ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
สาวชาววัง มีขนบธรรมเนียมและวิถีปฏิบัติที่แตกต่างจากชาวบ้านทั่วไปอยู่ไม่น้อย นอกจากเรื่องกิริยามารยาท อาหารการกิน ก็ยังมีเรื่องเครื่องแต่งกาย ที่ต้อง “นุ่งห่มสีประจำวัน” เทียบแล้วก็เหมือนกับ “สีมงคล” ของคนยุคนี้
นุ่งห่มสีประจำวัน แบบสาวชาววัง เป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่หยิบสีอะไรได้ก็นำมาสวมใส่ แต่เป็นการ “มิกซ์ แอนด์ แมตช์” สีสันให้ตัดกันได้อย่างลงตัว ชวนมอง ทั้งยังถูกหลัก “สีมงคล” ยุคนั้นอีกด้วย
เรื่องการนุ่งห่มของสาวชาววัง มีปรากฏในนวนิยาย “สี่แผ่นดิน” ผลงานชิ้นเอกของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่พรรณนาให้เห็นภาพการแต่งกายของสาวๆ ในรั้วในวังที่เน้นการใช้สี และยังบอกเล่าทัศนคติของสาวชาววังที่มีต่อคนที่นุ่งห่มผิดแผกไปจากตัวได้อย่างชัดเจน
ในสี่แผ่นดิน “แม่แช่ม” แม่ของพลอย พูดคุยกับ “คุณสาย” ข้าหลวงของเสด็จว่า
“หยิบผ้านุ่งผ้าห่มออกมาดู ไปอยู่นอกวังเสียนานไม่ได้เอาใจใส่ จะนุ่งจะห่มจะหยิบอะไรได้ก็นุ่งเข้าไปอย่างนั้น คนข้างนอกเวลานี้เขาก็แปลก นึกจะนุ่งสีอะไร ห่มสีอะไรเขาก็เอาใจเขา บางทีก็แต่งเป็นชุดผ้านุ่งผ้าห่มสีเดียวกัน ไม่ตัดสีเหมือนอย่างพวกเราในนี้ อย่างลูกสาวใหญ่ของเจ้าคุณอิฉันที่บ้าน เขาแต่งตัวตามแต่จะเห็นงาม ฉันเคยไปทักเขาเข้าหนหนึ่งว่า แต่งตัวไม่เหมือนชาววัง เขาโกรธฉันไปตั้งหลายวัน พลอยนี่ก็เถิด ถ้าทิ้งไว้บ้านก็จะแต่งตัวเหมือนพวกพี่ๆ ไปเสียเท่านั้น”
จากนั้น แม่แช่มก็หันมาสอนพลอยเรื่องการแต่งตัว โดยอธิบายเรื่อง “นุ่งห่มสีประจำวัน” ไล่ไปจนครบ 7 วันว่า
แม่หยิบผ้านุ่งผ้าห่มออกมาวางด้วยกันอย่างละคู่ แล้วก็อธิบายว่า
“นี่สำหรับวันจันทร์ นุ่งเหลืองอ่อนห่มน้ำเงินอ่อน หรือจะห่มบานเย็นก็ได้ แต่ถ้าวันจันทร์จะนุ่งสีนี้ น้ำเงินนกพิราบต้องห่มจำปาแดง” แล้วแม่ก็หยิบผ้าห่มสีดอกจำปาแก่ๆ ออกวางทับบนผ้าลายสีน้ำเงินเหลือบที่วางไว้
“วันอังคาร” แม่อธิบายต่อ “วันอังคารนุ่งสีปูนหรือม่วงเม็ดมะปรางแล้วห่มโศก หรือถ้านุ่งโศกหรือเขียวอ่อนต้องห่มม่วงอ่อน วันพุธนุ่งสีถั่วก็ได้สีเหล็กก็ได้แล้วห่มจำปา วันพฤหัสนุ่งเขียวใบไม้ห่มแดงเลือดนก หรือนุ่งแสดห่มเขียวอ่อน วันศุกร์นุ่งน้ำเงินแก่ห่มเหลือง วันเสาร์นุ่งเม็ดมะปรางห่มโศก หรือนุ่งผ้าลายพื้นม่วงก็ห่มโศกเหมือนกัน นี่ผืนนี้แหละผ้าลายพื้นม่วง หายากจะตายไป กุลีหนึ่งก็มีผืนเดียว เวลาไว้ทุกข์ก็นุ่งผ้าลายพื้นม่วงนี่เหมือนกันแต่ต้องห่มสีนวล วันอาทิตย์จะแต่งเหมือนวันพฤหัสก็ได้ คือนุ่งเขียวห่มแดง หรือไม่ยังงั้นก็นุ่งผ้าลายพื้นสีลิ้นจี่หรือสีเลือดหมูแล้วห่มโศก จำไว้นะพลอย อย่าไปแต่งตัวเร่อร่าเป็นคนบ้านนอก เดี๋ยวเขาจะหาว่าแม่เป็นชาววังแล้วไม่สอน”
แม้ทุกวันนี้การนุ่งห่มสีประจำวันเช่นสาวชาววังจะพบเห็นได้ยากแล้ว แต่ความเชื่อเรื่อง “สีมงคล” ในการแต่งกาย ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน ทั้งยังเป็นความเชื่อที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เสียด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- “แม่พลอย” ตัวละครเอกใน “สี่แผ่นดิน” มีเชื้อสายสกุลอะไร?
- “เจ้าจอมอาบ” แฟนพันธุ์แท้ “สี่แผ่นดิน” อินถึงขั้นส่งมะม่วงให้แม่พลอยกิน
- สาวชาววัง ใครว่าสบาย? อาหาร-เครื่องแต่งกายล้วนละเอียดซับซ้อน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช. สี่แผ่นดิน เล่ม 1. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า 2000, พิมพ์ครั้งที่ 15, 2554
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤษภาคม 2567