้าที่ปูลาดพระที่ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในคราวนั้น
ความที่พระองค์เจ้านารีรัตนาและพระองค์เจ้าประดิษฐาสารีสืบเชื้อสายเจ้านายทางเมืองเวียงจันทน์ ทั้ง 2 พระองค์จึงเป็นเสมือนสายใยเชื่อมสัมพันธ์ และเป็นที่เคารพของชาวเวียงจันทน์ตลอดมา เช่น เจ้าเพชรราช แห่งลาว ซึ่งมาอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อทราบว่ามีงานของพระองค์เจ้าประดิษฐาสารีคราวใดก็มาเฝ้าเสมอ
ส่วนทางหลวงพระบางก็ถวายความเคารพ เมื่อ พระเจ้าสว่างวัฒนา เจ้ามหาชีวิตแห่งประเทศลาวกับพระมเหสี เสด็จเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็ได้ขอเข้าเฝ้าพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ด้วย
พระเจ้าบรมบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ดำรงพระชนมชีพยืนยาวถึง 6 แผ่นดิน กระทั่งสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2505 พระชันษา 97 ปี ซึ่ง ณ เวลานั้น นับว่าทรงมีพระชันษาสูงกว่าเจ้านายทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี
อ่านเพิ่มเติม :
- สกุลยศ “เจ้าฟ้า” และ “พระองค์เจ้า” ต่างกันอย่างไร?
- สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กับ “คำฝากฝัง” ที่ไม่มีผู้ใดสนองแม้สักคน เพราะเหตุใด?
- พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร “ลูก” ในรัชกาลที่ 5 ผู้ทรงมีพระชันษายืนยาวที่สุด
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล, เรียบเรียง. พระราชประวัติและพระราชนิพนธ์บางเรื่องในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ณ พระเมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 12 กรกฎาคม 2505
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี. “มหามกุฎราชสันตติวงศ์ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๐๘ วันประสูติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี”.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤษภาคม 2567