กรมศิลป์ พบหลักฐานสำคัญ! ชี้ “ถ้ำเขาค้อม” แหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์

ถ้ำเขาค้อม จังหวัดสตูล
ถ้ำเขาค้อม จังหวัดสตูล (ภาพ : กรมศิลปากร)

หลังจากพบชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ยุคโบราณ ที่ “ถ้ำเขาค้อม” หมู่ที่ 10 ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ล่าสุด กรมศิลปากร ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ พบว่า ถ้ำเขาค้อมเป็นแหล่งโบราณคดีที่สามารถกำหนดอายุย้อนไปได้ถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปี

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เผยว่า เนื่องจากมีการสำรวจพบชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ภายในถ้ำเขาค้อม จึงมอบหมายให้สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ลงพื้นที่ตรวจสอบ

Advertisement

หลังลงพื้นที่ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 พบว่า ถ้ำเขาค้อม ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขาหินปูนลูกโดด บริเวณริมอ่างเก็บน้ำด้านหลังวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล จากการสำรวจทางโบราณคดี พบหลักฐานที่สำคัญต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ เปลือกหอยน้ำจืดและเปลือกหอยทะเล เป็นต้น

ถ้ำเขาค้อม
ภายในถ้ำเขาค้อม (ภาพ : กรมศิลปากร)

ผลจากการศึกษาวิเคราะห์โบราณวัตถุในเบื้องต้น กำหนดให้เขาค้อมเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินใหม่ อายุราว 3,000-6,000 ปีมาแล้ว อ้างอิงผลจากการขุดค้นทางโบราณคดี ที่แหล่งโบราณคดีเพิงผาปาโต๊ะโร๊ะ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เมื่อ พ.ศ. 2553 ที่พบโครงกระดูกยุคก่อนประวัติศาสตร์ กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ราว 3,000 ปีมาแล้ว

ถ้ำเขาค้อม ชิ้นส่วนกระดูก
ชิ้นส่วนกระดูกที่พบ (ภาพ : กรมศิลปากร)

อธิบดีกรมศิลปากร บอกอีกว่า ผลจากการดำเนินงานด้านโบราณคดีที่ผ่านมา พบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า พื้นที่จังหวัดสตูลเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย โดยสำรวจพบแหล่งโบราณคดีอย่างน้อย 46 แหล่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูล เพื่อประกาศรายชื่อให้ครอบคลุมทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤษภาคม 2567